กอบศักดิ์ จี้แก้ปัญหา “ปุ๋ยแพง” หนุนภาคเกษตรไทยพลิกวิกฤตเป็นโอกาส

ปุ๋ย

กอบศักดิ์ เตือนปัญหา “ปุ๋ยแพง” อาจรุนแรงกว่าที่คิด หวั่นกระทบภาคเกษตรไทย จี้บริหารจัดการปุ๋ยพลิกวิกฤตเป็นโอกาส หนุนส่งออกสินค้าเกษตรในภาวะโลกขาดแคลนอาหาร

วันที่ 3 มิถุนายน 2565 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพโพสต์เฟซบุ๊ก “Dr.KOB” (https://www.facebook.com/drkobsak) ถึงปัญหาปุ๋ยแพงว่า ในวิกฤตอาหารโลกรอบนี้ สิ่งที่คนยังไม่ค่อยพูดถึงกันมาก ก็คือ ปุ๋ยแพง ล่าสุด ดัชนีราคาปุ๋ยโลกเพิ่มขึ้นจากประมาณ 100 เมื่อก่อนโควิด เป็นประมาณ 325.5 ณ สิ้นเมษายนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากทุกด้านของปุ๋ย

โดยราคายูเรีย เพิ่มเป็น 707.5 จาก 245.3 (+188%) ราคาหินฟอสเฟต เพิ่มเป็น 255.0 จาก 88.0 (+190%) ราคาโพแทสเซียมคลอไรด์ เพิ่มเป็น 562.5 จาก 255.5 (+120%)

“ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะรัสเซียและเบลารุส ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของรัสเซียในสงครามครั้งนี้ เป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายสำคัญของโลก สำหรับปี 2021 ปุ๋ยไนโตรเจน รัสเซียส่งออกเป็นอันดับหนึ่ง ประมาณ 15% ของโลก, ปุ๋ยฟอสเฟต รัสเซียส่งออกเป็นอันดับสอง ประมาณ 17% ของโลก, ปุ๋ยโพแทสเซียม รัสเซีย+เบลารุส รวมเป็นอันดับหนึ่ง ประมาณ 35-36% ของโลก ดังนั้นการ Sanctions (คว่ำบาตร) รัสเซียและพันธมิตร กำลังนำไปสู่ภาวะการขาดแคลนปุ๋ย และการเพิ่มขึ้นของราคาปุ๋ยในประเทศต่าง ๆ ซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนสินค้าเกษตรบางตัว เช่น ข้าวสาลี ที่ผลิตจากรัสเซียและยูเครน”

ดังนั้น ราคาอาหารโลกจึงเพิ่มสูงขึ้น จนทุกคนต้องกังวลใจในขณะนี้ นอกเหนือไปจากปัญหาการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและก๊าซ ที่รัสเซียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ ปัญหาที่กำลังเผชิญกันอยู่ในปัจจุบัน อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของวิกฤตที่รออยู่ข้างหน้า โดยผลกระทบจะเกิดเป็นระลอก ซ้ำเสริมกัน กล่าวคือ เมื่อพลังงานราคาขึ้น สินค้าเกษตรบางส่วนก็จะถูกนำมาใช้ในการผลิตพลังงานทดแทน, เมื่อพลังงานราคาขึ้น การผลิตปุ๋ยต่าง ๆ ก็จะแพงขึ้น เพราะในการผลิตต้องใช้พลังงานเข้าไปร่วมด้วย และเมื่อต้นทุนการผลิตปุ๋ยแพงขึ้น บวกกับวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยขาดแคลน ก็จะส่งผลต่อราคาปุ๋ยในที่สุด

สำหรับเกษตรกร เมื่อปุ๋ยแพงขึ้นมาก มากกว่าราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่ม สุดท้ายเกษตรกรทั่วโลกก็จะเลือกประหยัดปุ๋ย ใส่ปุ๋ยให้น้อยลง, เมื่อใส่ปุ๋ยน้อย ผลผลิตในฤดูกาลที่จะถึงก็จะลดลงอย่างมีนัย และเมื่อผลผลิตน้อย ผลผลิตบางส่วนถูกเอาไปผลิตเป็นพลังงาน ราคาอาหารโลกก็จะแพงยิ่งขึ้นไปอีก

“ซ้ำร้าย ในระดับรัฐบาล อย่างที่เราเห็นกัน บางประเทศอาจเลือกห้ามส่งออกสินค้าเกษตรบางตัว ซ้ำเติมให้ราคาอาหารโลกเพิ่มขึ้นอีกรอบ นำไปสู่เรื่อง Food Protectionism (การปกป้องอาหาร) ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

ท้ายสุด วิกฤตอาหารโลกก็อาจลุกลามเกินกว่าที่ทุกคนคาด”

ทั้งหมดนี้ โชคดีที่ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร โดยรวมแล้วเราคงจะได้รับประโยชน์ ราคาปาล์ม ราคายาง ราคาสินค้าเกษตรที่ดีขึ้น จะส่งผลดีต่อครอบครัวเกษตรกรไทยนับ 20 ล้านคน แต่หัวใจที่จะเป็นจุดตาย ก็คือเรื่องปุ๋ยแพง

“ถ้าเราเตรียมการและบริหารจัดการเรื่อง ‘ปุ๋ยแพง’ ได้ วิกฤตอาหารโลกรอบนี้จะกลายเป็นโอกาสอย่างยิ่งของประเทศไทยและคนไทย อย่างที่เขาชอบพูดกัน ‘ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ’ อยู่ที่ว่าเราจะหยิบฉวยโอกาสนั้นได้หรือไม่” ดร.กอบศักดิ์ระบุ