ธุรกิจส่งออกขาดแรงงาน เศรษฐกิจฟื้นออร์เดอร์พุ่ง

แรงงาน

เอกชนรับมือวิกฤตแรงงานขาดแคลน หลังเปิดประเทศ เศรษฐกิจฟื้น ออร์เดอร์ส่งออกพุ่ง ภาคอุตสาหกรรมต้องการ 7 แสนคน ธุรกิจอาหารเร่งหาพนักงาน 4 แสนคน เครื่องนุ่งห่มดีลบริษัทจัดหางานนำเข้าแรงงานเอ็มโอยู 7 หมื่นคน “เมียนมา” เป็นหลัก หวังดันครึ่งปีหลังฟื้นตัวกลับ 2 แสนล้านบาท เผยต้นทุนลดลงจาก 2 หมื่นเหลือ 2 พันบาท/คน

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ส.อ.ท.เตรียมหารือกับกระทรวงแรงงาน เรื่องปัญหาการขาดแคลนแรงงานอีกครั้ง เพราะภาคอุตสาหกรรมประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน 5 แสนคน หากนับรวมภาคบริการคาดว่าขาดแคลนไม่ต่ำกว่า 7 แสนคน

หลังจากรัฐบาลกลับมาเปิดประเทศ และเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมด กลุ่มอุตสาหกรรมยิ่งต้องการแรงงานเพิ่ม โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากคือ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นอย่าง อาหาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อิเล็กทรอนิกส์ และก่อสร้าง

“ขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว ภาคอุตสาหกรรมกลับมาแล้ว 100% และเมื่อภาคบริการ ท่องเที่ยวกลับมาเต็มรูปแบบ การขาดแคลนจะเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้อีก หากแรงงานไม่พอจะกระทบมาก เกิดความเสียหายต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่กำลังฟื้น ซึ่งทางเอกชนเรียกร้องต่อภาครัฐมาตลอด ทางรัฐก็เข้าใจและได้พยายามนำเข้าแรงงานต่างด้าว ทั้งพม่า กัมพูชา ลาว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ”

ต้องการแรงงานอีก 8 แสนคน

ด้านนายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขาดแคลนแรงงานประมาณ 3-4 แสนคน หากนับความต้องการแรงงานทั้งประเทศน่าจะขาดแคลน 7-8 แสนคน หลังจากเปิดประเทศ ภาคอุตสาหกรรมได้เตรียมนำเข้าแรงงานผ่าน MOU กับกระทรวงแรงงาน เพื่อจัดหาแรงงานต่างชาติที่ถูกกฎหมาย และสนับสนุนค่าใช้จ่าย แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับการผลิตตามออร์เดอร์ที่มีมาจำนวนมาก เช่น โรงงานไก่ โรงงานทูน่า โรงงานผักผลไม้แปรรูป

“หลังจากวันที่ 1 มิ.ย. 2565 คงต้องรอพิจารณาว่าจะนำแรงงานเข้ามาเพิ่มได้มากน้อยเพียงใด เพราะมาตรการใหม่ไม่ต้องกักตัว ทำให้ต้นทุนนำเข้าแรงงานลดลง จาก 7,000-10,000 บาท หรือสูงสุดเกือบ 20,000 บาท เหลือประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อคน”

นายเจริญกล่าวถึงการขึ้นค่าแรงว่า คาดว่าไตรภาคีจะมีการคุยกันในระดับจังหวัด ทั้งภาครัฐ ภาคแรงงาน ภาคนายจ้าง พิจารณาเรื่องเงินเฟ้อ ผมมองว่าปีนี้น่าจะอยู่ในระดับ 5-10% เพราะราคาน้ำมันเป็นตัวลากตัวเดียว การปรับค่าแรงก็ต้องดูเรื่องเงินเฟ้อด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปประมาณกันยายน”

เครื่องนุ่งห่มนำเข้า 7 หมื่นคน

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังเปิดประเทศทำให้ต้นทุนการนำเข้าแรงงานต่อหนึ่งคนถูกลง ขณะนี้บริษัทเครื่องนุ่งห่มอยู่ในระหว่างเริ่มต้นนำเข้าแรงงาน หลายบริษัทที่เริ่มติดต่อกับบริษัทตัวแทนนำเข้าแรงงาน คาดว่าจะนำเข้าแรงงานรับลอตใหญ่เข้ามาในช่วงกลางถึงปลายเดือน มิ.ย.นี้ ส่วนใหญ่ที่นำเข้าจะเป็นแรงงานเมียนมาเป็นหลัก คาดว่าหลังจากนี้ไปจนถึงสิ้นปีการนำเข้าแรงงานกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม 60,000-70,000 คน

“ปัจจุบันออร์เดอร์ส่งออกเริ่มกลับเข้ามาเต็มศักยภาพ คาดว่าในช่วงปี 2565 จะสามารถกลับมาพลิกส่งออกได้ถึง 2.2 แสนล้านบาท สูงเทียบเท่ากับปีก่อนมีโควิด 2562 หลังจากที่เราส่งออกซบเซาไป 2 ปี”

ปรับมาตรการนำเข้าแรงงาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ล่าสุดมีนายจ้างยื่นความต้องการขอจ้างคนต่างด้าวภายใต้ MOU แล้ว 236,012 คน แบ่งเป็น แรงงานเมียนมา 165,376 คน กัมพูชา 52,428 คน และ สปป.ลาว 18,208 คน

เปิดด่านชายแดนดึงแรงงาน

นายสุชิน พึ่งประเสริฐ ประธานบริหาร บนจ.กรุ๊ปเซเว่นเซอร์วิส และนายกสมาคมการค้าพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนำเข้าแรงงานต่างด้าว ระบุว่า ปัจจุบันแรงงานทั้ง 3 สัญชาติทยอยเข้ามาตาม MOU ยังมีจำนวนไม่มาก เพราะแรงงานเมียนมาส่วนใหญ่ติดขัดจากประเทศต้นทาง เนื่องจากสถานการณ์ไม่สงบภายในประเทศ เวลาจะนำเข้ามาจึงต้องได้รับความยินยอมจากทางผู้ว่าเมียวดีก่อน


ซึ่งไทยรู้ถึงปัญหานี้จึงมีแผนว่าจะเปิดอีกหนึ่งด่านที่ จ.ระนอง และอาจมีการนำเข้าตามระบบ MOU ทางเครื่องบินด้วย นอกจากนั้นระบบราชการทางเมียนมายังไม่เสถียร จึงใช้เวลาในการพิจารณาเอกสารค่อนข้างนาน