เครื่องประดับส่งออกพุ่ง 20% ลุยจัด “บางกอกเจมส์” ดึงลูกค้าเข้าประเทศ

อัญมณีและเครื่องประดับ

 

4 เดือนส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโตพรวด 42% ส.อ.ท.มั่นใจทั้งปี’65 โต 20% จากแรงหนุนงานบางกอกเจมส์ฯ ก.ย. 65 เปิดประเทศ ไม่ประมาทจับตาครึ่งปีหลัง ศก.โลก ผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครนดันเงินเฟ้อพุ่งกระทบต่อกำลังซื้อประชาชน วอนรัฐช่วยเว้นภาษี VAT เครื่องเงิน-สร้างแรงงานฝีมือเสริมแกร่งอุตสาหกรรมดันไทยฮับอัญมณีโลก

นายวิบูลย์ หงษ์ศรีจินดา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการส่งออกในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับทั้งปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 20% เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา ซึ่งติดลบ 44.84% เป็นผลมาจากการส่งออกทองคำไม่ขึ้นรูปหดตัว 70.88% ซึ่งแม้ว่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจะยังขยายตัว 26.58% แต่ภาพรวมการส่งออกทั้งอุตสาหกรรมในปีที่ผ่านมาหดตัว

วิบูลย์ หงษ์ศรีจินดา

อย่างไรก็ดี ในการส่งออกปีนี้ยังมองว่าสดใส ล่าสุดในช่วง 4 เดือนแรกเติบโตกว่า 42% แล้ว และหากเศรษฐกิจขยายตัว เงินเฟ้อไม่สูงมาก เชื่อว่าการส่งออกมีโอกาสจะขยายตัวมากกว่า 20% แน่นอน

ปัจจัยที่ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวในปีนี้ มาจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกลับมาจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (งานเจมส์) ในวันที่ 7-11 กันยายน 2565 ในรูปแบบออนไซต์ที่ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี ควบคู่กับการจัดงานแสดงสินค้าแบบออนไลน์ด้วย ซึ่งทำให้ผู้นำเข้าและผู้ซื้อจากทั่วโลกสามารถเดินทางเข้าร่วมงานได้มากยิ่งขึ้นในปีนี้

“การกลับมาจัดงานนี้ครั้งแรกตั้งแต่ที่มีปัญหาของโควิด-19 จะช่วยการขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ช่องทางการส่งออกที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกปรับตัวในการส่งออก รวมไปถึงการซื้อ-ขายทองคำเพื่อการเก็งกำไรมากขึ้นในปีนี้ และสินค้าไทยยังเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภค ประกอบกับคู่แข่งอย่างอินเดียยังมีปัญหาโควิด”

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบการส่งออกจะมาจากปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลกทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ผู้บริโภคใช้จ่ายระมัดระวัง ซื้อสินค้าที่จำเป็น ปัญหารัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อเพราะตลาดรัสเซียก็ถือว่าเป็นตลาดส่งออกสำคัญ เมื่อมีปัญหาส่งผลให้การแลกเปลี่ยนเงินตราไม่สามารถแลกเป็นเหรียญสหรัฐเพื่อการซื้อ-ขายได้ จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินรูเบิล

ปัญหาของวัตถุดิบโดยเฉพาะโลหะที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้ผลิตต้องวางแผนในการซื้อวัตถุดิบในการผลิตอย่างรอบคอบมากขึ้น และส่งผลต่อต้นทุนและราคาสินค้าด้วย นอกจากนี้ ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ก็ยังเป็นสิ่งที่กังวลว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ และการที่ตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดพลอยหลักของไทยยังมีมาตรการเข้มงวดด้านการตรวจสอบโควิด-19 ทำให้การส่งออกอาจจะชะลอตัวบ้างแต่ยังคงไม่กระทบต่อเป้าหมายโดยรวมที่มองไว้

นายวิบูลย์กล่าวว่า ในอนาคตหากประเทศไทยจะผลักดันให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนในเรื่องของอัตราภาษีเพชร พลอย เพราะปัจจุบันภาษีพลอยมีอุปสรรคต่อการค้ามาก รัฐยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ในโลหะเงินให้เหมือนทองคำ มีมูลค่าเหมือนกัน วิธีการนี้จะทำให้สินค้าไทยสามารถช่วงชิงความได้เปรียบจากคู่แข่งในช่วงนี้ได้

พร้อมกันนี้ภาคอุตสาหกรรมต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนในการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม โดยอาศัยความร่วมมือกับสถาบันอาชีวะในการจัดอบรมหลักสูตรเฉพาะโดยตรงในอุตสาหกรรมนี้

“หากจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับของโลก ต้องแก้ปัญหาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับยังขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก และไม่มีหลักสูตรที่สอนในด้านนี้โดยเฉพาะ มีเพียงโรงงานแต่ละแห่งสอนบุคลากรของตนเอง บ้านช่างทองหลวงที่มีสอนและอบรมบ้างแต่ก็ยังไม่เพียงพอ และแรงงานฝีมือที่มีปัจจุบันก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะไม่มีผู้สืบทอด ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาช่วยและสนับสนุน หากมีแรงงานฝีมือสร้างงานคุณภาพก็จะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศไทย

ซึ่งในเร็ว ๆ นี้กลุ่มจะหารือกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท.ให้ช่วยนำเสนอแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อภาครัฐ ใช้โอกาสที่ประเทศคู่แข่งยังไม่ฟื้นตัวจากโควิดช่วงชิงความได้เปรียบ เพราะไทยก็มีมาตรการผ่อนคลาย จะปรับสู่การเป็นโรคประจำถิ่น สามารถจัดกิจกรรมงานแสดงสินค้าได้แล้ว เชื่อว่าจะผลักดันการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ให้มีโอกาสเติบโตได้ในปีนี้”

สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำขึ้นรูป 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน 2565) มีมูลค่า 2,564 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 42.96% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากรวมทองคำไม่ขึ้นรูป มีมูลค่า 6,607 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 158.94% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

และหากแยกเป็นส่งออกเพชร มีมูลค่า 673 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 67.25% พลอย มีมูลค่า 328 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 64.81% เครื่องประดับเงิน มีมูลค่า 563 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.24% เครื่องประดับทอง มีมูลค่า 552 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 45.45% และทองคำไม่ขึ้นรูป มีมูลค่า 4,943 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 509.71% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน