เขาคิชฌกูฏ สหกรณ์ต้นแบบส่งออกทุเรียน GAP Plus ครองใจจีนเหมายกสวน

ทุเรียน

“เขาคิชฌกูฏ” สหกรณ์ต้นแบบส่งออกทุเรียนตลาดจีน ทูตจีนมั่นใจเป็นไปตามมาตรฐานจีเอพี พลัส (GAP Plus)

วันที่ 16 มิถุนายน 2565 นายมนัส พลคิด ประธานสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด เปิดเผยภายหลัง พบนายหาน จื้อเฉียง (H.E. Mr.Han Zhiqiang) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย และคณะเดินทางมาเยี่ยมชมกิจการของสหกรณ์ว่า คณะผู้บริหารระดับสูงฝ่ายการเกษตรและการพาณิชย์จีนลงพื้นที่ดูกระบวนการทำงานการรวบรวมผลผลิตทุเรียน ภายใต้มาตรการ Zero Covid เพื่อรักษาคุณภาพของผลผลิตให้ปลอดภัย ได้มาตรฐานของสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคอย่างมาก

เนื่องจากประเทศจีนเป็นตลาดหลักในการรองรับผลไม้ชนิดดังกล่าว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ท่านทูตจีนและคณะมาเยี่ยมชมกิจการของสหกรณ์ รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ให้ความสำคัญกับสหกรณ์เล็ก ๆ อย่างเขาคิชฌกูฎ โดยสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้สมาชิกวางแผนการผลิตควบคู่กับวางแผนการตลาดโดยการส่งเสริมให้มีกลุ่มผู้ผลิตสินค้าคุณภาพ ได้แก่ กลุ่มทุเรียน กลุ่มมังคุด กลุ่มเงาะ ซึ่งที่ผ่านมาสหกรณ์มีความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจ รวบรวมผลผลิต

โดยสามารถรวบรวมผลผลิตทุเรียน มังคุด จากสมาชิกได้เฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ตัน มีมูลค่ากว่า 239 ล้านบาท เพื่อจำหน่ายไปยังบริษัทส่งออก โดยในฤดูกาลผลิตปี 2565 สหกรณ์มีการรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกจำนวน 4,510 ตัน แบ่งเป็นมังคุดจำนวน 3,800 ตัน เงาะจำนวน 10 ตัน และทุเรียน 700 ตัน

ทั้งนี้ สหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2537 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 1,322 ราย เป็นสมาชิกสามัญ 1,125 ราย และสมาชิกสมทบ 197 ราย สหกรณ์มีการดำเนินธุรกิจ 4 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย และธุรกิจรวบรวมผลผลิต ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่สหกรณ์เฉลี่ยปีละ 300 ล้านบาท สหกรณ์ฯมีทุนดำเนินงาน 73 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 4.04 ล้านบาท โดยสหกรณ์ผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรฐานสหกรณ์อยู่ในระดับดีเลิศ มีประสิทธิภาพในการบริหารงานและจัดการองค์กร ซึ่งผลการประเมินชั้นคุณภาพของการควบคุมภายในอยู่ในระดับดีมาก

ขณะที่นายสุริยัน ทองธรรมชาติ สหกรณ์จังหวัด (สกจ.) จันทบุรี กล่าวว่า ยอมรับว่าเขาคิชฌกูฏ เป็นสหกรณ์การเกษตรแห่งเดียวของจังหวัดจันทบุรีที่ผลผลิตทั้งหมดส่งออกไปยังประเทศจีน โดยผ่านทางบริษัทส่งออก เนื่องจากมีความพร้อมในกระบวนการผลิตทุกห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่แปลงปลูก การรวบรวมผลผลิต ไปจนถึงการบรรจุใส่ตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งออกไปยังประเทศปลายทางจะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานจีเอพี พลัส (GAP Plus) และจีเอ็มพี พลัส (GMP Plus) อาทิ การสวมหมวก ใส่ถุงมือปิดหน้า ใส่หน้ากากอนามัย ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อตั้งแต่ภายในอาคารสถานที่การรวบรวมผลผลิต จนถึงการขึ้นตู้คอนเทนเนอร์ทั้งภายในและภายนอกรถ

ทุเรียน

“จุดประสงค์ที่ท่านทูตจีนลงไปจันทบุรี ก็ไปดูในบริบทการส่งออกผลไม้ เพราะช่วงที่ผ่านมาเราเจอด่านปิดบ้าง ติดโควิด-19 บ้าง ท่านก็เลยลงมาดูใน 3 จุดด้วยกัน คือ จุดแรกแปลงปลูกทุเรียน เกษตรกรเขามีมาตรฐานขนาดไหน การตัดทุเรียน ตัดแก่ตัดอ่อน ใช้คนงานมีเครื่องป้องกันในเรื่องของโควิดหรือไม่อย่างไร จุดที่ 2 เป็นจุดรวบรวมผลผลิต 2 จุด คือ ของบริษัทเอกชนหรือล้ง และของสหกรณ์เขาคิชฌกูฏ เขารู้สึกประทับใจในการดำเนินงานของสหกรณ์ที่เข้มงวดในทุกขั้นตอน เป็นไปตามมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร”

นอกจากนี้ นายหาน จื้อเฉียง (H.E. Mr.Han Zhiqiang) ยังได้ให้ความสำคัญกับการเป็นสมาชิกสหกรณ์ของเกษตรกรในพื้นที่ โดยเรียกร้องให้เกษตรกรมาเป็นสมาชิกสหกรณ์และทำงานร่วมกับสหกรณ์มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ขณะที่กฎเกณฑ์ของสหกรณ์ว่าด้วยเรื่องสมาชิกก็มีข้อจำกัด เนื่องจากตามระเบียบแล้วผู้ที่เป็นสมาชิกสหกรณ์จะต้องเข้ามาด้วยความสมัครใจเท่านั้น ขณะเดียวกัน เกษตรกรจะต้องเป็นสมาชิกสหกรณ์ได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

“ท่านแฮปปี้ ท่านคอมเม้นต์เรื่องเดียวถามมีเกษตรกรสมาชิกกี่คน เราตอบไปว่ามีประมาณ 20% ของเกษตรกรในอำเภอเขาคิชฌกูฎ ท่านถามว่าทำไมน้อยจัง อยากให้เกษตรกรมาเป็นสมาชิกสหกรณ์เยอะ ๆ เราก็อธิบายไปว่าในกระบวนการของสหกรณ์นั้นทำด้วยความสมัครใจเป็นอันดับแรก ไม่สามารถไปบังคับเกษตรกรเข้ามาเป็นสมาชิกสหกรณ์ได้ เกษตรกรเขาเป็นคนเลือกว่าจะอยู่ที่ไหน บางคนเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. เป็นลูกค้าธนาคาร บางคนใช้เงินทุนตัวเอง ไม่อยากเข้าไปอยู่ในสังกัดองค์กรใด ๆ”

นายสุริยันระบุอีกว่า ปัญหาอีกประการของเขาคิชฌกูฏ เพราะไม่ใช่อำเภอดั้งเดิม แต่แยกออกมาจากอำเภอมะขาม ดังนั้น เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของสหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัดอยู่แล้ว จึงไม่อยากเปลี่ยนสังกัด เพราะสมาชิกสหกรณ์จะซ้ำซ้อนกันไม่ได้ในภูมิภาคเดียวกัน เพราะฉะนั้น สมาชิกสหกรณ์เขาคิชฌกูฎส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ และเป็นสหกรณ์แห่งเดียวของจังหวัดจันทบุรีที่ส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีน ส่วนผลผลิตของสหกรณ์อื่น ๆ ส่วนใหญ่จะส่งจำหน่ายตลาดภายในประเทศผ่านทางห้างโมเดิร์น เทรดและเครือข่ายสหกรณ์ด้วยกัน

“เหตุผลที่เขาคิชฌกูฏส่งออกจีนได้เพียงสหกรณ์เดียวเป็นเพราะว่าเขามีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ทั้งบุคลากร ฝ่ายจัดการดำเนินการ เครื่องอุปกรณ์การตลาด อาคารสถานที่ อย่างสหกรณ์อื่นส่วนใหญ่มีอาคารเดียว รวบรวมทั้งทุเรียน มังคุด และผลไม้ชนิดอื่น แต่เขาคิชฌกูฎ อาคารแรกคือมังคุด อาคารถัดไปเป็นทุเรียน ถัดไปเป็นห้องเย็น

ถามว่าสหกรณ์อื่นมีศักยภาพทำได้หรือไม่ ก็ต้องมาดูความพร้อม  1.ด้านกายภาพพื้นที่มีมั้ย 2.ความพร้อมเรื่องบุคลากร และ 3.เรื่องของคอนเน็กชั่นระหว่างสหกรณ์ฯกับผู้ส่งออก ตรงนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสหกรณ์ตัดสินใจ เจ้าหน้าที่ทำได้เพียงให้คำแนะนำเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ผลผลิตทุเรียนของจังหวัดจันทบุรีในฤดูกาลผลิตปีนี้ (2565) มีประมาณ 7 แสนตัน ส่งไปจีนประมาณ 5 แสนตัน ผ่านเครือข่ายสหกรณ์และจุดรวบรวมของบริษัทเอกชนหรือล้ง เพื่อส่งต่อไปยังบริษัทผู้ส่งออก ส่วนราคาหน้าสวนไม่ต่ำกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรยังรับได้เมื่อคำนวณ จากต้นทุนอยู่ที่ 50 บาทต่อกิโลกรัม และช่วงนี้ย่างเข้าสู่ปลายฤดู คาดว่าผลผลิตทุเรียนในจันทบุรีจะเก็บเกี่ยวหมดประมาณสิ้นเดือนมิถุนายนนี้