CPTPP จ่อเข้า ครม. อีกรอบ สภาองค์กรของผู้บริโภค จี้รัฐแก้ 9 ข้อกังวล

ลือสะพัด กนศ.จ่อชง CPTPP เข้า ครม. 12 ก.ค.65 สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิด ‘งานวิจัยเปรียบเทียบผลได้ – ผลเสีย ถ้าไทยเข้าร่วม CPTPP’ 9 ข้อกังวัลต้องแก้

วันที่ 3 กรกฎาคม 2565 รายงานข่าวสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า มีกระแสข่าวว่าคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จะประชุมสรุป และเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณา ขอเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก CPTPP วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม 2565

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 กรกฏาคม 2565 นี้จะครบรอบ1 ปี ที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือถึงสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ที่มีใจความโดยสรุปว่า นายกรัฐมนตรีมอบให้กระทรวงพาณิชย์ประสานงานกับสภาองค์กรของผู้บริโภค ในประเด็นความกังวลที่ประเทศไทยจะเข้าร่วม CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) หรือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก

ต่อมาในเดือนธันวาคม ปี 2564 รองนายกรัฐมนตรี ดอน ปรมัตวินัย ได้รับปากว่าจะทำรายงานวิจัยผลกระทบจากการเข้าร่วมข้อตกลงนี้ว่าจะมีผลได้หรือผลเสียมากกว่ากัน แต่จนถึงขณะนี้ สภาองค์กรผู้บริโภคที่จัดตั้งตามมาตรา 46 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ยังไม่ได้รับการประสานงานจากกระทรวงพาณิชย์ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) หรือ รายงานการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบว่า การเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP แต่อย่างใด จึงทวงถามความคืบหน้าในกรณีดังกล่าว

ทั้งนี้ จากที่ได้มีการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบว่า การเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP (ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) จะมีผลได้หรือผลเสียมากกว่ากัน มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในประเด็นการค้าและการลงทุนเปรียบเทียบกับผลกระทบต่อประเทศ ซึ่งควรเป็นแนวทางในการตัดสินทางนโยบายที่สำคัญ เนื่องจากปัจจุบัน ยังไม่มีงานศึกษาที่มากพอที่จะครอบคลุมปัจจัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นหลังการระบาดโควิด19 รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจ และสงครามที่โลกเผชิญอยู่

ที่ผ่านมา สอบ. ได้ทำหนังสือข้อเสนอ เพื่อชะลอการส่งหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วม CPTPP ต่อคณะรัฐมนตรี กนศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความตกลง CPTPP

“เนื่องจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ยังมีความเห็นต่างในเรื่องผลได้ทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนไทยทั้งประเทศ อีกทั้งอาจทำลายความพยายามของรัฐบาลในการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หากมีการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ด้วยความไม่รอบคอบและไม่ได้มองถึงประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่กลับนำผลประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มคนส่วนน้อยของประเทศมาพิจารณาเพื่อเข้าร่วมแทน” นางสาวสารีกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคหากประเทศไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP ในประเด็นอื่น ๆ ดังนี้

1) ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศสูงขึ้น และอุตสาหกรรมผลิตยาภายในประเทศจะชะงักงันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมาตรการความเชื่อมโยงสถานะสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนยา (Patent Linkage)

2) ประเทศไทยจะถูกจำกัดการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อการเข้าถึงยาที่จำเป็นและพิทักษ์และคุ้มครองสุขภาพของประชาชน เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องตามข้อบทว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุน

3) รัฐบาลไทยจะไม่สามารถสนับสนุนองค์การเภสัชกรรมให้ปฏิบัติพันธกิจส่งเสริมการเข้าถึงยาและความมั่นคงทางยาของประเทศได้อีกต่อไป

4) ประเทศไทยถูกบังคับให้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ใช้แล้วที่ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำหรือผลิตใหม่ ในขณะที่ประเทศยังไม่มีศักยภาพในการควบคุมกำกับเครื่องมือแพทย์เหล่านี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจได้รับ การวินิจฉัยและการรักษาโรคผิดพลาดหรือไม่ได้มาตรฐานได้

5) ผู้บริโภคจะได้รับความเสี่ยงจากภัยของเครื่องสำอางที่ด้อยคุณภาพ

6) ผู้บริโภคจะได้รับความเสี่ยงจากการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนในการจำหน่าย ปัญหาถูกหลอกถูกโกงจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ความตกลง CPTPP กำหนดให้ต้องลดภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และยาสูบ ส่งผลให้ผู้บริโภคเข้าถึงอบายมุขเหล่านี้มากขึ้น

7) ฐานทรัพยากรด้านสมุนไพรของไทย ซึ่งสามารถจะพัฒนาต่อยอดเป็นยาและเวชภัณฑ์ อาจถูกยึดครองด้วยบรรษัทต่างชาติจากการบังคับเข้าอนุสัญญาว่าด้วยสหภาพระหว่างประเทศเพื่อ การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 (Convention on International Union for the Protection of New Varieties of Plants)

8) เกษตรกรที่ซื้อพันธุ์พืชใหม่มาปลูกจะต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ในราคาสูงขึ้น 2 – 6 เท่า

9) ผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่มีหรือปนเปื้อนสารตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) และการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมูและเครื่องในหมู

ทั้งนี้ เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภคตอกย้ำว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯและรัฐมนตรีต่างประเทศ ได้รับปากกับกลุ่ม FTA Watch และเครือข่ายภาคประชาสังคมว่า จะยังไม่นำ CPTPP เข้าคณะรัฐมนตรีจนกว่าจะมีการศึกษาที่ชัดเจนและครอบคลุมถึงผลกระทบทุกฝ่ายอย่างแท้จริงรอบด้านตามข้อกังวลของภาคประชาสังคม

ดังนั้น ในภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม สภาองค์กรของผู้บริโภค ทำหน้าที่ตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ในการเป็นตัวแทนผู้บริโภคและคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน ยืนยันข้อเสนอแนะเดิมที่ได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้วอีกครั้ง คือ ขอให้คณะรัฐมนตรีชะลอการแสดงความจำนงเข้าร่วม CPTPP จนกว่าจะมีความเห็นร่วมที่แท้จริงบนฐานของความถูกต้อง

กล่าวคือ จนกว่าการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบแล้วเสร็จ และนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบฯ ต่อสาธารณะทันทีเมื่อแล้วเสร็จ หากข้อมูลพบผลกระทบด้านลบมากกว่าผลดีที่จะเกิดขึ้น ขอให้รัฐบาลมีมติหยุดการเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ได้มีรายงานข่าว เมื่อเดือนกันยายน 2564 ว่า จีนและไต้หวันได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงขอเข้าร่วม CPTPP แต่จนถึงขณะนี้ ผ่านมากว่า 10 เดือนแล้ว สมาชิก CPTPP ยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะทำอย่างไรกับคำขอเข้าร่วมนี้ดี