รัชดา เจียสกุล : มองต่างมุม CPTPP จากจีน ถึง ไต้หวัน

มุมมอง CPTPP
ดร.รัชดา เจียสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี จำกัด บริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมความตกลง CPTPP
สัมภาษณ์พิเศษ

หลังกระทรวงพาณิชย์จีน ประกาศตัดสินใจสมัครเข้าร่วมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ต่อนิวซีแลนด์เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 ส่งผลต่อการค้าและการลงทุนทั่วโลก

เพราะอย่างที่ทราบเดิมความตกลงฉบับนี้ริเริ่มโดย “สหรัฐ” แต่ถอนตัวออก ทำให้ TPP (Trans-pacific Partnership)กลายเป็น CPTPP เหลือสมาชิกปัจจุบันรวม 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม รวมเป็นตลาดรวมประชากร 500 ล้านคน ครองมูลค่าการค้า 10.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

แต่การเข้าไปของจีนครั้งนี้ ทำให้ตลาดนี้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น  1 ใน 4 ของโลก ไม่เพียงเท่านั้น “ไต้หวัน” ยังประกาศเข้าร่วมตามอีกด้วย แล้วจากนี้ไทยจะอยู่จุดไหน

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ ดร.รัชดา เจียสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี จำกัด บริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมความตกลง CPTPP

การเข้า CPTPP ของจีน

กระบวนการเข้าร่วมของจีนก็เหมือนกับทุก ๆ ประเทศ หรืออย่างสหราชอาณาจักร (uk) ที่ขอร่วมเขาไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศสมาชิก CPTPP ประชุมเพื่อประเมินพิจารณาการเข้าร่วมของ uk

จีนได้นำหน้าไทยอยู่หนึ่งก้าวโดยทำหนังสืออย่างเป็นทางการขอเข้าร่วม สเตปต่อไปก็คือประเทศภาคีสมาชิก CPTPP ก็จะเรียกประชุม ซึ่งอาจจะนัดประชุมออนไลน์เพื่อพิจารณา ได้โดยไม่จำเป็นจะต้องรอประชุมปีละครั้งอีกแล้ว

ทั้งนี้ ในจดหมายที่ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ ก็จะมีเขียนว่าประเทศเขาพิจารณา ความตกลงทั้งหมดแล้วมีอะไรที่ทำได้และมีอะไรที่จะต้องสงวนขอเจรจาหลายประเทศกับประเทศที่เป็นภาคีอยู่แล้ว

จีนมีความตกลงอยู่หลายฉบับอยู่แล้ว

ที่ผ่านมา จีน อยู่ใน RCEP เช่นเดียวกับไทย และประเทศสมาชิกอาเซียนกลุ่มที่อยู่ในซีพีทีพีพีอย่างมาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม

ซึ่งตอนนี้มาเลเซียและบรูไน ยังไม่ผ่านกระบวนการภายในประเทศ จึงยังไม่มีผลบังคับใช้

ประเทศที่จีนก็มีเอฟทีเอกับหลายประเทศคล้ายกันกับประเทศไทย คือ มีกับเกือบทุกประเทศใน CPTPP ยกเว้นชิลี เปรู และแคนาดา

ในมุมของการเปิดตลาดปัจจุบัน RCEP มีที่ยังไม่เปิดตลาด ยังมีสินค้าเกษตรและประมง แต่ที่สำคัญนอกจากเรื่องสินค้าคือเรื่องมาตรฐานกติกา rule based ซึ่งประเด็นนี้ใน CPTPP จะมีเรื่องที่เป็นกฎเกณฑ์และมาตรฐานมากกว่า และใน CPTPP สินค้ามีการเปิดมากกว่า

สิ่งที่มีอยู่ใน RCEP คือเป็นเรื่องของกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ RCEP ยังไม่มีข้อบทที่เกี่ยวข้องกับการเปิดรับสมาชิกใหม่ เช่นเดียวกับ CPTPP

จีนเข้าเพื่อเติมเต็ม สิ่งที่ขาดใน RCEP หรือไม่

นี่เป็นการแสดงความพร้อมของจีนในการเข้าร่วมการเจรจาเพื่อเปิดตลาดกับประเทศสมาชิก CPTPP และการเตรียมความพร้อมอะไรในเรื่องของการยอมรับกติกามาตรฐานไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงานสิ่งแวดล้อมหรือแม้แต่เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา non tariff measures ต่างๆ

“ แม้ว่าใน CPTPP จะมีบางบทบัญญัติที่ถูกระงับอยู่แต่ก็ยังถือว่าครอบคลุมมากกว่าใน RCEP”

ฉะนั้น ถือว่าจีนมี Intention ที่จะยอมรับกฎเกณฑ์ที่เป็น rule based ทั้งแรงงานสิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา และความโปร่งใส

“ข้อบท ที่น่าจับตาในการเจรจา คือ ข้อบทอีคอมเมิร์ซ เรื่อง การโอนข้อมูลข้ามพรมแดนด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (cross border data transfer) ที่จีน น่าจะต้องมีกฎหมายและนโยบายใหม่ที่ทำยากพอสมควร เป็นอันเดียวที่จีนน่าจะเหนื่อย”

สำหรับความสัมพันธ์ไทย-จีน ใน RCEP และในอาเซียน-จีน ไม่ต่างกันมาก ถ้าไทยเข้า CPTPP ด้วยก็จะมีการได้เข้าตลาดเพิ่มขึ้น (market access)

จีนชิงความได้เปรียบเข้าก่อนสหรัฐ

คิดว่าการแสดงท่าทีนี้ของจีนเป็นเรื่อง geopolitic ล้วน ๆ คือ การบอกว่าจีนพร้อมที่จะทำตาม international rule based architechter

“จีนบอกว่าสหรัฐถ้าจะทะเลาะกันก็มาทะเลาะในห้อง CPTPP เอา rules based มาจับ มาคุยกันกลางโลกดีกว่า ฉะนั้น มิติที่หนึ่งของจีนเป็นการแสดงจุดยืนต่อสหรัฐและด้านหนึ่งก็เป็นการแสดงความมีพลังโดยเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นเพราะตอนนี้ญี่ปุ่นกำลังจะเปลี่ยนผู้นำท่าทีของญี่ปุ่นต่อจีนจะเป็นอย่างไร ในเรื่องนี้เพราะการเมืองภายในญี่ปุ่นจะมีอยู่สองฝั่งคือที่ไม่เอาจีนเลยและโปรจีน แสดงออกชัดเจนว่าญี่ปุ่นจะเอายังไงกับจีนและตอนนี้ญี่ปุ่นเป็นหลีดใน CPTPP อยู่”

ไทยจะโดนฟาดหางอย่างไรหลังจีน เข้า CPTPP

ดิฉันมีจุดยืนชัดเจน 100% ในเรื่องนี้ว่าประเทศไทย ควรยื่นเข้า และการเข้าหรือไม่ทักเข้าของประเทศไทยครั้งนี้ก็จะต้องทำกระบวนการภายในเพื่อเข้าร่วมเจรจากับอียู (สหภาพยุโรป) และสหราชอาณาจักร (uk) อยู่ดี เพราะเรื่อง CPTPP เป็นเรื่อง Rules based ที่ไทยควรจะทำให้ได้ และถ้าไทยเข้า CPTPP พร้อม uk และจีนในคราวนี้ก็จะทำให้เราได้เปิดตลาดเพิ่มขึ้น ถ้าเทียบกับ RCEP

“เพราะมองว่าถ้า UK เข้า CPTPP ได้ เรารู้ได้อย่างไรว่า หลังจากนี้เค้าจะยอมเจรจาทวิภาคีกับเรา เค้าอาจจะบอกว่าให้ไทยเค้าไปคุยเรื่องนี้ใน CPTPP ซึ่งจริง ๆ การเข้ามาคุยในวง CPTPP อีกมุมหนึ่งมันก็ดีกว่าสำหรับประเทศไทย ถ้าประเทศเดียวเจรจาท่าทีแล้วก็อำนาจต่อรอง (bargaining power) มันก็เป็นเพียงประเทศเดียว ซึ่งถ้ามีบางอย่างที่เราไม่อยากให้ในการเจรจา มันก็อาจจะมีเพื่อน (แนวร่วม) ที่ไม่อยากให้เหมือนกับเราเราก็จะได้ไม่ต้องให้ แต่การเจรจามันก็อาจจะจบยากนิดหน่อย”

ไทยมีเวลาตัดสินใจอีกนานแค่ไหนเพื่อเข้าให้ทันพร้อมกับจีน

ไทม์ไลน์ ไม่มีใครมาขีดเส้นเรา ถ้าเรายื่นวันนี้ เราก็ต้องไปรอผ่านทางสมาชิก ซึ่งเค้าจะพิจารณาเป็นรายประเทศ แต่ในฐานะที่เราเป็นมหามิตรก็อาจจะได้รับพิจารณาเร็วกว่าพิจารณาจีนแน่

มองผลหลังจากนี้ในกรณีที่ไทยเข้า CPTPP ช้า หรือไทยไม่เข้า CPTPP แล้วไปร่วม RCEP อย่างเดียว

ประเด็นสำคัญ คือ ประเด็นเรื่องการดึงดูดธุรกิจแห่งอนาคต ซึ่งถ้าเกิดว่านักลงทุนไทยหรือนักลงทุนต่างชาติเลือกระหว่างประเทศจีนเป็นฐานการผลิต เพื่อเข้าตลาดที่ไม่ใช่แค่เรื่องภาษีแต่เป็นเรื่องทิศทางของมาตรฐาน แต่เราไม่อยู่ในห้องเจรจาที่พูดถึง ไม่มีการยอมรับ rulesbase อย่างที่จีนทำ
การค้าการลงทุนมันจะไดเวิร์ดออกไปจากประเทศไทยพอสมควร

หมายถึงการเล่นเกมส์ตามกฎกติกาการค้าโลกให้ได้

นี่ยังไม่รวมถึงการที่เราช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ที่เพื่อนบ้านมีเรายังไม่มี ความตกลง FTA ทั้งอียู uk สหรัฐ

“ความเป็นไปได้ที่จะไปเอา FTA อียู uk ก่อนเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าแค่ CPTPP เรายังเข้าไม่ได้ และอย่างวิธีการนับเวลาและกระบวนการเจรจา คือถ้าเราเข้า CPTPP ที่มี Text มาแล้วมันเขียนง่ายเข้าง่ายกว่าความตกลงที่เราจะไปเริ่มใหม่โดยที่ยังไม่มี Text อย่าง FTA ไทย-อียู หรือ ไทย-ยูเค เวลาที่ใช้ในการเจรจาก็จะเยอะพอสมควรโดยเปรียบเทียบ”

ถ้าสมมุติไทยยอมตกขบวนไปเลย ตัดสนใจไม่ร่วมผลกระทบที่เกิดขึ้นคืออะไร

เรามีการวิเคราะห์มาตลอดอย่างต่อเนื่องและมีข้อมูลสอดคล้องกันทั้งโลกไม่ว่างานวิจัยไหนออกมาก็จะบอกว่า การที่มีประเทศที่ไม่ได้อยู่ใน CPTPP ประเทศที่จะมีผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจมากที่สุด คือประเทศไทย รองลงมาคือ เกาหลีใต้ รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย คือประเทศที่อยู่ในพื้นที่ในห่วงโซ่มูลค่าที่ใกล้เคียงกัน

อันนี้เป็นงานวิจัยที่รวมเรื่อง RCEP เข้าไปแล้วด้วย

ฉะนั้น ถ้าประเทศไทยไม่เข้ามันก็ส่งผลกระทบเชิงลบคือไทยจะแย่สุดแม้ว่าไทยจะเข้า RCEP ก็ตาม

“เมื่อเราไม่อยู่ในห้องเจรจากับเขาเราก็จะต้องตามทิศทางเขาอย่างที่ไม่มีเรี่ยวแรงในการเจรจาไม่มีสิทธิ์ เราต้องรับกฏกติกา เป็นรูวเทคเกอร์ นั้น มากกว่าที่จะไปเจรจาต่อรอง “

หากเราจำเป็นต้องเข้าจริง ๆ การแก้ปัญหาที่ค้างคาอยู่ในเรื่องของเกษตรกรความกังวลเรื่องสิทธิบัตรพันธุ์พืช มีทางออกไหม

สิ่งที่คัดค้านอยู่มันมีทางออก และทางออกก็ออกมาแล้ว เช่นเรื่อง เอฟทีเอฟันด์ ที่รัฐบาลอนุมัติเงิน 5,000 ล้าน เพื่อมาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ปรับตัวไม่ได้

และทางออกอีกทางหนึ่ง คือการทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกษตรกรกังวลในเรื่อง UPOV ซึ่งทางภาครัฐน่าจะเข้าไป subsidy ช่วยเหลือเกษตรกรได้ ถ้ากลัวว่าต้นทุนเมล็ดพันธุ์จะแพงขึ้นแล้วก็เข้าไปกำกับราคาเรื่องต้นทุนเมล็ดพันธุ์จากการกำหนดนโยบายภาครัฐได้ในหลายตัว

ส่วนการเจรจาในประเด็นที่ไทยยังไม่พร้อมเปิดเสรี ในการเจรจาภาคีกับสมาชิกทุกประเทศ ก็มีการเขียนเข้ายกเว้นว่า เรื่องนี้นะ ประเทศนี้ขอเวลาปรับตัว เป็นวิธีที่หนึ่งที่ทำกัน

และยกตัวอย่างนิวซีแลนด์ไม่เข้า UPOV แต่ก็ขอให้มีกฎหมายภายในประเทศที่มีลักษณะคุ้มครองซึ่งอันนี้เราก็หาวิธีการเพื่อตีความให้เขียนแบบนี้ได้ หรือถ้าหากว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับประเทศเรา ก็มีตัวอย่างสมาชิก อย่างเช่นนิวซีแลนด์ก็มีเรื่องชนพื้นถิ่น ญี่ปุ่นก็มีเรื่องปลาวาฬอย่างนี้ เป็นต้น ฉะนั้นไทยก็สามารถยกประเด็นนี้ขึ้นมาเจรจาได้ เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถเป็นไปได้

หลังจากที่ กนศ. รับเรื่องไปดูแล้วมีความคืบหน้าเป็นอย่างไรบ้าง

ไม่ทราบความคืบหน้าการพิจารณา แต่บอกได้ว่า ประเทศไทยต้องการยาแรงในการรีฟอร์มเศรษฐกิจ เพราะเราอยู่ในจุดที่อยู่ในศตวรรษที่เราช้าไปแล้ว หลายจุด ซึ่งจริงๆแล้วCPTPP เป็นยาแรงที่น่าจะยากน้อยที่สุด และผลกระทบเชิงลบมันไม่น่าจะเยอะเท่าที่คนเข้าใจกัน

กรณีที่ไต้หวันตัดสินใจเข้าร่วมตามจีน ทั้งสองไม่น่าจะเข้าพร้อมกันได้

ตามข้อมูลจากข่าวไต้หวันประกาศเข้มร่วมหลังจีนเพียงไม่กี่วัน เอาจริง ๆ จีนกับไต้หวันก็มี FTA กันนะ ไม่น่าจะกระทบใน CPTPP แต่ละประเทศ ต้องไปเจรจากับสมาชิกเดิมก่อน

เบื้องลึก ‘ไต้หวัน’ เข้า CPTPP

รายงานข่าวจาก บลูมเบิร์ก ระบุว่า ไต้หวันได้ยื่นคำร้องต่อนิวซีแลนด์ เพื่อเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP เพียงไม่กี่วันหลังจากที่จีนส่งคำขอเข้าร่วม

ก่อนหน้านี้ ไต้หวันมีข้อตกลงการค้าเสรีกับสมาชิก 2 ราย ได้แก่ นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์

ทั้งนี้ ไต้หวันได้ดำเนินการเพื่อเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเป็นเวลาหลายปี แต่ในครั้งจะ “เอาจริง” เพราะปีนี้ถือเป็น วาระทิ้งทวนของประธานาธิบดี Tsai Ing-wen

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญในการเข้าร่วม CPTPP ของไต้หวัน คือ “เรื่องการเมือง” เนื่องจากไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศสมาชิกบางประเทศ

จีนไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวใด ๆ เพื่อจัดการกับไต้หวันอย่างเปิดเผย ซึ่งจะทำให้การหารือระหว่างปักกิ่ง ไทเป และ 11 ประเทศสมาชิกยากขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลีย ซึ่งกำลังมีข้อพิพาททางการค้ากับจีนในองค์การการค้าโลก (WTO) ในสินค้าไวน์และข้าวบาเลย์ รวมทั้ง ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักและเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดใน CPTPP ฝ่ายนิติบัญญัติจากพรรครัฐบาลของญี่ปุ่นเมื่อเดือนที่แล้ว ต่างน่าจะสนับสนุนการเข้าสู่ข้อตกลงของไต้หวัน

หลังจากนี้ ต้องติดตามว่า “ใบสมัคร” ของไต้หวัน ซึ่งทางนิวซีแลนด์เป็นประเทศฝ่ายเลขาของ CPTPP จะเวียนแชร์กับสมาชิก CPTPP จะมีผลออกมาอย่างไร