สมศ.ประเมินอาชีวะเกินเป้า เน้นปรับตัวเท่าทัน-ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน

ตลาดแรงงาน

สมศ.ประเมินฯ อาชีวศึกษาเกินเป้า เน้นปรับตัวเท่าทันและตอบโจทย์ตลาดแรงงาน พร้อมชูบทบาทเป็นกระจกสะท้อน-ให้คำปรึกษาผ่านข้อมูลการประเมินอย่างตรงจุด

วันที่ 8 มิถุนายน 2565 ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และ พ.ศ. 2565 มีสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกกว่า 834 แห่ง จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 440 แห่ง ซึ่งครอบคลุมสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาทั่วประเทศ

ดร.นันทา หงวนตัด
ดร.นันทา หงวนตัด

โดยแบ่งเป็นสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวน 821 แห่ง สถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 10 แห่ง และสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (วธ.) จำนวน 3 แห่ง

โดยสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาที่ขอเข้ารับการประเมินแบ่งออกเป็น ระยะที่ 1 การประเมินพิจารณาจากเอกสาร SAR ที่ทางหน่วยงานต้นสังกัดส่งมายัง สมศ. จำนวน 719 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานมีระดับคุณภาพดี โดยมาตรฐานที่ 1 คุณลักษณะของผู้สำเร็จการศึกษาอาชีวศึกษาที่พึงประสงค์ กว่าร้อยละ 75 อยู่ในระดับดี

มาตรฐานที่ 2 การจัดการอาชีวศึกษา กว่าร้อยละ 77 อยู่ในระดับดี และมาตรฐานที่ 3 การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ กว่าร้อยละ 72 อยู่ในระดับดี จากผลการประเมินสะท้อนให้เห็นว่าต้นสังกัดมีการสร้างความรู้ความเข้าใจและเตรียมความพร้อมให้แก่สถานศึกษา ในการเขียนรายงานประเมินตนเองที่ครอบคลุมและสะท้อนผลการดำเนินงานของสถานศึกษาได้อย่างชัดเจน

การประเมินระยะที่ 2 เป็นการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมออนไลน์ (Site-visit) ตามความสมัครใจ มีสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาขอเข้ารับการประเมินจำนวน 115 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานมีระดับคุณภาพดีเยี่ยม โดยมาตรฐานที่ 1 คุณลักษณะของผู้สำเร็จการศึกษาอาชีวศึกษาที่พึงประสงค์ กว่าร้อยละ 40 อยู่ในระดับดีเยี่ยม มาตรฐานที่ 2 การจัดการอาชีวศึกษา กว่าร้อยละ 37 อยู่ในระดับดีเยี่ยม และมาตรฐานที่ 3 การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ กว่าร้อยละ 40 อยู่ในระดับดีเยี่ยม

โดยเป็นการประเมินคุณภาพภายนอกตามบริบทของสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษา จากผู้ประเมินภายนอกที่มีความรู้ ความสามารถ และเข้าใจในบริบทของสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาเป็นผู้ที่มีความสามารถชี้ให้สถานศึกษาเห็นจุดที่ควรพัฒนา พร้อมให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ตรงประเด็น

ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาในการนำไปปรับใช้ หรือเป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนในการจัดการเรียนการสอน สร้างทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจนผลิตผู้เรียนที่มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการของทุกภาคส่วน เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาไทยให้ก้าวทันบริบทโลก

ด้านนายวณิชย์ อ่วมศรี รักษาการประธานกรรมการ คณะกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาด้านการอาชีวศึกษา สมศ. กล่าวว่า เกณฑ์การประเมินทาง สมศ. ได้ใช้มาตรฐานเดียวกันในทุกบริบทของการเป็นอาชีวศึกษา

คือ 1) คุณลักษณะผู้สำเร็จการศึกษาที่พึงประสงค์ มีความรู้ ความสามารถในวิชาชีพ ในการประกอบอาชีพสร้างรายได้ 2) การจัดการอาชีวศึกษา ในเรื่องของหลักสูตรที่ต้องพัฒนาให้ทันสถานการณ์ เน้นการใช้สื่อเทคโนโลยีในการเรียนการสอน และการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ 3) การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง แล้วนำไปต่อยอดพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ออกสู่สังคม

ซึ่งทาง สมศ. ได้มีข้อกำหนดว่ากรรมการผู้ประเมินภายนอกจำนวน 3 ท่านต้องมีอย่างน้อย 1 ท่าน ที่เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เกี่ยวข้องในสถานศึกษาประเภทนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในบริบทของสถานศึกษาที่ตรวจประเมิน

โดยการประเมินคุณภาพภายนอกในแต่ละรอบ สถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาจะได้รับข้อเสนอแนะจากทาง สมศ. ซึ่งหากสถานศึกษานำไปปรับใช้ตามคำแนะนำก็จะเป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษา และหลังการประเมิน สมศ. ก็ยังคงติดตามร่วมกับ สอศ. เพื่อเป็นที่ปรึกษาหากมีข้อปัญหาในการนำผลประเมินไปใช้

“สำหรับข้อเสนอแนะที่ให้แก่สถานศึกษาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเพิ่มทักษะและเครื่องมือในการศึกษาภาคปฏิบัติ เพราะการลงมือปฏิบัติถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในสายอาชีพเป็นอย่างมาก การลงมือปฏิบัติ 1- 2 ครั้ง อาจไม่เพียงพอในการสร้างความรู้ความเข้าใจ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการลงมือปฏิบัติซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จนเกิดความเชี่ยวชาญและชำนาญการ

การเพิ่มจำนวนและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของครูผู้สอน เพราะสถานศึกษาบางแห่งอาจมีผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญไม่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน สถาบันการศึกษาควรส่งเสริมผู้สอนในการเข้าศึกษาต่อเพื่อเพิ่มทักษะและความรู้เฉพาะด้าน และเพิ่มจำนวนผู้สอนให้เหมาะสมกับผู้เรียน การเปิดสาขาวิชาเรียนที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน ในบางพื้นที่

เช่น จังหวัดระยองในโครงการ Eastern Economic Corridor (EEC) ที่ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่มีความต้องการผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาที่ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น ด้านแมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ ค่อนข้างมาก สถานศึกษาจึงควรเร่งผลิตผู้เรียนในกลุ่มสาขาวิชานี้มารองรับให้ทันต่อความต้องการของตลาดแรงงาน”

“ทั้งนี้การประเมินคุณภาพภายนอก จึงเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนให้กับสถานศึกษาทราบถึงจุดที่ต้องพัฒนา เพื่อนำข้อเสนอแนะไปเป็นแนวทางในการพัฒนาผู้เรียน ผู้สอนให้มีศักยภาพมีความเหมาะสมตามที่ตลาดแรงงานต้องการ ตรงตามมาตรฐานกำหนด อีกทั้งยังสามารถนำไปเป็นข้อมูลในการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้”