เกษตรกรเลิกใส่ปุ๋ยข้าว-ยางกระอักราคาพุ่ง 300%

ชาวนา
Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

พิษโควิด-สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำปุ๋ยเคมีราคาพุ่งมหาโหด 250-300% เกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน กระอักต้นทุนการผลิตพุ่งไม่หยุด ทยอยเลิกซื้อ ถอดใจเลิกใส่ปุ๋ย หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทน ร้านขายปุ๋ยทั่วประเทศโอดรายได้ร่วงหนัก ด้านโรงงานผลิตปุ๋ยเคมี-ปุ๋ยอินทรีย์เคมี เข้มยี่ปั๊ว-ซาปั๊วต้องจ่ายเงินมัดจำล่วงหน้า 100% ถึงส่งสินค้าให้

นายภัคนันท์ วีระนรพานิช ผู้จัดการร้าน “ศ.เกษตรรุ่งเรือง” ต.วังไผ่ อ.เมือง จ.ชุมพร ร้านจำหน่ายปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์รายใหญ่ ต.วังไผ่ อ.เมือง จ.ชุมพร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าจากราคาปุ๋ยเคมีที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในขณะนี้ ยิ่งทำให้ราคาปุ๋ยเคมีมีการปรับราคาสูงขึ้นประมาณ 200% จากเดิมกระสอบละ 800 บาท และช่วงโควิดก็ปรับขึ้นเป็นกระสอบละ 1,200 บาท

ล่าสุดสถานการณ์สงคราม ปรับขึ้นเป็นกระสอบละ 1,500-1,600 บาท ขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์ ปรับราคาขึ้นประมาณ 10% ตอนนี้ก็มีบ้างที่ลูกค้าที่รับราคาปุ๋ยเคมีไม่ไหว แล้วหันไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทน แต่ก็น้อยมาก เพราะพืชเกษตรส่วนใหญ่ที่ปลูกในชุมพรคือปาล์มน้ำมันที่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ไม่ได้

ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะซื้อ-ขายกันเป็นเงินสด มีเพียงลูกค้าประเภทซาปั๊วที่จะให้เครดิตไม่เกิน 2 เดือน แต่ก็จะขึ้นกับแบรนด์ของปุ๋ยหรือที่บริษัทต้นทาง แต่ช่วงหลัง ๆ จะขอเป็นเงินสด เพราะบริษัทต้นทางที่ส่งปุ๋ยให้เข้มงวดกับร้านมากขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ยสูตรที่ขายดีและเป็นที่นิยม แต่เนื่องจากช่วงนี้เป็นโลว์ซีซั่น ร้านก็จะมีการยืดเครดิตให้ลูกค้าเดิมที่เป็นลูกค้าประจำ โดยจะให้เครดิตไม่เกิน 2 เดือน

น.ส.ฉัตรสุดา กิตติญาธิคุณ เจ้าของร้านศรีเจริญการเกษตร สาขาตลาดพิษณุโลก อ.เมือง จ.พิษณุโลก กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้จากราคาปุ๋ยที่พุ่งสูงขึ้นมาก ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรที่เคยมาซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หายไปประมาณ 70-80% เนื่องจากไม่มีเงินมาซื้อ บางรายยอมงดการใช้ปุ๋ย

ทั้งนี้ ร้านได้ปรับตัวโดยให้เครดิต 15 วัน หรือมากกว่า แต่การให้เครดิตก็ยังมีหนี้เสียบ้าง นอกจากนี้ มีกรณีเกษตรกรรวมตัวกันเป็นกลุ่มกู้เงินในลักษณะกลุ่มช่วยกันค้ำ เพื่อรวบรวมเงินมาซื้อปุ๋ย ยา เมล็ดพันธุ์กับทางร้าน และตอนนี้บริษัทขายปุ๋ยบางแห่งแทบไม่มีปุ๋ยส่งมาขาย เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง

เช่นเดียวกับร้านขายปุ๋ย ต.บึงพระ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ที่ยอมรับว่าช่วงนี้ลูกค้าลดลง จากราคาปุ๋ยที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ปุ๋ยยูเรีย 46-00 ยูเรีย จากเดิมราคา 500 กว่าบาท ขยับราคาเพิ่มไป 2-3 เท่า เป็น 1,600-1,700 บาท/กระสอบ

ราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้เกษตรกรลำบาก ไม่กล้าลงทุนซื้อปุ๋ย โดยเกษตรกรหลายรายเลือกที่จะงดการซื้อปุ๋ยเคมีในการบำรุงดินบำรุงข้าวในนา ขณะที่ทางร้านไม่มีการปล่อยเครดิตให้ลูกค้าต้องจ่ายเงินสดเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดกับทางร้านเช่นกัน

ด้าน นายจักรรัตน์ เรืองรัตนากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท รัตนากร แอสเซท จำกัด จ.ชลบุรี ผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี แบรนด์ “มุกมังกร” เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาปุ๋ยเคมีปรับตัวขึ้นค่อนข้างสูง หรือประมาณ 250-300% ส่งผลให้เกษตรกรทั้งพืชไร่ พืชสวน ผัก ผลไม้ ไม้ดอก อ้อย ยาง ปาล์ม มันสำปะหลัง ต่างหันมาซื้อปุ๋ยอินทรีย์เคมีทดแทน ทำให้ยอดขายเติบโตขึ้น 35%

แต่กำลังการผลิตของโรงงานมีจำกัด จึงไม่สามารถรับออร์เดอร์ที่มีเข้ามาได้ ตอนนี้ลูกค้าที่ต้องการต้องจ่ายเงินมัดจำล่วงหน้า 100% โรงงานถึงจะผลิตให้

แหล่งข่าวจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวใน จ.พิจิตร กล่าวในเรื่องนี้ว่า จากสถานการณ์ราคาปุ๋ยเคมีที่ปรับราคาสูงขึ้น ทำให้เกษตรกร ชาวสวนต้องปรับตัว จากปกติการทำนาใน 1 รอบการผลิต จะใส่ปุ๋ย 2-3 ครั้ง เพื่อบำรุงต้นข้าว โดยนา 1 ไร่ ครั้งที่ 1 ใส่ปุ๋ยยูเรีย 25 กก./ไร่ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยยูเรีย 25 กก. ผสมกับปุ๋ยสูตร 16-20-0 จำนวน 25 กก./ไร่ ไม่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เลย

แต่เมื่อปุ๋ยยูเรียปรับราคาขึ้นถึง 1,600-1,700 บาทต่อกระสอบ (50 กก.) ชาวนาหลายคนปรับลดการใส่ปุ๋ยยูเรียลงมาครึ่งหนึ่ง เหลือประมาณ 15-20 กก./ไร่ ขณะที่บางรายเลิกใส่ปุ๋ยยูเรียและหันมาใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 จำนวน 25 กก./ไร่ในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยขี้ไก่ 30 กก./ไร่ ทดแทน โดยราคาปุ๋ยขี้ไก่ 250 บาท/กระสอบ แม้คุณภาพของการใช้ปุ๋ยขี้ไก่จะได้เมล็ดข้าวที่สมบูรณ์น้อยกว่า

แต่ด้วยราคาขายข้าวเปลือกที่ปัจจุบันขายได้เพียง 7,400-7,600 บาท แต่ชาวนาต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าปุ๋ย ค่ายา ยังมีค่าน้ำมันในการสูบน้ำเข้านาต่าง ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้องพยายามปรับลดต้นทุนการผลิตลง