กองทุนน้ำมันเงินใกล้หมด หลังอุ้มดีเซล เส้นตายพ.ค. วิ่งวุ่นหาเงินกู้

หัวจ่ายน้ำมัน

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวิกฤต เหลือเงินสดติดบัญชีแค่ 12,932 ล้านบาท พอตรึงราคาน้ำมันดีเซลถึงสิ้นเดือนมิถุนายน หลังผ่านมา 6 เดือนยังไม่มีธนาคารไหนยอมปล่อยกู้ สุดท้ายเหลือ 2 ทางเลือก เร่งขอเงินกู้แบงก์รัฐภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม กับของบประมาณรัฐมาช่วย

สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบันกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต หลังจากที่รัฐบาลตัดสินใจใช้กลไกของกองทุนดำเนินการ “อุดหนุน” ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564

ประกอบกับเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งทะยานขึ้นเกินกว่าระดับ 100 เหรียญ/บาร์เรลติดต่อกัน ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯปัจจุบันติดลบไปแล้วถึง -66,681 ล้านบาท

แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามลดภาระของกองทุนลงด้วยการ “กันเงิน” จากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 1 บาทเข้ากองทุน แต่ก็ไม่ได้ช่วยพยุงฐานะกองทุนน้ำมันฯได้มากนัก เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับสูงขึ้นมาโดยตลอด และไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแต่อย่างใด

กองทุนเหลือเงินหมื่นกว่าล้าน

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า ปัจจุบันสถานะกองทุนน้ำมันติดลบ -66,681 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ -33,258 ล้านบาท กับบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ -33,423 ล้านบาท ส่งผลให้กองทุนมี “สภาพคล่อง” เงินสดเหลือในบัญชีอยู่ 12,932 ล้านบาทเท่านั้น

โดยแนวทางในการบริหารจัดการกองทุนต่อจากนี้ไป ทางคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้กำหนดไว้ 2 แนวทาง ได้แก่ 1) การกู้เงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังดำเนินการอยู่ ภายใต้กรอบวงเงิน 40,000 ล้านบาท แต่จะกู้จากสถาบันการเงินในลอตแรกประมาณ 20,000 ล้านบาท จาก 2 สถาบันการเงินของรัฐคือ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน

ล่าสุดมีการตั้งคณะอนุกรรมการดูแลสภาพคล่องกองทุน โดยมีนายธีรัชย์ อัตนวานิช รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานจัดหาเงินกู้ให้แก่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และได้การมีส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้กับธนาคารพิจารณา ซึ่งการพิจารณาของธนาคารยังต้องใช้เวลาและต้องเข้าบอร์ดของธนาคารก่อนเคาะการปล่อยกู้ แต่ต้องให้ทันก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

“ที่ช้าเพราะธนาคารขอดูอย่างพวก statement เพราะกองทุนขาดการติดต่อกับทางแบงก์ไปเลย 3 ปี ในช่วงที่เราเปลี่ยนผ่านมามี พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯปี 2562 ทางธนาคารต้องการความเชื่อมั่นว่า กองทุนน้ำมันฯจะสามารถอยู่ได้และไปต่อ หากมีการอนุมัติเงินกู้ให้ นอกจากนี้ ธนาคารยังขอดูสภาพคล่องของเงินเข้าและออก รวมไปถึงการประเมินราคาน้ำมันตลาดโลกคู่ไปด้วย” นายวิศักดิ์กล่าว

ส่วนแนวทางที่ 2 หากธนาคารยังไม่ปล่อยเงินกู้ให้ก็คือ การของบฯจากรัฐบาล วงเงินไม่จำกัด ซึ่งในกรณีนี้ตามกฎหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง “สามารถทำได้ แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะอนุมัติให้ได้หรือไม่”

อย่างไรก็ตาม ย้อนหลังไปเมื่อหลายปีก่อน ปรากฏกองทุนน้ำมันฯเคยติดลบเป็น -10,000 ล้านบาท ก็ของบประมาณจากรัฐบาลมาช่วยอุดไว้ได้ ตอนนั้นกองทุนก็เจอวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน แต่เศรษฐกิจไทยดี รัฐบาลมีเงินก็สามารถช่วยอุ้มไว้ได้

แต่มาปีนี้สถานการณ์ต่างกันมาก เจอสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอีก ราคาดีเซล ณ วันที่ 6 พ.ค. 2565 ไปถึง 160.65 ดอลลาร์/บาร์เรลแล้ว กองทุนอุดหนุนอยู่ที่ลิตรละ 11.35 บาท เพื่อตรึงราคาขายปลีกไว้ที่ 32 บาท/ลิตรนั้น หมายความว่า กองทุนน้ำมันฯต้อง “ควักเงินจำนวนมากมาอุ้ม” ส่วนรัฐบาลเองก็ไม่มีเงิน เศรษฐกิจก็ไม่ดี แนวทางการของบฯจากรัฐบาลจึงอาจดูว่า “จะยาก”

อย่างไรก็ตาม หากภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ ยังไม่มีสถาบันการเงินรายใดอนุมัติการปล่อยกู้ไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2556 ฐานะกองทุนน้ำมันฯคงไม่สามารถ “ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ให้ได้เเล้ว” ประกอบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่ยุติ ราคาพลังงานยังพุ่ง

ดังนั้นแนวทางสุดท้ายก็คือ “การปล่อยลอยตัว” นั่นหมายถึง ราคาน้ำมันดีเซลก็จะพุ่งขึ้นไปตามราคาน้ำมันโลก โดยที่กองทุนก็ไม่สามารถอุดหนุนราคาน้ำมันภายในประเทศต่อไปก็เพื่อรักษาเสถียรภาพกองทุนเอาไว้ และประชาชนก็ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพ “แต่ผมยังเชื่อว่า รัฐบาลจะไม่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพราะจะเป็นการซ้ำเติมประชาชนมากเกินไป” นายวิศักดิ์กล่าว

ส่วนการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ครั้งล่าสุดได้พิจารณา “ทบทวน” การขายปลีกน้ำมันดีเซลประจำสัปดาห์ โดยที่ประชุมมีมติให้ “คงราคาดีเซล” ในสัปดาห์นี้ (9-15 พ.ค. 2565) ไว้ที่ 32 บาท/ลิตร ส่วนการจะปรับราคาขึ้นอีกหรือไม่นั้น จะมอนิเตอร์จากสถานการณ์ราคาโลกแบบรายวัน และจะนำเสนอเข้าที่ประชุม กบน. ทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ เพื่อพิจารณาว่า ในต้นสัปดาห์ต่อไป (16 พ.ค. 2665) จะสามารถตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้หรือต้องปรับขึ้นราคาตามสถานการณ์โลก

ค่าการตลาดดีเซลขึ้น 2 บาท

มีรายงานข่าวเข้ามาว่า หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังไม่ปรับลดลง ประกอบกับยังไม่มีสถาบันการเงินของรัฐแห่งใดปล่อยเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันฯแล้ว ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมมีความเป็นไปได้ว่า กองทุนน้ำมันฯจะติดลบทะลุ -70,000 ล้านบาท ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลจะต้องติดตามต่อไปว่า รัฐบาลจะ “ต่ออายุ” มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ซึ่งจะหมดอายุลงในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้หรือไม่

เพราะหากรัฐบาลเลือกที่จะไม่ต่ออายุราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ณ วันที่ 20 พฤษภาคมจะต้องบวกเพิ่มอีก 3 บาท/ลิตร ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลจากประมาณการการลดภาษีสรรพสามิตรอบนี้ จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ไปประมาณ 17,100 ล้านบาท เพราะยิ่งต่ออายุออกไปรายได้ในส่วนนี้ก็จะยิ่งหายไปอีก

“รัฐบาลกำลังเข้าตาจนและรู้ดีว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่มีความสามารถที่จะอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลต่อไปได้อีกแล้ว จึงยอมขยับราคาดีเซลให้ใกล้เคียงกับราคาตลาดโลกแบบเป็นขั้นเป็นตอน ขั้นแรกกำหนดกรอบไว้ที่ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่ระดับ 44-45 บาท/ลิตร (ปัจจุบันกองทุนอุดหนุนไว้ที่ราคาลิตรละ 11.35 บาท/ลิตร จากกรอบ 35 บาท/ลิตร)

แต่มีข้อน่าสังเกตว่า ในขณะที่รัฐบาลพยายามที่จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 35 บาท/ลิตร แต่ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลของผู้ค้าน้ำมันกลับขึ้นไปสูงถึง 2.0767 บาท/ลิตร จากเดิมที่รัฐบาลได้ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันให้ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วแต่ละชนิดอยู่ในช่วง 1.40 บาท/ลิตร หรือเท่ากับตอนนี้ค่าการตลาดได้ปรับสูงขึ้นมาก” แหล่งข่าวกล่าว

บิ๊กตู่ให้ต่ออายุลดภาษีดีเซล

ด้านนายธีรัชย์ อัตนวานิช รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานจัดหาเงินกู้ให้แก่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กล่าวว่า ขณะนี้กองทุนน้ำมันฯอยู่ระหว่างการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาเป็นสภาพคล่องให้แก่กองทุน และได้เจรจากับธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง โดย 1 ในนั้นจะมีธนาคารออมสินกับธนาคารกรุงไทย คาดว่า “จะได้ข้อสรุปภายในเดือนพฤษภาคมนี้”

ส่วนวงเงินที่จะขอกู้จะอยู่ที่ราว 30,000 ล้านบาท ซึ่งวงเงินจำนวนนี้ ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้บรรจุไว้ในแผนการบริหารหนี้ในปีงบประมาณ 2565 แล้ว โดยกองทุนจะกู้เต็มวงเงิน แต่จะทยอยเบิกจ่ายเท่าที่จำเป็น

ปัจจุบันสถานะของกองทุนอยู่ในภาวะติดลบ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น จากการที่รัฐบาลได้ “อุดหนุน” เรื่องของภาษีน้ำมันดีเซล ทำให้กองทุนสามารถบริหารสภาพคล่องได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี กองทุนจำเป็นต้องมีวงเงินไว้เสริมสภาพคล่องกรณีสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นไปอีก รวมถึงการลดภาษีน้ำมันดีเซลจะสิ้นสุดในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ด้วย

แต่หลังจากที่รัฐบาลได้ทยอยลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลลง ทำให้สถานะกองทุนเริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย ซึ่งถือว่าราคาน้ำมันดิบยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง”

ด้านแหล่งข่าวธนาคารออมสิน กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดต่าง ๆ เช่น การพิจารณาเครดิตของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น “เรายังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้”

ทั้งนี้การดำเนินการขออนุมัติกู้ยืมเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เริ่มกระบวนการแจ้งขอกู้เงินกับสถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชนมาตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2564 จนบัดนี้ผ่านมาได้ครึ่งปียังไม่ปรากฏว่าจะมีสถาบันการเงินแห่งใดยอมให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้ในวงเงินเบื้องต้น 20,000 ล้านบาท

ล่าสุดที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ครม.สิ้นสุดลง กรณีการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 พฤษภาคมว่า


“ก็นี่ไงกำลังพิจารณาต่ออายุอยู่ มีกำหนดการอยู่ โดยดูตามระยะเวลา 2 เดือนบ้าง 3 เดือนบ้าง และจะดูสถานการณ์พลังงานโลกด้วย แต่จะให้ยาวไปเลยหรือลดหมดไปเลยมันยาก มันมีผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น เพราะอยู่ในห่วงโซ่เดียวกันทั้งหมด แต่จะลดต่อไง และต้องดูระยะเวลาว่าจะลดตอนไหนดี ต่อไปอีกเท่าใด กำลังหารือตรงนี้อยู่ ให้กระทรวงพลังงานพิจารณาอยู่ แต่จะต้องให้ก่อนหมดเวลาจะนำเข้าสู่ ครม.สัปดาห์หน้า” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว