ครม.ไฟเขียว บ.เอเชียแปซิฟิคโพแทช คว้าสัปทานเหมือง อุดรธานี

ครม.ไฟเขียว บ.อเชียแปซิฟิคโพแทช คอร์เปอเรชั่น เดินหน้าเหมืองแร่โพแทช แห่งที่ 3 จ.อุดรธานี แก้ปัญหาปุ๋ยแพง คาดสกัดแร่โพแทชเป็นแม่ปุ๋ย 2 ล้านตันต่อปี ประยุทธ์ ห่วง สิ่งแวดล้อม

วันที่ 28 มิถุนายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการดำเนินการโครงการเหมืองโพแทช จังหวัดอุดรธานี ซึ่งจะเป็นแหล่งที่ 3 ที่ได้รับประทานบัตร สืบเนื่องจากบริษัท เอเชียแปซิฟิกโพแทช คอร์เปอเรชั่น ได้รับสิทธิสำรวจแร่โพแทช ตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งขณะนี้บริษัท เอเชียแปซิฟิก ฯ ได้ดำเนินการเพื่อขอประทานบัตรเพื่อขอใบอนุญาตครบทั้ง 3 ขั้นตอนแล้ว ดังนี้

1.รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น 1)การควบคุมวิธีการทำเหมืองให้มีความมั่นคงแข็งแรงไม่ให้เกิดการทรุดตัวที่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างที่อยู่อาศัยบนผิวดิน 2)มาตรการการจัดการกองเกลือ ฝุ่นเกลือ และน้ำเค็มของโครงการ

2.การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ทางตัวแทนกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ร้อยละ 63 เลือกที่จะให้มีการพัฒนาโครงการทำเหมืองบางพื้นที่อย่างมีเงื่อนไข กล่าวคือ มีมาตรการเพื่อลดกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน มีการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่มาใช้พัฒนาชุมชนอย่างเหมาะสม และผู้ได้รับผลกระทบจะต้องได้รับค่าชดเชยที่เหมาะสม

3.การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 โดยล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย.2559 จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 2,000 คน มีผู้ไม่เห็นด้วยประมาณ 100 คน แต่ไม่ได้เป็นการลงมติ จึงไม่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินโครงการ และในปี 2562 คณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทนได้พิจารณากำหนดกรอบวงเงินค่าทดแทนกรณีมีการทำเหมืองใต้ดินให้แก่เจ้าของที่ดิน วงเงินรวม 1,200 ล้านบาท ซึ่งบริษัทเอเชีย แปซิฟิคฯ เป็นผู้รับผิดชอบ

น.ส.รัชดากล่าวว่า รายละเอียดของโครงการจะทำอยู่ในพื้นที่ 4 แปลง ครอบคลุม ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี โดยทำเหมืองใต้ดินครอบคลุมพื้นที่ 26,446 ไร่ และพื้นที่บนดิน 1,681 ไร่ คาดว่าจะสามารถสกัดโพแทชออกมาได้ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี

ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าแร่โพแทชซึ่งเป็นแม่ปุ๋ยสำคัญที่ประเทศต้องการใช้อย่างมาก เพราะปัจจุบัน แม่ปุ๋ย NPK นำเข้าจากต่างประเทศเกือบ 100 % โดยไทยนำเข้าแร่โพแทชประมาณ 8 แสนตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 7,600 – 10,000 ล้านบาท

น.ส.รัชดากล่าวว่า ก่อนนี้มี 2 บริษัท ที่ได้ระบประทานบัตรทำเหมืองแร่มาแล้ว แต่ยังไม่ได้สกัดโพแทชออกมา ได้แก่ 1.บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) จังหวัดชัยภูมิ แต่ยังระดมทุนไม่ครบ และ

2.บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา แต่ยังไม่ได้เปิดการทำเหมือง อยู่ระหว่างขุดอุโมงค์ใต้ดิน แต่ยังติดปัญหาทางเทคนิค จึงยังไม่สามารถสกัดแร่โพแทชออกมาได้ หากทั้ง 3 แห่งสามารถทำได้ เราจะมีแหล่งโพแทชจำนวนมาก

สำหรับกำลังการผลิตทั้ง 3 แห่ง ประมาณ 3.2 ล้านตันต่อปี ได้แก่ 1.เหมืองแร่โพแทช อุดรธานี 2 ล้านตันต่อปี 2.ชัยภูมิ 1.1 ล้านตัน และ 3.ไทยคารีส จ.นครราชสีมา 1 แสนตัน อย่างไรก็ตามเบื้องต้นยังไม่สามารถใช้ได้เต็มที่ อาจจะได้ 50%

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมกล่าวว่าหลังจากครม.อนุมัติโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานีไปแล้วกรมเหมืองแร่จะพิจารณาและรีบดำเนินการให้ได้บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตเพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์

โดยให้สามารถนำโพแทชไปผสมเป็นแม่ปุ๋ย ทำให้ราคาปุ๋ยถูกลง สำหรับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในการทำเหมืองโพแทช กรมทรัพยากรธรณีดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว และพิจารณาแล้วว่า ข้อกำหนดที่กระทรวงอุตสาหกรรมทำมาโดยตลอดและหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมก็ไปดูแล้วว่าสามารถดำเนินการได้จึงนำเสนอเข้าที่ประชุมครม.

ผู้สื่อข่าวถามว่า ระยะเวลาในการเปิดเหมืองจะใช้เวลานานแค่ไหน นายสุริยะกล่าวว่า เอกชนอยากให้เร็วที่สุด 6 เดือน หรือ 1 ปี น่าจะออกมาได้ ซึ่งปริมาณการผลิตจะค่อย ๆ เริ่ม เบื้องต้น 2 ล้านตันต่อปี

นายสุริยะกล่าวว่า วันนี้มีการพูดถึงโครงการเหมืองแร่อาเซียน-โพแทช ซึ่งรัฐบาลต้องลงทุน 20 % แต่รมว.คลังในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมาพยายามเสนอให้รัฐวิสาหกิจไปลงทุน เพราะเป็นข้อตกลงรัฐต้องลงทุน 20 % แต่รัฐวิสาหกิจไม่มีใครสนใจ กระทรวงการคลังจึงเสนอให้บริษัทเอกชนทั่วไปได้หรือไม่ ซึ่งครม.ในขณะนั้นไม่เห็นด้วย จึงขอให้กระทรวงการคลังกลับไปพิจารณาใหม่ เรื่องจึงค้างอยู่จนถึงทุกวันนี้

“ถ้ามีความจำเป็นก็ต้องไปดู แต่นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงว่าโครงการนี้ แร่ชนิดนี้จะแตกต่างจากแร่ที่จังหวัดอุดรฯ แร่ชนิดนี้การกำจัดเกลือลำบาก นายกรัฐมนตรีจึงเป็นห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อม”