ตลาดแรงงานไทยปี’65 ฟื้นตัวช้า จากผลกระทบที่ยืดเยื้อของโควิด

ตลาดแรงงาน
ภาพ: ILO/Alin Sirisaksopit

ILO สำรวจตลาดแรงงานไทย แรงงานอายุ 15-24 ปีว่างงานสูง ผลจากมาตรการควบคุมโควิด-19 และเป็นไปได้ว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานปี 2565 จะเกิดแบบไม่สม่ำเสมอและช้า

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ (International Labour Organization: ILO) เปิดเผยผลสำรวจการว่างงานในกลุ่มแรงงานเยาวชน หรือคนวัยหนุ่มสาว (อายุ 15-24 ปี) ในประเทศไทยว่า แตะระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

โดยตามรายงานล่าสุดของไอแอลโอ (ที่สำรวจเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2564) ระบุว่า ตลาดแรงงานไทยมีการจ้างงานแรงงานคนวัยหนุ่มสาวที่อายุ 15-24 ปี ลดลงร้อยละ 7 ในไตรมาส 1 ของปี 2564 (เทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการแพ่รระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย) ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จุด ซึ่งสูงถึงร้อยละ 6 และร้อยละ 8 ตามลำดับ

ในรายงานระบุด้วยว่า มาตราการการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการจ้างงานในสถานประกอบการขนาดเล็กที่มีการจ้างแรงงานน้อยกว่า 50 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ้างงานคนวัยหนุ่มสาวได้รับผลกระทบมากที่สุดในสถานประกอบการขนาดนี้ ซึ่งอัตราการจ้างงานชายลดลงร้อยละ 18 และอัตราการจ้างงานหญิงลดลงร้อยละ 24

ทั้งนี้ เปรียเทียบระหว่างไตรมาส 4 ของปี 2562 และไตรมาส 1 ของปี 2564 จำนวนชั่วโมงการทำงานทั้งหมดลดลงร้อยละ 7 (หรือเทียบเท่าการลดลงของการจ้างงานเต็มเวลาจำนวน 2 ล้านชั่วโมง) และการฟื้นตัวที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพในด้านชั่วโมงการทำงานและการจ้างงานในไตรมาส 1 ของปี 2564 มีทิศทางตรงกันข้ามกับครึ่งหลังของปี 2563 อันเนื่องมาจากการระบาดระลอกใหม่ในช่วงต้นปี 2564

ที่ผ่านมาการแพร่ระบาดได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยตลอดช่วงไตรมาส 2 และไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ซึ่งข้อกังวลประการหนึ่งที่ไอแอลโอระบุคือ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 4 ของปี 2564 เพราะความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีการบังคับใช้ในไตรมาส 3 ของปี 2564 เทียบเท่ากับความเข้มงวดของมาตรการในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ดังนั้น อาจคาดการณ์ได้ว่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอาจมีขนาดใกล้เคียงกับที่เคยเกิดขึ้นในไตรมาส 2 ของปี 2563

เมื่อเปรียบเทียบวิกฤตทางการเงินในปี 2564 กับวิกฤตทางการเงินปี 2541 ผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจในปี 2564 อาจจะใหญ่กว่ามาก เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 มีความยืดเยื้อยาวนานแม้ว่าจะมีการฟื้นตัวอยู่บ้างในปี 2564 แต่ระดับของ GDP ในไตรมาส 2 ของปี 2564 ยังไม่ฟื้นกลับมาสู่ระดับเดียวกันกับปี 2562

สำหรับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในไตรมาส 2 ของปี 2564 คือ ภาคธุรกิจที่พักอาศัยและบริการอาหาร ภาคขนส่งและคลังสินค้า และภาคธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก ซึ่งทั้ง 3 ภาคธุรกิจนี้มีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 30 ของ GDP

ส่วนธุรกิจที่เริ่มมีการฟื้นตัว ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม และภาคการผลิต เป็นต้น ขณะที่ภาคธุรกิจที่ขยายตัวต่อเนื่องในช่วงการระบาดใหญ่ ได้แก่ ภาคธุรกิจก่อสร้าง ด้านข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร และภาคอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น มีความไม่สมดุลเกิดขึ้นระหว่างภาคการผลิตต่าง ๆ และหากไม่สอดคล้องกันเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจส่งผลให้ตลาดแรงงานสถานการณ์เลวร้ายลงและกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

ถึงแม้การจ้างงานเติบโตขึ้นในหลายภาคการผลิต ภาคการเงิน การประกันภัย การศึกษา และก่อสร้าง แต่ตามมาด้วยการลดลงของผลิตภาพ ส่วนภาคเกษตรกรรมประสบปัญหาการจ้างงานอย่างมาก และปัญหาผลิตภาพที่ลดลงระหว่างไตรมาส 4 ของปี 2562 และไตรมาส 1 ของปี 2564

ทั้งนี้ ความรุนแรงและระยะเวลาของวิกฤตโควิด-19 ยังคงเป็นสิ่งที่น่ากังวล และจำเป็นต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจะยิ่งทำให้ผลิตภาพและค่าจ้างจากการทำงานลดลง และการกระจายการเติบโตของรายได้ในทุกภาคส่วนที่ไม่เท่าเทียมกัน

โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รายได้เฉลี่ยต่อเดือนตามค่ามัธยฐานมีค่าคงที่ โดยมีสัญญาณบ่งบอกการเติบโตเล็กน้อยในหลายภาคการผลิต ในขณะเดียวกัน ค่าจ้างรายเดือนทั้งหมดเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ในไตรมาส 1 ของปี 2564

ทั้งนี้ มีการกระจายการเพิ่มขึ้นหรือการลดลงของรายได้ในทุกภาคส่วนไม่เท่ากัน โดยภาคการผลิตมีสัดส่วนค่าจ้างรายเดือนที่ใหญ่ที่สุด (ร้อยละ 25) ในไตรมาส 4 ของปี 2562 และนับจากช่วงเวลาดังกล่าวพบว่าค่าจ้างรายเดือนเติบโตขึ้นร้อยละ 4

ภาคธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกเติบโตขึ้นร้อยละ 14 คิดเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดรองจากภาคการผลิต แต่พบว่าค่าจ้างที่ได้รับลดลงร้อยละ 9 ในช่วงเวลาเดียวกัน ภาคการศึกษาเติบโตขึ้นร้อยละ 12 (ซึ่งในไตรมาส 4 ของปี 2562 มีการเติบโตคิดเป็นร้อยละ 10)

ส่วนภาคธุรกิจการที่พักอาศัยและบริการอาหาร และภาคขนส่งและการบริการคลังสินค้า ได้รับผลกระทบจากการลดลงของค่าจ้างอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือที่ร้อยละ 13 และร้อยละ 10 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อันเนื่องมาจากอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น และการประกาศมาตรการผ่อนคลายการเดินทางข้ามประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2564 มีความเป็นไปได้ว่าการฟื้นตัวจะเกิดขึ้น แต่เป็นแบบไม่สม่ำเสมอ และเป็นไปอย่างช้า ๆ ในไตรมาส 4 ของปี 2564 และในปี 2565


นายแกรม บัคเลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่า “ผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างรุนแรงในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว และสถานประกอบการขนาดเล็ก การมีมาตรการช่วยเหลือที่เฉพาะเจาะจงลงไปในภาคธุรกิจหลักและกำลังแรงงานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัว พร้อม ๆ ไปกับความพยายามอย่างต่อเนื่องในการให้ทุกคนได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งรวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย”