ทั่วโลกเริ่มกักตุนสินค้า แบนส่งออก-หวั่น ‘วิกฤตอาหาร’

REUTERS/Piroschka van de Wouw

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” สร้างความตื่นตระหนกจนก่อให้เกิดการกักตุนสินค้าและอาหารตามที่เห็นในเกือบทุกประเทศทั่วโลก จากความกังวลว่าจะเกิดภาวะขาดแคลน แม้ว่าข้อมูลจะบ่งชี้ว่าปริมาณอาหารสำรองทั่วโลกยังเหลือเฟือ แต่การซื้อและกักตุนของผู้บริโภครายใหญ่  อย่างรัฐบาลและบริษัทอาหารก็อาจสร้างภาวะขาดแคลนขึ้นมาได้

รอยเตอร์สรายงานว่า ข้อมูลคาดการณ์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า ในปี 2020 ปริมาณ ข้าวสาลี สำรองทั่วโลกเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 287.14 ล้านตัน จากปี 2019 อยู่ที่ 277.57 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณ ข้าวสาร สำรองทั่วโลกอยู่ที่ 182.3 ล้านตัน จากปี 2019 ที่ระดับ 175.3 ล้านตัน

นอกจากนี้ “โอเล ฮูเออร์” ผู้อำนวยการบริษัทนายหน้าสินค้าโภคภัณฑ์การเกษตร IKON Commodities ระบุว่า “ปัจจุบันสหรัฐมีการนำข้าวโพดจำนวน 140 ล้านตัน ซึ่งสำรองไว้เพื่อผลิตเอทานอลเป็นประจำทุกปี ซึ่งก็สามารถนำมาทดแทนการบริโภคได้หากเกิดความต้องการ โดยเฉพาะช่วงที่ราคาพลังงานกำลังตกต่ำ”

อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ชี้ว่า วิกฤตอาหารทั่วโลกอาจเกิดขึ้นจากการซื้อและกักตุนของผู้บริโภครายใหญ่ ๆ เช่น รัฐบาล และบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหาร จากความกังวลภาวะขาดแคลนที่จะเกิดขึ้นในประเทศ

โดย “อับดุลลาซาห์ อับบาเซียน” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของเอฟเอโอ ระบุว่า ระบบขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ อาจส่งผลให้ผู้ซื้อรายใหญ่เร่งซื้อและกักตุนอาหารจากความกังวลว่าอาจไม่ได้รับการส่งสินค้าอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ การกักตุนของผู้บริโภคในประเทศก็อาจสร้างความตื่นตระหนกต่อรัฐบาลจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายได้เช่นกัน

ความกังวลดังกล่าวเริ่มส่งผลต่อนโยบายของแต่ละประเทศ เพื่อรับประกัน “ความมั่นคงทางอาหาร” ของหลายประเทศแล้ว บลูมเบิร์กระบุว่า ปัจจุบันคาซัคสถานได้ประกาศสั่งห้ามส่งออกอาหารอย่างแป้งสาลี เมล็ดธัญพืชบักวีต และหัวหอม ขณะที่ เซอร์เบีย ประกาศแบนการส่งออกอาหาร เช่น มันฝรั่ง น้ำตาล แครอต และน้ำมันทานตะวัน รวมทั้ง รัสเซีย ที่เริ่มนำนโยบายห้ามการส่งออกอาหารมาใช้เช่นกัน

Advertisment

ในส่วนประเทศผู้นำเข้าก็เริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายเช่นกัน โดย โมร็อกโก สั่งยกเลิกภาษีศุลกากรนำเข้าข้าวสาลีไปจนถึงเดือน มิ.ย. 2020 ส่วน จีน ก็เริ่มกักตุนอาหารโดยประกาศซื้อข้าวสารที่ผลิตภายในประเทศจำนวนมาก ถึงแม้ว่าสต๊อกที่มีอยู่ปัจจุบันจะสามารถบริโภคภายในประเทศได้ถึง 1 ปี

นโยบายเหล่านี้สร้างความกังวลว่าอาจส่งผลให้เกิดภาวะ “วิกฤตอาหาร” ทั่วโลกขึ้นมาจริง ๆ “ทิม เบนตัน” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยความเสี่ยงของชาแทม เฮาส์ หน่วยงานวิจัยด้านกิจการระหว่างประเทศ กล่าวเตือนว่า หากรัฐบาลทั่วโลกใช้นโยบายเหล่านี้จะส่งผลให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะยิ่งสร้างความกังวลต่อความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น และก็จะยิ่งทำให้รัฐบาลต่าง ๆ เพิ่มระดับนโยบายที่มีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็น “วงจรอุบาทว์”

Advertisment

ทั้งนี้ ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าบริโภคเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทวีปแอฟริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง

ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2008 และ 2011 ซึ่งราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์จลาจลมากกว่า 30 ประเทศ

โดยปัจจุบันพบว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์การเกษตรเริ่มดีดตัวขึ้นมาแล้ว เช่น ราคาข้าวสาลีสหรัฐในตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโกเพิ่มขึ้นราว 10% นับตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. ขณะที่ราคาเนื้อวัวขายส่งในสหรัฐก็เพิ่มขึ้นจนแตะจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2015 รวมถึงราคาสินค้าเกษตรอื่น ๆ เริ่มดีดตัวขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ ประเทศเหล่านี้ยังต้องเผชิญกับค่าเงินของตนที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้ามีราคาแพงมากขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันยังมีความแตกต่างจากปี 2008 และปี 2011 ที่ภาวะวิกฤตอาหารเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ ซึ่งกระทบกับปริมาณซัพพลาย ขณะที่วิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้นในปัจจุบันมาจากอุปสงค์มากกว่า เนื่องจากเป็นการกักตุนอย่างตื่นตระหนกของผู้เล่นรายใหญ่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลทั่วโลก

ในภาวะที่ทั้งโลกกำลังเผชิญวิกฤตร่วมกัน จึงไม่ควรนำนโยบาย “ชาตินิยม” มาใช้ ดังเช่นที่ “เม็กซิโม โทเรโร” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอฟเอโอ กล่าวว่า รัฐบาลทั่วโลกควรสร้างความร่วมมือกันมากกว่าตั้งนโยบายเพียงเพื่อปกป้องประเทศตัวเอง