กรมชลประทาน 120 ปี พัฒนาแหล่งน้ำแล้ว 35 ล้านไร่

เกษตรฯ ฉลองครบรอบ 120 ปี กรมชลประทาน โชว์ศักยภาพขับเคลื่อนสู่เป้าหมายองค์กรอัจฉริยะด้านน้ำ พัฒนาโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริในทุกพื้นที่มากกว่า 2,000  โครงการ พัฒนาพื้นที่ชลประทานไปแล้วกว่า 35.04 ล้านไร่ เดินหน้าสร้างประสิทธิภาพการจัดสรรน้ำ การบริการคุณภาพส่งถึงประชาชน

วันที่ 13 มิถุนายน 2565 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “120 ปี กรมชลประทาน 6 รัชกาล งานของแผ่นดิน” ว่า

ตลอดระยะเวลา 120 ปีที่ผ่านมา กรมชลประทานได้พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในทุกภาคส่วนกระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวม 21,463 แห่ง คิดเป็นปริมาณน้ำรวมประมาณ 83,101 ล้านลูกบาศก์เมตร พัฒนาพื้นที่ชลประทานไปแล้วกว่า 35.04 ล้านไร่ โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้กว่า 51.08 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ประมาณ 94,961 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในปี 2580 โดยมุ่งหวังสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น

“กรมชลประทานคือหน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำให้กับประชาชนทั้งประเทศ ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำให้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบน้ำแล้ว ยังรวมถึงการแก้ไขปัญหาทั้งภัยแล้งและอุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนด้วย

อย่างไรก็ตาม ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่กรมชลประทานต้องการจะขับเคลื่อนงานให้สำเร็จลุล่วง รวมถึงการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบมากขึ้น จึงเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะไม่มีวันขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงจะสามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้รักษาระบบนิเวศ ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมได้อย่างแน่นอน”

Advertisment

พร้อมกันนี้ ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานชลประทานทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการ On ground รวม 76 จังหวัดทั่วประเทศ มีนิทรรศการด้านการชลประทาน กิจกรรมเสวนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเครือข่ายชลประทานทุกภูมิภาครวม 67 หัวข้อ โดยวิทยากรระดับจังหวัด อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด และเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำ เป็นต้น

รวมถึงกิจกรรม “รักษ์น้ำ ปลูกป่า” ร่วมกันปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั่วประเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้ จำนวน 22,930 ต้น สำหรับที่ส่วนกลาง จัดเวทีเสวนาโดยวิทยากรมากประสบการณ์จากสายงานต่าง ๆ มีการแจกกล้าไม้ อาทิ ยางนา สัก พะยูง รวม 3,350 ต้น ให้ผู้ลงทะเบียนร่วมงาน และมีร้านจำหน่ายผลผลิตและสินค้าแปรรูปจากเกษตรกรในพื้นที่ชลประทานในงาน

Advertisment

อีกทั้ง กรมชลประทานยังได้จัดนิทรรศการเสมือนจริงต่อเนื่องเป็นปีที่สาม โดยครั้งนี้จะได้สัมผัสเรื่องราวความมหัศจรรย์แห่งสายน้ำเพื่อชีวิต “The miracle of water for life” ในรูปแบบนิทรรศการเสมือนจริง 3 มิติ การเดินทางของสายน้ำตลอด 120 ปี

ด้าน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลา 120 ปี แห่งการกำเนิดและวิวัฒนาการงานชลประทานในประเทศไทย นับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ผู้ก่อตั้งกรมคลอง เปลี่ยนเป็นกรมทดน้ำในรัชกาลที่ 6 และเป็นกรมชลประทานในรัชกาลที่ 7 การพัฒนางานชลประทานในประเทศไทยได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ 9 ที่งานด้านการชลประทานได้รับการพัฒนาอย่างกว้างขวางครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาศึกษาและก่อสร้าง โครงการชลประทานประเภทและขนาดต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศ และภูมิสังคม รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในการอุปโภคบริโภค การเกษตร และกิจกรรมอื่น ๆ มีโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริในทุกพื้นที่มากกว่า 2,000  โครงการ

“ขอเชิญชวนร่วมชมนิทรรศการเนื่องในโอกาสครบรอบ 120 ปี กรมชลประทาน พร้อมกิจกรรมเสวนาและแจกของรางวัลมากมายจากส่วนภูมิภาค 76 จังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 13 -15 มิถุนายน 2565 และร่วมสัมผัสเรื่องราวความมหัศจรรย์แห่งสายน้ำเพื่อชีวิต “The miracle of water for life” ในรูปแบบนิทรรศการเสมือนจริง ตลอดจนร่วมบริจาคให้กับศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน ผ่านทางเว็บไซต์ 120 ปี กรมชลประทาน ได้ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป” นายประพิศ กล่าว