กรมพัฒน์ฯ ดึงวิสาหกิจชุมชนใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ต่อยอดธุรกิจ

ไม้ยืนต้น

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เชิญชวนเกษตรกรผู้ปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าใช้ประโยชน์จากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เล็งร่วมมือวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศเป็นภาคีเครือข่ายให้ความรู้เชิงลึกขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อต่อยอดธุรกิจ

วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้กำหนดแผนการเผยแพร่ความรู้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจผ่านวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศในลักษณะภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างการรับรู้และให้ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจแก่ผู้นำ/ผู้บริหารวิสาหกิจชุมชน ก่อนที่จะนำข้อมูลที่ได้รับไปถ่ายทอดแก่สมาชิกภายในวิสาหกิจชุมชนให้ได้ทราบถึงรายละเอียด และนำไม้ยืนต้นที่มีค่าที่ปลูกบนที่ดินกรรมสิทธิ์มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อลงทุนหรือต่อยอดธุรกิจ

รวมทั้งจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อทราบถึงปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด จากการใช้ประโยชน์จากกฎหมายฯ โดยกรมพร้อมนำข้อมูลที่ได้รับมาปรับแก้ หาทางออก และประยุกต์ใช้เพื่อให้กฎหมายมีความคล่องตัว เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร ภาคธุรกิจ ประชาชน และพร้อมที่จะเป็นกระบอกเสียงบอกต่อถึงประโยชน์ที่ได้รับสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือคนรู้จักเพื่อใช้ประโยชน์จากกฎหมายต่อไป

พร้อมกันนี้ ตนได้นำคณะลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา จ.ระยอง ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนนำร่องที่กรมต้องการผลักดันให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกเร่งใช้ประโยชน์จากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ โดยวิสาหกิจชุมชนมีสมาชิกอยู่ประมาณ 135 คน ต้นไม้ที่ปลูก คือ กฤษณา สัก มะค่า ฯลฯ และไม้ผล คือ ทุเรียน เงาะ มังคุด สละ ฯลฯ ถือเป็นไม้มีค่าที่สามารถนำเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้

“เกษตรกรให้ความสนใจปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเองมากขึ้น หลังจากทราบว่า สามารถนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อเพื่อต่อยอดธุรกิจหรือใช้สอยในชีวิตประจำวัน โดยไม่จำเป็นต้องตัดต้นไม้ และเกษตรกรที่เป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯ ก็พร้อมที่จะนำไม้ยืนต้นที่มีค่าที่ปลูกบนที่ดินกรรมสิทธิ์มาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ โดยขอทราบถึงรายละเอียดของกฎหมายอย่างชัดเจน และหากต้องการเงินทุนเพื่อลงทุนเพิ่มเติมก็พร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากกฎหมาย”

นอกจากนี้ กรมได้ปรับวิธีการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจและประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อให้บริการประชาชนแบบเรียลไทม์ เช่น พัฒนาระบบการยืนยันตัวตนของผู้รับหลักประกันทั่วประเทศ จะต้องมายืนยันตัวตนที่กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในอนาคตสามารถยืนยันตัวตนเพื่อขอรับบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่าน (Username and Password) ของผู้รับหลักประกัน ผ่านระบบได้ และพัฒนาระบบการแจ้งความยินยอมเป็นผู้บังคับหลักประกัน ซึ่งจะช่วยป้องกันการแอบอ้างและคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้บังคับหลักประกัน เป็นต้น ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์และเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

ปัจจุบันมีทรัพย์สินหลายประเภทที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ เช่น กิจการ สิทธิเรียกร้อง สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ (เช่น สินค้า คงคลัง และวัตถุดิบ) อสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง ทรัพย์สินทางปัญญา และล่าสุดได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 กำหนดให้ “ไม้ยืนต้น” เป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันได้

ซึ่งก่อนหน้านี้ ไม้ยืนต้นที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์จะไม่ได้รับการประเมินในการให้สินเชื่อ จะประเมินเฉพาะส่วนที่เป็นที่ดินเท่านั้น แต่หลังจากที่กฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทำให้สถาบันการเงินและผู้รับหลักประกันอื่นสามารถเพิ่มประเภททรัพย์สินในการให้สินเชื่อมากขึ้น ส่งผลดีทั้งต่อสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ เกษตรกร และประชาชนที่ต้องการใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อโดยมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน ปัจจุบันมีต้นไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจมากมาย อาทิ ต้นกฤษณา ต้นสัก และต้นยาง เป็นต้น

ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 มีผู้รับหลักประกันจำนวน 361 ราย และสถิติการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ มีผู้มาขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 685,568 คำขอ จำนวนเงินที่ใช้ทรัพย์สินเป็นหลักประกัน รวมทั้งสิ้น 12,993,562 ล้านบาท

โดยสิทธิเรียกร้องยังคงเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด 77.93% (มูลค่า 10,125,750 ล้านบาท) รองลงมา สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ เครื่องบิน สัตว์พาหนะ 22.04% (มูลค่า 2,863,999 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา 0.02% (มูลค่า 1,991 ล้านบาท) กิจการ 0.01% (มูลค่า 1,287 ล้านบาท) อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ 0.003% (มูลค่า 398 ล้านบาท) และ ไม้ยืนต้น 0.001% (มูลค่า 137 ล้านบาท)