APEC 2022 Thailand โอกาสบนวิกฤตฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคโควิด

APEC

การประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC 2022 Thailand ประกอบด้วย สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ที่ไทยประกาศการเป็นเจ้าภาพในปีนี้ จะเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 2565

โดยปีนี้จัดขึ้นในธีม “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ Open. Connect. Balance. แนวคิดนี้มีความหมายลึกซึ้งทุกรายละเอียด

“การสร้างความสัมพันธ์” เปิดกว้างในทุกโอกาส ด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะสินค้าจำเป็น เช่น วัคซีนโควิด-19 และสินค้าทางการแพทย์ เป็นต้น ไทยจะส่งเสริมการหารือการจัดทำรายการสินค้าสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมให้มีความทันสมัย ส่วนการเชื่อมโยงในทุกมิติ จะเน้นในเรื่องการกลับมาเชื่อมโยงกันผ่านการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

และ “ความสมดุล” จากการมองเห็นโอกาสที่ดีในการเสนอแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของไทยในเวทีเอเปก แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่คำนึงถึงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ คู่ขนานไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเกิดความยั่งยืน

สำหรับภาพตราสัญลักษณ์ “APEC 2022 Thailand” เป็นผลงานชนะเลิศการออกแบบของ “นายชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง” นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่คว้าชัยชนะจากผู้แข่งขัน 598 ผลงาน โดยออกแบบเส้นตอกไม้ไผ่ที่สอดประสานกันขึ้นมาเป็นภาชนะคล้าย “ชะลอม” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การค้าขายที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยจากรุ่นสู่รุ่น สะท้อนถึงความแข็งแรงที่เปรียบเสมือนความร่วมมือของสมาชิกเอเปก

ก่อนที่จะถึงการประชุมระดับผู้นำ ไทยมีกำหนดจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก จาก 21 ประเทศ หรือ (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting 2022 : MRT) ซึ่งกลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้งในรอบ 20 ปี ในวันที่ 19-22 พฤษภาคม 2565

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ผลักดันเรื่องการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTA-AP) ในยุคโควิด-19 และอนาคต และโครงการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีของเขตเศรษฐกิจสำหรับ MSMEs ที่เป็นมิตรต่อแวดล้อมและมีนวัตกรรม ผ่านการใช้โมเดล BCG Economy

3 วันอัดแน่นกิจกรรม

ตารางการจัดทำงาน วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 จะเป็นการเปิดเวทีสัมมนาเรื่องการขับเคลื่อนการจัดทำ FTAAP (Free Trade Area of the Asia-Pacific) ในช่วงโควิด-19 และอนาคต เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้ภาคส่วนเกี่ยวกับการจัดตั้ง FTAAP ซึ่งปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีการค้าเอเปก ตั้งแต่ปี 2551 และล่าสุดปรากฏในวิสัยทัศน์ปุตราจายา ปี ค.ศ. 2040 (2583) โดยเฉพาะการเปลี่ยน
รูปแบบการค้าการลงทุน การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น

วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 งานเสวนานานาชาติ APEC BCG Symposium 2022 เพื่อแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติ ระหว่างภาครัฐ-เอกชน-วิชาการ เกี่ยวกับ BCG Economy ในการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมให้สมดุล เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน

ส่วนไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่วันที่ 21-22 พฤษภาคม 2565 จะมีการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก (MRT) 3 วาระสำคัญ เริ่มจากการหารือระหว่างผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (APEC Business Advisory Council : ABAC) และรัฐมนตรีการค้าเอเปก ในเรื่องแผนงานการขับเคลื่อน FTAAP

จากนั้นจะเป็นการรับทราบความคาดหวังของผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก ในเรื่องการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 12 (MC12) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 มิถุนายน 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปกในเรื่องระบบการค้าพหุภาคี และความคาดหวังที่มีต่อการประชุม MC12

และวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 MRT จะหารือเรื่องการรับมือและดำเนินชีวิตเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19 การมองไปข้างหน้า โดยใช้นโยบายการค้าเป็นเครื่องมือในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน

ความสำคัญเวทีเอเปก

ล่าสุดขณะนี้มีชาติสมาชิกตอบรับเข้าร่วมแล้ว 15 ประเทศ จากทั้งหมด 21 ประเทศ เช่น ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก แคนาดา นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เวียดนาม ฯลฯ และอยู่ระหว่างการติดตามการตอบรับเข้าร่วมของ “รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และจีน” อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจจะเป็นอุปสรรคการเข้าร่วมประชุม ทางคณะผู้จัดงานเตรียมเพิ่มช่องทางประชุม ผ่านระบบประชุมทางไกล เพื่ออำนวยความสะดวกให้สมาชิก ในลักษณะ “ไฮบริด” ด้วย

สำหรับสมาชิกที่จะเดินทางเข้ามาร่วมงานด้วยตัวเอง ทางประเทศไทยได้ผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว การเดินทางจะสะดวกมากขึ้น

เป็นที่ทราบกันดีว่าเอเปกเป็นเวทีที่เน้นการเปิดเสรีทางการค้าและการลดอุปสรรคทางการค้า ซึ่งในปี 2564 การค้าระหว่างไทย-เอเปก มีมูลค่า 385,394.17 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 71.52% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย โดยไทยส่งออก 195,319.81 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 70.88% ของการส่งออกรวมทั้งหมดของไทย และไทยนำเข้า 190,074.36 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 71.01% ของการนำเข้ารวมทั้งหมดของไทย

และในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 (ม.ค.-มี.ค.) การค้าไทย-เอเปก มีมูลค่า 102,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.91% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ไทยส่งออก 50.82 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.95% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และไทยนำเข้า 51.10 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.87% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในโอกาส APEC 2022 Thailand นี้ ไทยจะแสดงบทบาทนำในเวทีโลก ในยุคที่ภูมิภาคเอเปกกำลังจะฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสมาชิกจะมุ่งเน้นการดำเนินการเพื่อสร้างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในภูมิภาค รวมถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน นวัตกรรมทางดิจิทัล และการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค


ขณะเดียวกันงานนี้จะเป็นโอกาสที่จะแสดงความพร้อมของไทยในการเปิดประเทศ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากทั่วโลกหลังสถานการณ์โควิด-19 ด้วย