1 พันโรงงานหลังคาเหล็กป่วน ยื่นร้องจุรินทร์รื้อภาษีเอดีเปิดทางนำเข้า

หลังคาเหล็ก

ผู้ผลิตหลังคาเหล็ก 1,500 โรงงานเดือด ยื่นหนังสือร้อง “จุรินทร์” ขอให้ทบทวนมาตรการรีดภาษีเอดีเหล็กแผ่นหลังคา PPGL และ GL จากจีน 0% ต่อ ชี้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบหนักราคาพุ่ง สินค้าขาดแคลน พ่วงปัญหารัสเซีย-ยูเครน หวั่นบริษัทผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถรองรับความต้องการในประเทศได้

นายพันธนวุฒิ ถิ่นคำแบ่ง นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย เปิดเผยว่า สมาคมพร้อมด้วยตัวแทนผู้ประกอบการ 100 ราย เตรียมยื่นหนังสือถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 เพื่อขอให้กรมการค้าต่างประเทศ

พิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการผลิตหลังคาเหล็กขนาดกลางและขนาดย่อมกว่า 1,500 ราย ที่ประสบปัญหาเดือดร้อนจากการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) เหล็กแผ่นรีดเย็นชุบหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียมและสังกะสีแบบจุ่มร้อนแล้วทาสี (PPGL) และเหล็กแผ่นรีดเย็นชุบหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียมและสังกะสีแบบจุ่มร้อน (GL) จากประเทศจีน เกาหลี และเวียดนาม

เนื่องจากมาตรการดังกล่าวเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมภายใน ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ราย แต่ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่พึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบราคาถูกจากต่างประเทศมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เป็นปัญหาที่ซ้ำเติมหลังจากเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันแพงกระทบต่อราคาวัตถุดิบแพงขึ้น ความต้องการมีมากขึ้นด้วยยิ่งส่งผลกระทบต่อราคาต้นทุนสินค้าสูงขึ้น ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนไม่สามารถนำเข้าสินค้าเพื่อมาผลิตสินค้าได้

ก่อนหน้านี้ ทางสมาคมได้ทำหนังสือถึงกรม เมื่อต้นปี 2565 เพื่อขอให้พิจารณาช่วยเหลือ “ขยายระยะเวลา” การจัดเก็บอากรเอดี PPGL ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศจีน อัตรา 0% ออกไป จากเดิมที่ต่อมาแล้ว 2 ครั้ง จนถึงเดือนเมษายน 2565 แต่กรมก็ไม่ได้ดำเนินการตามคำร้องขอ กลับให้มีการจัดเก็บอากรเอดี ในอัตรา 40.77% ของราคา CIF ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในปี 2569

ส่วนอัตราภาษีสินค้า PPGL ที่เก็บจากประเทศอื่น เช่น เกาหลีใต้ 7-33.62% ไต้หวัน 18.39-20.78% เวียดนาม 4.30-60.26% ส่วนสินค้า GL เก็บภาษี เช่น จีน 2.65-29.50% เกาหลี 8.23-22.55% ไต้หวัน 5.85-24.14% และเวียดนาม 6.20-40.49%

ขณะที่บริษัทในไทยที่ผลิตและจำหน่ายสินค้า PPGL มีเพียงบริษัท เอ็นเอส บลูสโคป (ประเทศไทย) จำกัด กำลังการผลิต PPGL และ GL อยู่ที่ 30,000 ตันต่อเดือน น้อยกว่าความต้องการภายในประเทศที่มี 100,000 ตันต่อเดือน และแม้จะเพิ่มกำลังการผลิตก็ยังไม่เพียงพอจึงจำเป็นต้องนำเข้า และจากติดตามสต๊อกสินค้าของในประเทศเหลือน้อยลงมาก และติดเรื่องไม่สามารถนำเข้าได้ เพราะราคาสูงจากภาษีที่จัดเก็บ 40.77%

สาระสำคัญของหนังสือในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.ขอให้มีการใช้มาตรการเอดีช่วยเหลือบริษัทสัญชาติไทยหรือเป็นอุตสาหกรรมภายในของไทยอย่างแท้จริง 2.การพิจารณาไต่สวนเอดีต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรม 3.ทบทวนการใช้มาตรการเอดี PPGL จากจีน เกาหลี และทบทวนการไต่สวนการต่ออายุมาตรการเอดี GL, GI, PPGL, PPGI จากเวียดนาม

4.ประกาศให้เก็บอากรเอดี PPGL จากจีน เกาหลี ในอัตรา 0% ของราคาซีไอเอฟในระหว่างการทบทวนมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้น 5.ยกเลิกไม่ให้บริษัทต่างชาติที่จดทะเบียนในไทยอ้างว่าเป็นอุตสาหกรรมภายในยื่นคำร้องขอให้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด

พร้อมกันนี้ สมาคมได้ร้องขอให้กรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงที่ใช้ในการพิจารณาไต่สวนการทุ่มตลาดมาโดยตลอด เพื่อทราบ ข้อมูลที่ใช้ในการพิจารณาเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่

“ข้อมูลข่าวสารที่สมาคมร้องขอนั้นจะเป็นข้อมูลสำคัญในการโต้แย้งว่าการพิจารณามาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องยุติธรรม โปร่งใส และมาตรฐานของสินค้าที่ถูกพิจารณากับสินค้าชนิดเดียวกันของอุตสาหกรรมภายในและสินค้าที่ถูกนำเข้านั้นเป็นสินค้า ชนิด ประเภทและมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความโปร่งใสในการพิจารณามูลค่าปกติของสินค้าเพื่อนำไปสู่การพิจารณาอากรตอบโต้การทุ่มตลาดได้อย่างถูกต้อง”

ขณะที่ราคาเหล็ก สีธรรมดา (ULTRA) จากจีน 1.ม้วนสี PPGL 0.30 mm AZ 70 นน./ม. 2.00-2.05 ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อยู่ที่ 50 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งสีฟ้า สีเทา สีดำด้าน สีขาว สีครีม สีน้ำตาล สีส้ม 2.ม้วนสี PPGL 0.35 mm AZ 70 นน./ม. 2.30-2.41 ราคารวมภาษีอยู่ที่ 49.50 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งสีเขียวใบตอง สีฟ้า ครีม ส้ม สีแดงอิฐ แต่เมื่อดูราคาเหล็กเคลือบสีในไทย ซึ่งเป็นราคาที่ยังไม่รวมภาษี มีราคาตั้งแต่ 49.60-52.60 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งมีราคาใกล้เคียงกัน