เปิดทางนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ไร้ผล ราคาหมูขึ้นกก. 200 บาททั่วประเทศ

ราคาหมูขึ้นกก. 200 บาททั่วประเทศ

เว้นมาตรการซื้อข้าวโพด 3:1 เปิดทางนำเข้าข้าวสาลีช่วยอาหารสัตว์ไร้ผล สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศปรับขึ้นราคาหมูทั่วประเทศ ราคาหน้าฟาร์ม 100 บาท ดันราคาขายปลีก ทะลุ 200 บาท “ภาคใต้” หมดแรงตรึงราคาขยับขึ้นตามภูมิภาคอื่น

วันที่ 8 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าว”ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่า แม้ว่าก่อนหน้านี้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) จะเสนอ คณะรัฐมนตรีพิจารณายกเว้นเงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ต้องการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนต้องซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน หรือมาตรการ 3:1 เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึง 31 กรกฎาคม 2565

และเพิ่มโควต้าการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเดิม 54,700 ตันเป็นไม่เกิน 600,000 ตัน ในระยะเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึง 31 กรกฎาคม 2565 ) เพื่อบรรเทาภาระของผู้ผลิตอาหารสัตว์ในเชิงปริมาณ

แต่มาตรการดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้ราคาอาหารสัตว์ลดลงเลย และต้นทุนผู้เลี้ยงหมูปรับสูงขึ้น ทั้งจากค่าพันธุ์ ค่าอาหารสัตว์ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าน้ำมัน และปัญหาการฟื้นฟูการเลี้ยงหลัง ASF ยังไม่สามารถเติมซัพพลายกลับมาสู่ระบบได้

ล่าสุดสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศราคาสุกร (สัปดาห์ที่ 18/2565) วันพระล่าสุด 8 พฤษภาคม 2565 ขึ้นอีก จากวันพระครั้งก่อน 30 เมษายน 2565 ที่ปรับขึ้นมาแล้ว กก.ละ 2- 4 บาท ส่งผลให้ขณะนี้ราคาหมูหน้าฟาร์มทั่วประเทศ ปรับขึ้นเป็นกก.ละ 100 บาท เท่ากันทั้งหมด จากงวดก่อนหน้านี้ที่มีการปรับขึ้นไปเฉพาะภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคอีสาน ปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับสูงสุดกิโลกรัมละ 100 บาท ส่วนภาคใต้ทรงตัว กิโลกรัมละ 98 บาท

ขณะที่ราคาขายปลีก (หน้าเขียง) ปรับขึ้นไปสูงสุดถึงกิโลกรัมละ 200 บาท เท่ากันทุกภาคเช่นกัน ซึ่งถือเป็นสูงสุดในปี 2565 จากงวดก่อนหน้าที่มีภาคอีสานปรับจาก 194-196 บาท เป็น 194-200 บาทหรือปรับขึ้น กก.ละ 6 บาท และภาคตะวันตกปรับจาก 194-196 บาท เป็น 194-200 บาท ปรับขึ้นกิโลกรัมละ 2 ถึง 6 บาท ภาคเหนือ จาก 190-192 บาท เป็น 198-200 บาท หรือปรับขึ้นกิโลกรัมละ 2 ถึง 10 บาท

ยังเหลือในส่วนภาคใต้ เป็นภูมิภาคสุดท้ายที่ งวดก่อน ปรับจาก 190-192 บาท เป็น 194-196 บาท ปรับขึ้นกิโลกรัมละ 2 ถึง 6 บาท แต่มางวดนี้ปรับเป็น 198-200 บาทเท่ากันแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผู้เลี้ยงสุกรทุกภูมิภาคยังคงร่วมสนองนโยบายรัฐบาล โดยปริมาณความต้องการบริโภคเนื้อสุกรมีมากขึ้น นักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเข้ามามาก


งานสัมมนากระตุ้นผู้เลี้ยงสุกรให้กลับเข้ามาในธุรกิจอีกครั้งคึกคักในหลายพื้นที่ โดยมีสถาบันการเงินของรัฐทั้งธนาคารออมสิน และธกส. ต่างมีโครงการสินเชื่อเพื่อจูงใจผู้เลี้ยงสุกรมากขึ้น