“อุบลไบโอฯ” ลุยขายแป้งมัน ทดแทนแป้งสาลีวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

แป้งมันสำปะหลัง
PHOTO : PIXEL BY Klaus Nielsen
สัมภาษณ์พิเศษ

วิกฤตพลังงานและวิกฤตอาหารโลก หลังสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อปริมาณซัพพลายผลผลิตข้าวสาลี ปุ๋ย น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติลดลงและราคาสูงขึ้น แต่กลับกลายเป็นโอกาสของไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญ โดยเฉพาะ “มันสำปะหลัง” ที่ไทยส่งออกเบอร์ 1 ของโลก “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นางสาวสุรียส โควสุรัตน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อุบลไบโอ เอทานอล หรือ UBE ผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังและเอทานอลรายใหญ่ที่สุดในอีสานใต้ ถึงอนาคตธุรกิจหลังวิกฤต ใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก เอทานอล แป้ง (สตาร์ช แป้งฟลาว) และเกษตรอินทรีย์

ลุยตลาดแป้งทดแทนแป้งสาลี

ภาพรวมไตรมาส 1 กำไรสุทธิเติบโต 200% เทียบกับไตรมาส 1/2564 รายได้ 1,000 เป็น 1,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% หลัก ๆ มาจากยอดขายแป้งมันสำปะหลัง โดยเฉพาะแป้งออร์แกนิก

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้หลักของบริษัทมาจากเอทานอล 65% แป้งมันสำปะหลัง 30% และที่เหลือเป็นเกษตรอินทรีย์ โดยหลัก ๆ จะเป็นตลาดส่งออก 90-95% เหลือขายในประเทศ 5-10% ตลาดส่งออกสำคัญเป็นตลาดอเมริกา-ยุโรป 40-50% อีก 60% สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมส่งออกไปจีน
ผลจากวิกฤตรัสเซีย

“วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนทำให้ปริมาณแป้งสาลีลดลง ราคาวีต ข้าวโพด ข้าวสาลีเพิ่มขึ้นทั่วโลก นี่จึงเป็นอานิสงส์ เพราะแป้งมันสตาร์ช เป็นเบสที่ถูกที่สุดแล้ว สินค้าเราสามารถทดแทนแป้งสาลีได้เลย จากปกติที่จะมีการใช้แป้งมันเป็นส่วนผสมในทุก ๆ สินค้า ทั้งแป้งมาม่า ซอส แคปซูลยา ย้อมผ้า กระดาษก็ใช้แป้งหมด หลังจากที่เกิดปัญหาต้นทุนผลิตบะหมี่แพง โชคดีที่เมืองไทยมีมันสำปะหลัง ตัวแป้งที่ราคาย่อมเยาที่สุด”

“ตอนนี้เราติดต่อกับกลุ่มลูกค้าหลายเจ้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อศึกษาเรื่องปรับสูตรหรือสัดส่วน ไปใช้ได้ทดแทนวีต กำลังเริ่มทดลองกันอยู่ หรือแม้แต่ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอาหารสัตว์พรีเมี่ยมก็ใช้วีต ก็มีเริ่มทดลองเอาแป้งมันสำปะหลังฟลาวไปใช้”

“คุณสมบัติของฟลาวจะเหมือนแป้งสาลี ทำอาหารและทำเบเกอรี่ และการที่คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ซึ่งแป้งฟลาวตอบโจทย์เพราะเป็นกลูเตนฟรีและไฮไฟเบอร์ ในต่างประเทศคนแพ้กลูเตนเยอะ จึงมีร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบกลูเตนฟรีเพิ่มขึ้น และแป้งนี้ยังมีข้อเปรียบเทียบราคาแป้งฟลาวเรา กก.ละ 20 บาท ถูกกว่าแป้งสาลีพุ่งไปถึง 25-26 บาทแล้ว ส่วนฟลาวออร์แกนิก กก.ละ 30 บาท”

3 ปีเพิ่มสัดส่วนธุรกิจอาหาร

“เราจะผันไปทำเรื่องอาหารมากขึ้น ภายใน 3 ปีจะเพิ่มสัดส่วนรายได้กลุ่มอาหารจาก 35% เป็น 65% ส่วนเอทานอล จาก 65% เป็น 35% แม้ว่าจะมองว่าอีวีคาร์มากขึ้นแต่คิดว่าคงเป็น 10 ปีกว่า เอทานอลเราจึงจะโฟกัสไปเป็นโปรดักต์อื่นต่อยอดขึ้นไปอีก กำลังดูเรื่องไบโอพลาสติกน่าจะมีการขยายการลงทุนส่วนนี้ในอีก 3 ปี หรือขั้นสูงสุดคือ ฟาร์มาเกรด แต่ท้ายสุดเรามอเราจะชิปไปเป็นฟู้ดมากขึ้นเพราะถึงอย่างไรคนก็ต้องกินต้องใช้”

หลังจากนี้จะลงทุนมากขึ้น เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคจริง ๆ ตอนนี้บริษัทสร้างแบรนด์แป้ง Tasuko จำหน่ายในไทย ผลิตภัณฑ์บราวนี่ แป้งแพนเค้ก ready to eat บราวนี่กรอบ ในระยะยาวจะออกผลิตภัณฑ์มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง และปีนี้มีแป้งชุบทอด ที่พรีเมี่ยมไฮไฟเบอร์ แต่ราคาดี ได้เชฟเอียนมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ มีเดียมจีไอ ไม่มีผงชูรสด้วย ลงหมดแล้ว โลตัส มินิบิ๊กซี บิ๊กซี ซูเปอร์ชั้นนำ

ลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต

ตอนนี้เรามีโครงการขยายการลงทุน จากที่ได้รับเงิน IPO ที่เข้าตลาดปีที่แล้ว 2,700-2800 ล้านบาท ตามแผนจะนำมาขยายเพิ่มไลน์การผลิตแป้งฟลาว จากวันละ 100 ตัน ไปเป็นวันละ 300 ตัน น่าจะเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2566 คาดว่าจะใช้งบฯลงทุน 300 กว่าล้านบาท

ส่วนแป้งสตาร์ช แป้งมันที่ใช้ในอุตสาหกรรมและอาหาร ก็จะมีการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ให้คาพาซิตี้เยอะขึ้น จากปกติกำลังการผลิตอยู่ที่วันละ 700 ตัน แต่ใช้เครื่องจักรมาหลายปีแล้ว เราปรับปรุงให้เดินแคปตลอดทั้งปี จากปกติจะใช้กำลังการผลิต 6 เดือน เพื่อใช้ยูทิไลเซชั่นเต็มที่ ปกติ 1 แสนตัน

ไม่ทิ้งเอทานอล

ส่วนเอทานอล จะยังลงทุนปรับปรุงสายการผลิต เพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจุบันผลิตได้ 4 แสนลิตร เพิ่มอีก 10% ให้ได้ 4.5 แสนลิตรในปีหน้า

“แนวโน้มตลาดเอทานอลไตรมาส 1 ดีขึ้นกว่าไตรมาส 4 ปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด การใช้น้ำมันลดลง พอเริ่มเปิดประเทศยอดขาย ส่วนไตรมาส 3 เข้าหน้าฝน มันก็จะสโลว์ หลังจากนี้ไตรมาส 4 น่าจะดีขึ้น เพราะสัดส่วนการใช้เอทานอลในน้ำมัน E85 เพิ่มขึ้น เพราะราคาน้ำมันแพงมาก คนก็หันมาใช้น้ำมัน E85 ค่อนข้างเยอะ ตอนนี้น้ำมันเบนซิน 40 กว่าแต่ E85 ลิตรละ 37-38 บาท”

นอกจากผลิตเอทานอลเชื้อเพลิงให้โรงกลั่นไปผสมเบนซินแล้ว ยังมีเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมที่ใช้ผสมเป็นเจลล้างมือด้วย ซึ่งแม้ว่าโควิดจะคลี่คลายลง แต่ดีมานด์ดีต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคเริ่มติดการใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ทางเราผลิตเป็นแอลกอฮอล์แกลลอน จำหน่ายในออนไลน์ ช้อปปี้ และทำเป็นแบรนด์ KLAR Hand Sanitizer Winter สัดส่วนจะเป็นขายส่งเป็นวัตถุดิบให้ลูกค้า 70% และแบรนด์ 30% จากกำลังการผลิตทั้งหมด 140 ล้านลิตร

“ราคาและมาร์จิ้นดีกว่าการขายเอทานอลที่ผสมน้ำมัน อนาคตเรามีแผนมาร์เก็ตติ้งที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตจำหน่ายเกรดอุตสาหกรรมมากขึ้น 10% ในปีหน้าด้วย”

ราคามันสำปะหลังพุ่ง 3 บาท

ราคามันสำปะหลังวัตถุดิบหลักปรับราคาสูงขึ้นตามตลาดโลก ราคาเฉลี่ยปีนี้ กก.ละ 2.70-3.00 บาท เราผลิต 4 แสนลิตร ใช้มันเส้นวันละ 1,200 ตัน หรือคิดเป็น 2,400 ตันหัวมันสด (คูณสอง) ภาพรวมผลผลิตประเทศไทยไม่เพียงพอใช้ ต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้ผลิตนาน 40 ปีแล้ว แต่เราบริหารจัดการวัตถุดิบล่วงหน้า แป้งสตาร์ชมีวัตถุดิบเพียงพออยู่แล้ว แต่เราจะเพิ่มในส่วนของแป้งออร์แกนิกมากขึ้น

เดิมบริษัทมีโครงการ “อุบลโมเดล” ทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งมันสำปะหลังอินทรีย์ ในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานใต้ (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ) เมื่อ 7-8 ปีก่อน 10,000 ไร่ แต่เรามีเป้าหมายจะขยายเป็น 1 แสนไร่ในปี 2569 โดยร่วมมือกับเกษตรกร ภาครัฐส่งเสริม เพื่อรองรับตลาดแป้งออร์แกนิกที่โตขึ้นเรื่อย ๆ โดยปีก่อนยอดขาย 40,000 ตัน เราก็จะทำวัตถุดิบล่วงหน้าไว้ก่อน ซึ่งปีนี้ยอดขายแป้งจะโต 10-15% โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและอเมริกา

ชูโมเดลธุรกิจ BCG

“สิ่งที่เรารับซื้อมาก็จะถูกแปลงเป็นสินค้า high value product กระบวนการผลิตแป้งออร์แกนิกจะไม่ใช้สารเคมี ลูกค้าที่ซื้อไป นำไปผลิตเป็นสินค้าพรีเมี่ยมฟังก์ชั่นนอลฟู้ด”

ตอนนี้ผลผลิตต่อไร่ออร์แกนิกเทียบเท่ามันปกติ พีกสุดไร่ละเกือบ 10 ตันหลักสำคัญการปลูกมันสำปะหลังออร์แกนิกจะเน้นการจัดการแปลง 2 ส่วน จากการบำรุงดิน 1) ใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมักรองพื้น 2) แช่ท่อนพันธุ์ จากเดิมแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมี เราทำปุ๋ยชีวภาพ และ 3) การใช้ปุ๋ยหมักเสริม อีกส่วนคือ การให้น้ำระบบน้ำหยด

“พื้นที่ปลูกเพียงพออยู่แล้ว แต่อยู่ที่การเปลี่ยนไมนด์เซต จากที่ทำสำรวจเกษตรกร พบว่ามี 3 กลุ่มคือ A แอนตี้เคมีมากเน้นสุขภาพ กลุ่ม B อยากปรับเปลี่ยนมาอินทรีย์เพราะห่วงลูกหลาน และส่วนกลุ่ม C มาตามกลไกราคา ซึ่งเราให้ราคาแบบคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งบวกเพิ่มเป็น 3.50-4.00 บาท นี่เป็นการบริหารความยั่งยืนด้านวัตถุดิบของเรา”

“โมเดลธุรกิจยั่งยืนทางอุบลไบโอทำมาตั้งแต่ตั้งบริษัท ตอนนี้เราซีโร่เวสต์ทั้งหมด 100% ทำให้เป็น BCG ตั้งแต่หัวมันเข้ามาเป็นเอทานอลหรือแป้งมัน เปลือกมันและกากมันเอาเข้าไบโอแก๊สก่อน นำไปหมักก่อน เพราะมันยังมีแป้งอยู่ แบคทีเรียมันกินได้ก็มีแก๊สออกมา ปั่นไฟ ทำเอทานอล จากนั้นก็เอากากที่ย่อยออกไปแล้วบางส่วนมาขึ้นรูปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้ชาวบ้านในเครือข่ายใช้ต่อ น้ำเสียจากหมักก็เอาไปบำบัดแล้วส่งไปที่แปลงหญ้าเนเปียร์เลี้ยงวัว และรดแปลงมันเรียกว่าครบลูป”

 

UBE ไม่ออกหุ้นกู้ D/E ต่ำ 0.3 เท่า

นายชุณห์ โภไคศวรรณย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบัญชีและการเงิน บมจ.อุบลไบโอ เอทานอล กล่าวว่า เงินจากการทำ IPO ได้ 2,700-2,800 ล้านบาท สามารถใช้ลงทุนได้ตามแผนยังไม่จำเป็นต้องออกหุ้นกู้เพิ่ม และตอนนี้ D/E อยู่ที่ประมาณ 0.3 เท่า

ชุณห์ โภไคศวรรณย์
ชุณห์ โภไคศวรรณย์

“การปรับขึ้นดอกเบี้ย จะกระทบลิมิตเราน้อยกว่าคนอื่นๆ อีกส่วนคือ ตัวที่เป็นดอกเบี้ยแบบลองเทอม ช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำๆ เราก็มีการ ทยอยรีไฟแนนซ์ไปแล้วรอบหนึ่ง อาจจะต้องดูว่าจะทำอะไรได้เพิ่มอีกหรือไม่ ส่วนแผนที่วางไว้ก็ต้องเร่งสปีดให้เร็วขึ้น เงินลงทุนก็เตรียมไว้อยู่แล้ว จะมีพวกโครงการที่เตรียมไว้แล้ว และยังมีโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพต่างๆ ดีบอทเทิลเน็คอีก 500 ล้านบาท ก็จะรีบลงทุน”