ค่าครองชีพ-โควิด กระทบดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้ ไตรมาส 1 ทรุด

ชายแดนใต้

“พาณิชย์” จับมือ ศอ.บต. สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้ เผยไตรมาส 1 ปี’65 ความเชื่อมั่นอยู่ที่ 52.32 ลดจากไตรมาส 4 ปี’64 ที่ 53.49 เหตุคนกังวลปัญหาค่าครองชีพ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ สนค. ได้ร่วมกันจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้ เป็นรายไตรมาส เพื่อให้มีเครื่องชี้วัดความเชื่อมั่นและใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่

โดยได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชน จำนวน 32,739 คน ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

ผลสำรวจ พบว่า ไตรมาส 1 ปี 2565 ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมอยู่ที่ 52.32 ลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2564 ที่อยู่ที่ 53.49 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบัน อยู่ที่ 47.58 ลดจาก 49.82 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต อยู่ที่ 56.94 ลดจาก 57.46

ปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง มาจากความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลของประชาชนที่มีต่อปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นหลัก ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงเพิ่มขึ้น

ส่วนผลการสำรวจปัญหาที่ประชาชนมีความกังวลมากที่สุด ยังคงเป็นปัญหาเรื่องค่าครองชีพ หรือสินค้าและบริการมีราคาสูง รองลงมา ได้แก่ ปัญหารายได้ตกต่ำ ซึ่งประชาชนมีความกังวลเพิ่มขึ้น และต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากภาครัฐด้านการลดภาระค่าครองชีพ และการมีงานทำและรายได้ รวมถึงการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร

ทั้งนี้ เมื่อแยกเป็นรายจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า จังหวัดสตูลมีความเชื่อมั่นโดยรวมสูงสุด อยู่ที่ระดับ 57.03 รองลงมา ได้แก่ จังหวัดสงขลา ระดับ 53.36 นราธิวาส ระดับ 51.37 ปัตตานี ระดับ 51.22 และยะลา ระดับ 50.94

ผลจากการสำรวจที่ได้ ทำให้เห็นว่า ประชาชนใน 5 จังหวัดภาคใต้มีความกังวลปัญหาอะไร และต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลืออะไร ซึ่ง สนค. จะได้นำผลการสำรวจเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือ อย่างเรื่องการลดค่าครองชีพ กระทรวงพาณิชย์ก็มีมาตรการเข้าไปดูแลอยู่แล้ว การสร้างงาน สร้างรายได้ การดูแลราคาสินค้าเกษตร ก็ทำมาอย่างต่อเนื่อง แต่จะทำให้เข้มข้นและตรงจุดต่อไป” นายรณรงค์กล่าว

การสำรวจในครั้งนี้ ในด้านการเกษตร ประชาชนต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในการส่งเสริมการผลิต ด้านเครื่องมือ ปุ๋ย พันธุ์พืช การตลาด เทคโนโลยี แรงงาน และแหล่งน้ำ ส่วนความสนใจการอาชีพ ต้องการให้ช่วยแนะนำ ให้ความรู้การทำอาหาร เบเกอรี่ ตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องดื่ม เสริมสวย นวดแผนไทย เป็นต้น

พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า จะใช้ผลการสำรวจครั้งนี้ เป็นเข็มทิศนำทางที่จะเดินต่อไปข้างหน้า ปัญหาอะไรที่ดีขึ้น อย่างเรื่องความมั่นคง ก็จะขยายผลให้ดีขึ้นต่อไป หรือปัญหาที่ยังเป็นที่กังวล ก็จะต้องเร่งแก้ไข ที่เห็นได้ชัด

เช่น ค่าครองชีพ ราคาสินค้าแพง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ก็ต้องเร่งแก้ไข และต้องมุ่งพัฒนาในภาคต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ทั้งภาคการเกษตร การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมครัวเรือน ที่จะต้องเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนต่อไป