วิกฤตอาหารโลก ดัน หุ้นเด่น “CPF-GFPT-TU-TFG” รับอานิสงส์

หุ้น-ร้านอาหาร

สัญญาณวิกฤตอาหารโลกที่เริ่มเห็นชัดขึ้น จากการที่มีหลายประเทศเริ่มประกาศระงับการส่งออกสินค้า อาทิ ข้าวสาลี ปาล์มน้ำมัน น้ำตาล ไก่ เป็นต้น

หลายคนมองว่านี่อาจจะเป็นโอกาสของประเทศไทยในฐานะครัวโลก ซึ่งในมุมของการลงทุน หุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเหล่านี้ที่มีการส่งออก น่าจะได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย

“ธรีทิพย์ วงษ์แสงไพบูลย์” ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยประเมินสัญญาณวิกฤตขาดแคลนอาหารโลก จุดเริ่มต้นเกิดจากผลอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นหลัก เนื่องจากแต่ละประเทศเริ่มควบคุม ลดการส่งออก เพื่อกดราคาช่วยคนในประเทศ

โดยมีสาเหตุจากสงครามรัสเซียและยูเครน ดังนั้นหากสงครามยืดเยื้อยาวนาน อาจจะมีผลสืบเนื่องที่ไม่เหมือนกัน กล่าวคือ หากมองว่าสงครามมีโอกาสจบได้อย่างน้อยภายใน 3-6 เดือน โอกาสที่สถานการณ์ราคาสินค้าและภาวะซัพพลายอาหารโลกที่ตึง ก็น่าจะผ่อนคลายลงหลังจากนั้นได้

แต่ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาสินค้าหลายอย่างปรับตัวเพิ่มขึ้น หลาย ๆ ประเทศมีการประกาศควบคุมการส่งออก จะสะท้อนถึงราคาผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างยืนสูง ซึ่งตรงนี้จะได้ประโยชน์กับผู้ผลิตและส่งออกที่ยังมีศักยภาพในการส่งออกได้อยู่

“ผู้ประกอบการไทยที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ที่มีโอกาสตรงนี้ ได้แก่ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), บมจ.จีเอฟพีที (GFPT), บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) และ บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) เพราะมีการผลิตเพียงพอสำหรับตลาดในประเทศและมีโอกาสในการส่งออก

ขณะที่ภาพรวมการเปิดประเทศในหลาย ๆ ภูมิภาคช่วยผลักดันดีมานด์ และในระยะสั้นทิศทางค่าเงินบาทยังอยู่ในฝั่งอ่อนค่า แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะได้ประโยชน์อย่างเดียว เพราะเงินเฟ้อไม่ได้ขึ้นเฉพาะราคาอาหาร

แต่ราคาพืชผลเกษตรอย่างข้าวโพดและถั่วเหลือง ซึ่งเป็นต้นทางการผลิตอาหารสัตว์ก็ไล่กันขึ้นมาด้วย รวมถึงค่าขนส่งตั้งแต่ค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงมาตั้งแต่ปีที่แล้ว”

ทั้งนี้ ปัจจุบันเนื้อหมูไม่มีปัญหา เพราะส่วนใหญ่ซัพพลายในประเทศ ถึงแม้ไทยจะเกิดโรคอหิวาต์หมู (ASF) ก็ยังไม่รู้สึกถึงการขาดแคลน แต่ราคาจะยืนอยู่ในระดับสูงมากกว่าในอดีต ซึ่งไม่แตกต่างมากนัก เมื่อเทียบราคาในต่างประเทศ

ส่วนเนื้อไก่ก็ไม่มีภาวะขาดแคลน และยังมีศักยภาพในการส่งออกได้ แต่ราคาก็ปรับตามราคาเนื้อหมู เพราะเป็นเนื้อสัตว์ที่ทดแทนกันในราคาที่ถูกกว่า

“ถ้าสังเกตจากปริมาณการเลี้ยงไก่กับปริมาณการผลิต มี gap อยู่มากพอสมควร โดยเราไม่ใช่เป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ใน 5 แต่เป็นผู้ส่งออก 1 ใน 5 ของโลก คือ มีกำลังการผลิตเพื่อส่งออก”
“ธรีทิพย์” กล่าวอีกว่า ประเมินศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในการผลิตส่งออกเนื้อไก่น่าจะมีสูงในภาวะหลาย ๆ ประเทศควบคุมการส่งออก เนื่องจากไก่ใช้เวลาเลี้ยงไม่นาน

และตอนนี้ไม่มีปัญหาโรคระบาดในประเทศ อาจจะขยับปรับได้เร็ว หากมีดีมานด์กลุ่มประเทศที่เป็นผู้นำเข้าแต่บางประเทศห้ามการส่งออก โดยประเทศไทยเมื่อปี 2564 ผลิตเนื้อไก่ประมาณ 3.3 ล้านตัน บริโภคในประเทศ 2.3 ล้านตัน และส่งออกประมาณ 9 แสนตัน-1 ล้านตัน

“ถ้าประเมินเปอร์เซ็นต์การส่งออกจากไทยไปต่างประเทศ GFPT อาจจะดูโดดเด่นกว่า แต่ในเชิงผู้เล่นรายใหญ่และการหาตลาดก็ได้ประโยชน์เกือบทุกบริษัท อย่างเช่น ในบางประเทศที่มีการปรับราคาขึ้น โอเปอเรชั่นของเขาที่อยู่ในประเทศนั้นก็จะได้ผลจากราคาไปเลย”

ขณะที่ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) วิเคราะห์กรณีมาเลเซียระงับการส่งออกเนื้อสัตว์ปีก มีผลวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ว่า จะกระทบสิงคโปร์มากสุด เนื่องจากนำเข้าไก่จากมาเลเซีย 1 ใน 3 ของการนำเข้าขณะที่ไทยส่งออกไก่ไปสิงคโปร์แค่ 3% ของมูลค่าส่งออกไก่รวม โดยประเมินว่า GFPT น่าจะได้ประโยชน์ที่สุด

ด้าน บล.เอเซีย พลัส วิเคราะห์กรณีมาเลเซียระงับส่งออกไก่ ถือเป็นโอกาสของไทยที่ได้ผลบวกจากการที่ลูกค้าบางส่วนหันมาซื้อไก่จากไทยมากขึ้น เช่น สิงคโปร์ เป็นต้น จึงเป็นผลบวกต่ออุตสาหกรรมไก่ไทยที่จะมีตลาดส่งออกไก่เพิ่มขึ้น ทั้ง GFPT,TFG และ CPF

โดยคาดว่ากำไรสุทธิปี 2565 ของ TFG จะฟื้นตัวถึง 240% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และคาดว่ากำไรสุทธิงวดไตรมาส 2/2565 จะเติบโตต่อเนื่อง จากแนวโน้มราคาไก่และสุกรปรับเพิ่มขึ้น กำหนดราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 6 บาท อัพไซด์ 23.5% แนะนำ “ซื้อ”