วิกฤตซัดน้ำมันถั่วเหลือง โรงงานกางแผนตั้งรับต้นทุนพุ่ง

คุณา วิทยฐานกรณ์
สัมภาษณ์

สถานการณ์วิกฤตราคาธัญพืชในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมน้ำมันถั่วเหลืองที่ต้องแบกรับต้นทุน “วัตถุดิบ” ปรับสูงขึ้น จากความไม่แน่นอนของตลาดโลก

ในแต่ละปีทั่วโลกผลิตและใช้น้ำมันถั่วเหลืองปริมาณ 59 ล้านตัน เป็นอันดับ 2 รองจากน้ำมันปาล์ม โดยมีจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด กำลังการผลิต 15.95 ล้านตัน ตามด้วยสหรัฐ 11.9 ล้านตัน และบราซิล 11.9 ล้านตัน

ขณะที่ไทยมีกำลังการผลิต 426,765 ล้านตัน และมีการใช้น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ภายในประเทศ 205,495 ตัน และยังมีการส่งออก 89,042 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 70 ต่อ 30 ทั้งยังมีการใช้ “กากถั่วเหลือง” ซึ่งเป็นบายโปรดักต์จากการกลั่นน้ำมันถั่วเหลืองไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์อีก “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “คุณา วิทยฐานกรณ์” นายกสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว และกรรมการ บมจ.น้ำมันพืชไทย ผู้ผลิตน้ำมันพืชองุ่น

               

มุมมองต่อวิกฤตน้ำมันพืช

เรื่องฟู้ดซีเคียวริตี้เป็นเรื่องสำคัญมาก และภาวะในตอนนี้หลายประเทศในยุโรป น้ำมันพืช ขนมปัง หรือวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารขาดตลาด ประเทศไทยถือว่าโชคดีที่ไทยแข็งแรงเรื่องนี้ จึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนเรื่องนี้ต่อไป

“นิยามตลาดถั่วเหลืองปีนี้ วิกฤตมาต่อ ๆ กัน โควิดมา มีสงคราม มีอหิวาต์สุกร อากาศไม่ดี เกิดในระยะเวลาใกล้ ๆ กัน ถือเป็นความท้าทายในอุตสาหกรรม ต้องเกาะตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”

รัฐยังไม่ลดภาษีนำเข้ากากถั่ว

“ตอนนี้ยังไม่มีการปรับลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% เพราะยังมีประเด็นในรายละเอียดอีกหลายเรื่อง”

“ทางสมาคมก็พยายามให้ข้อมูลกับรัฐว่าเพราะอะไรที่จะต้องคงภาษีไว้ เพราะก่อนหน้านี้ไทยเคยเรียกเก็บภาษี 10% แล้วก็ลดหลั่นกันมาเรื่อย ๆ ทำให้ความสามารถแข่งขันของโรงสกัดลดลงเรื่อย ๆ ตอนนี้เหลืออยู่ 4 โรงงาน ทุกโรงก็พยายามทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งเพื่อช่วยดูแลน้ำมันถั่วเหลืองในประเทศให้มีปริมาณพอเพียง และร่วมมือกับทางราชการในการดูแลราคา”

ส่วนการยกเลิกมาตรการซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน หรือ 3 ต่อ 1 ที่รัฐช่วยอุตสาหกรรมอาหารสัตว์นั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเรา เพราะข้าวโพดและข้าวสาลีดังกล่าวเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรต ส่วนกากถั่วเหลืองจะเป็นแหล่งโปรตีน จึงยังไม่กระทบให้ความต้องการใช้ถั่วเหลือง

ตลาดน้ำมันถั่วเหลืองปี’65

“ปีนี้ตลาดน้ำมันถั่วเหลืองประเมินยาก เพราะมีปัจจัยหลายแฟกเตอร์มากระทบ หลายคนมองว่า สงครามจะหยุดเมื่อไร เพราะสงครามมีผลต่อตลาดน้ำมันพืชค่อนข้างเยอะ ส่วนหนึ่งทำให้ตลาดน้ำมันพืชตึงตัว สมมุติสงครามหยุดพรุ่งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าตลาดน้ำมันพืชจะกลับมาคืนตัวภายใน 1-2 วัน เรายังไม่รู้ว่าผลกระทบจริง ๆ คืออะไร ซึ่งธรรมดาก็ยิ่งประเมินยากอยู่แล้วนี่เรายังไม่รู้เลยว่าผลกระทบจริง ๆ คืออะไร”

แต่ก็ไม่ได้มีแค่ปัจจัยลบก็มีปัจจัยบวกด้วย ภาวะโควิดดีขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้โปรดักชั่นเพิ่ม การขาดแคลนแรงงานก็มีผลกับการผลิตพืชบางอย่าง พอเริ่มมีแรงงานโฟลว์ก็อาจทำให้พืชบางอย่างดีขึ้นก็ได้ ภาวะการเพาะปลูกสภาพอากาศ และมีการเปิดประเทศมากขึ้น แต่ต้องรอคาดการณ์ว่าทัวริสต์จะกลับมาเท่าไร เป็นปกติเมื่อไหร่ ภาพอุตสาหกรรมอาหารที่ขายในประเทศต้องรอดูไตรมาส 4

ส่วนในเรื่องการส่งออกดี ค่าบาทดี แต่วัตถุดิบทุกอย่างแพงขึ้นมาหมด กระป๋อง-ค่าตู้ต่างก็แพง พอบวกกันแล้วจะดีขึ้นหรือจะเท่าเดิมก็แล้วแต่อุตสาหกรรม

แผนสต๊อก-รับออร์เดอร์

ผู้ผลิตต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อวางแผน ทุกอย่างเป็นไปได้หมด สถานการณ์เราก็ทำตามปกติ วัตถุดิบก็มีเตรียมพร้อมล่วงหน้า กระป๋องหรือพลาสติกก็สั่งล่วงหน้าไว้ อนาคตจะเกิดอะไรขึ้น เราคงพูดชัดเจนไม่ได้ แต่ก็จะทำให้ดีที่สุด

ตรึงราคา-มาร์จิ้นบาง

“สถานการณ์ต้นทุนไม่หยุดนิ่ง ตอนนี้ 21 บาท ขยับขึ้นไปเกือบ ๆ 24-25 บาท ซึ่งโดยเฉลี่ยต้นทุนขยับเฉพาะเมล็ดถั่วเหลืองขึ้นมา 20-30% ตั้งแต่มกราคม-เมษายน นี่ยังไม่รวมต้นทุนค่าขนส่ง เม็ดพลาสติก ขวด แพ็กเกจจิ้ง กล่องกระดาษ ปี๊บ ทุกอย่างขึ้นหมด แต่เราพยายามดูแลราคา ยังไม่ถึงขนาดขาดทุน แต่มาร์จิ้นบางลง”

ส่วนการลดโปรโมชั่นเป็นไปตามกลไกตลาด ทางห้างก็มีกลไกของเขา ของเราก็ตรึงให้ดีที่สุดไม่ให้เป็นภาระต่อผู้บริโภคมากนัก

ไทยเพิ่มพื้นที่ ‘ปลูกถั่วเหลือง’

นายเพชร หวั่งหลี เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันพืชแบรนด์กุ๊ก กล่าวว่า สถานการณ์วิกฤตน้ำมันพืชทั่วโลกมาจาก 3 เหตุผลหลัก คือ 1) ถั่วเหลืองบราซิลที่เคยประมาณการว่าจะผลิตได้ 144 ล้านตัน ตอนนี้เหลือ 123 ล้านตัน หายไป 21 ล้านตัน ผลกระทบจากภาวะการเพาะปลูกที่ไม่เอื้ออำนวย ตามด้วยฤดูการเก็บเกี่ยวของอาร์เจนตินา และอเมริกาเหนือที่ยังไม่รู้จะได้ปริมาณเท่าไร

2) สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้น้ำมันทานตะวันหายไปจากตลาด ซึ่งยูเครนและรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันทานตะวันรายใหญ่ และ 3) มาจากกรณีที่เร็ว ๆ นี้ อินโดนีเซียประกาศห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม ทำให้ทุกอย่างมันตึงตัวหมด

“สมาคมประสานงานกับกรมการค้าภายใน พยายามดูแลระดับน้ำมันขวดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ตอนนี้ต้นทุนมันขึ้นเรื่อย ๆ และที่ผ่านมาเงินบาทก็อ่อนไปถึง 34 บาทกว่าด้วย อย่างไรก็ตาม การที่ไทยที่มีอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันถั่วเหลืองอยู่ในประเทศไทยมาเป็นบัฟเฟอร์ดีต่ออุตสาหกรรมอาหาร หากตอนนี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมาจะทำให้มีคอสต์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เต็มไปหมด เราก็พยายามดูแลซัพพลายให้ไม่ขาดตอน พอสั่งจากเมืองนอกก็อาจจะมีปัญหาซัพพลายเหมือนกัน”

น้ำมันปาล์มแพงหนุนถั่วเหลือง

ไทยใช้น้ำมันปาล์มมีขนาดเป็น 2 ใน 3 ของการใช้ในประเทศ ปริมาณ 3 ล้านตัน ถึงแม้ว่าปาล์มจะหายไปก็ไม่ใช่จะมาใช้ถั่วเหลืองได้ทั้งหมด ผู้บริโภคน้ำมันถั่วเหลืองตอนนี้ 20% เราไม่สามารถไปเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับตลาดน้ำมันทั้งหมดได้ ดังนั้น ไตรมาส 2 ยอดซื้อน้ำมันถั่วเหลืองคงไม่เพิ่มขึ้นหวือหวา

ราคาซื้อถั่วเหลืองชาวไร่

“วัตถุดิบเราซื้อเกษตรกรในประเทศทั้งหมด เราเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของเกษตรกรในประเทศมากกว่า 75% ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนราคารับซื้อ ราคาเป็นตามข้อตกลงของเรากับรัฐ กระทรวงพาณิชย์ ปีนี้กำหนดกก.ละ 19 บาท ตามเกรดและมีการปรับขึ้นตามความต้องการแต่ละอุตสาหกรรม”

ส่งเสริมปลูกเพิ่ม 5 หมื่นไร่

แนวโน้มความต้องการใช้ถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นแต่เกษตรกรอาจจะปลูกมากขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับความชำนาญของแต่ละพื้นที่ทางสมาคมได้ร่วมมือกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จัดทำโครงการเพิ่มจำนวนผู้ผลิตถั่วเหลืองในประเทศให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าเพิ่มผลผลิตถั่วเหลืองในประเทศให้ได้ 50,000 ตัน ซึ่งต้องดูความพร้อมเรื่องเมล็ดพันธุ์ เกษตรกร และองค์ความรู้ที่จะลงไปเพื่อพัฒนาเป็นโครงการแปลงใหญ่