การศึกษารับโลกเปลี่ยน สร้างทักษะออนไลน์เรียนรู้ตลอดชีวิต

จากการประเมินขององค์การเพื่อความร่วมมือ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ประมาณ 14% ของแรงงานมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ และอีก 30% ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านทักษะในการทำงานอย่างมาก นอกจากนี้ หลายประเทศทั่วโลกต่างกำลังประสบปัญหาการสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะสอดรับกับการทำงานยุคเทคโนโลยีด้วย

ด้วยเหตุนี้ สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จึงร่วมกับบริษัทจัดหางาน Jobbkk.com และบริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) จัดงานเสวนาในหัวข้อ “The Future Skillset of 2022 and Beyond ทิศทางชุดทักษะแห่งอนาคต เพื่อก้าวไปข้างหน้ากับ มธ. และระบบเรียนรู้ออนไลน์ TU NEXT” เพื่อให้ผู้บริหาร และคนทำงานที่มีไฟในการพัฒนาตัวเอง รู้ถึงทิศทาง และแนวทางการปรับตัวเพื่อตลาดแรงงานในอนาคต

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ

“รศ.เกศินี วิฑูรชาติ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตลาดแรงงานโลกกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ คนจำนวนมากจะไม่มีงานทำ และงานจำนวนมากจะไม่มีคนทำ เนื่องจากขาดทักษะที่จำเป็น และมีทักษะที่ไม่สอดรับกับความต้องการของผู้ว่าจ้าง

นอกจากนั้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะทำให้อีก 5 ปีข้างหน้า งานจำนวน 85 ล้านตำแหน่งจะหายไป และจะมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้นราว 97 ล้านตำแหน่ง

ดังนั้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มธ.จึงพัฒนา TU NEXT e-Learning platform ระบบเรียนออนไลน์ที่ดูแลโดยสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของ มธ. โดยตั้งเป้าพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านทรัพยากรมนุษย์ผ่านงานวิจัย และวิชาการ

จัดกิจกรรมบริการวิชาการสู่สังคม และชุมชน สร้างโอกาสทางการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต บนรากฐานของสังคมแห่งการเรียนรู้ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยตามที่ได้รับมอบหมาย

หลักสูตรที่มีบรรจุอยู่ใน TU NEXT ถูกออกแบบเพื่อให้คนรักการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูง หรือคนรุ่นใหม่upskill & reskill ในทักษะที่จำเป็นตลอดเวลา ขณะเดียวกัน ยังสร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐ และเอกชนให้เกิดการบูรณาการ ส่งเสริมการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ได้หลากหลาย โดยอยู่ภายใต้กรอบแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570)

TU NEXT จึงถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การบริหารงานของมหาวิทยาลัยในการพัฒนารูปแบบ ความร่วมมือแห่งอนาคต (future collaboration) ที่ดึงภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาหลักสูตรมาร่วมดำเนินโครงการเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย และภาคเอกชนพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ของประเทศไทยเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการให้บริการดิจิทัล

ทัศไนย เหมือนเสน

“ทัศไนย เหมือนเสน” ผู้ก่อตั้ง Jobbkk.com กล่าวเสริมว่าตลาดแรงงานกำลังเกิด 4 เทรนด์สำคัญ ได้แก่ หนึ่ง การเติบโตของงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล สอง ความสำคัญของ soft skill ที่เทียบเท่ากับ hard skill สาม ความสำคัญของงานที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า และสี่ การตระหนักว่าไม่มีทักษะใดเป็นที่ต้องการตลอดไป ดังนั้น ลูกจ้าง และนายจ้างจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

โลกของเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการดิสรัปต์โดยเทคโนโลยีดิจิทัล (digital disruption) เทรนด์สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก อิทธิพลของโซเชียลมีเดียและบิ๊กดาต้า จึงทำให้บุคลากร รวมถึงองค์กรต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด พร้อมรับมือกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป

ขณะเดียวกันคนทำงานรุ่นใหม่ต้องมี meta skill ซึ่งคือการสร้างทัศนคติที่พร้อมจะเรียนรู้ แก้ไข พัฒนาจากสิ่งเดิมไปสู่สิ่งใหม่ที่ท้าทาย อันครอบคลุมถึงการสร้างทัศนคติแบบ growth mindset มีความพร้อมที่จะเติบโต กระตือรือร้น และพร้อมจะพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้แบบตลอดชีวิต (lifelong learning) เพื่อปรับตัวรับกับเทรนด์เกิดใหม่

“ทัศไนย” ยังกล่าวถึงทักษะแห่งอนาคตอันเป็นที่ต้องการในยุคดิจิทัลทางด้าน hard skill ว่ามีหลักสำคัญอยู่ 5 ประการ

หนึ่ง ทักษะความรู้การทำงานด้านบล็อกเชน (blockchain) ซึ่งเป็นทักษะที่บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกต้องการเป็นอันดับหนึ่ง เพราะบล็อกเชนเป็นหนึ่งในทักษะที่สามารถต่อยอดธุรกิจในหลาย ๆ ด้าน

สอง คลาวด์คอมพิวติ้ง (cloud computing) เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่ใช้งานบนอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันถูกจัดเก็บข้อมูล และแพลตฟอร์มไว้บนคลาวด์

สาม ดาต้าอะนาไลติก (data analytic) เป็นทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญที่จะช่วยการทำงานทุกแขนง

สี่ ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence : AI) โดยปัจจุบันถูกนำมาใช้งานหลากหลายด้าน ดังนั้น มนุษย์ต้องรู้เท่าทัน AI ถึงจะทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ห้า UX/UI (user experience และ user interface) ทักษะออกแบบสร้างสรรค์เว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่น

บุญเลิศ นราไท

“บุญเลิศ นราไท” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เออาร์ไอพี กล่าวว่าความรู้มีวันหมดอายุ ดังนั้น เพื่อปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง ลูกจ้าง, นายจ้างต้องไม่หยุด upskill และ reskill โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 5G/6G

ทำให้เกิด zero latency หรือการไร้ความหน่วงในการรับส่งข้อมูล ส่งผลให้นวัตกรรมแห่งอนาคตที่เคยเป็นเรื่องไกลตัวเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เช่น รถยนต์อัตโนมัติ, ระบบสายพานผลิตอัตโนมัติ หรือการขนส่งโดยใช้โดรน

ดังนั้น งานหลาย ๆ ตำแหน่งอาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะงานที่เป็นกิจวัตร เมื่อความรู้ที่ลูกจ้าง และนายจ้างมีในปัจจุบันกำลังจะหมดอายุ การ upskill และ reskill จึงจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายจ้างที่ต้องปรับองค์กรให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง

และตระหนักถึงความสำคัญในการเสริมทักษะใหม่ที่จำเป็นให้กับพนักงาน เพื่อพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ส่วนลูกจ้างเองต้องตระหนักถึงทักษะที่จำเป็นในการทำงานในอนาคต พัฒนาตนเองให้มีทักษะดังกล่าว เพื่อให้เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน

สำหรับ soft skill ทักษะที่จะจำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต ได้แก่ ความสามารถในการจัดการปัญหาบนฐานการคิด(thinking-based solution), ความฉลาดรู้ทางสารสนเทศ (information literacy), ความฉลาดรู้ทางดิจิทัล (digital literacy), ความสามารถในการมีอิทธิพลต่อความคิด (influencing and leading to goals)

ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์

“ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์” ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ กล่าวว่าด้วยสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตระหนักถึงความสำคัญในการ upskill และ reskill ทรัพยากรบุคคลของประเทศ จึงได้พัฒนา TU NEXT e-Learning platform แพลตฟอร์มการเรียนรู้รูปแบบดิจิทัลที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามาเพิ่มเติมความรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา

“ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในเรื่องที่ตนเองสนใจ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เรียนคนอื่น ๆ เพื่อสร้างเครือข่าย มีระบบวัดผลที่มีประสิทธิภาพสามารถขอดาวน์โหลดประกาศนียบัตรในนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU Certificate) ได้ เมื่อเรียนจบ และสอบผ่านตามเงื่อนไข”