ศธ.ประกาศชัด นโยบายรับเปิดเทอม พ.ค. โรงเรียนต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง ?

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
ภาพซ ศธ.360

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบนโยบายผู้บริหารเขต และสถานศึกษา รองรับเปิดภาคเรียนพฤษภาคม 2567 เน้นการสร้างความเปลี่ยนแปลงชัดเจน เรื่องคุณภาพการศึกษา สภาพแวดล้อม

วันที่ 26 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบนโยบายแก่ผู้บริหารเขตพื้นที่และสถานศึกษา รองรับการเปิดภาคเรียนในเดือนพฤษภาคม 2567 ที่กำลังมาถึง โดยมีคีย์เวิร์ดสำคัญคือ “เรียนดี มีความสุข” และนับเป็นปีการศึกษาแรกที่จะดำเนินการตามแนวทางนี้ โดยเน้นการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ในเรื่องคุณภาพการศึกษา สภาพแวดล้อม สถานที่การจัดการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กว่า 29,000 โรงเรียน

นโยบาย ศธ. กำหนดให้สถานศึกษาดำเนินการ

  • ด้านความปลอดภัยของสถานศึกษา ให้คำนึงถึงสวัสดิภาพของนักเรียน ตั้งแต่เดินทางออกจากบ้านเข้าสู่ประตูรั้วโรงเรียนจนออกจากโรงเรียน และเดินทางถึงบ้านพักนักเรียน
  • ด้านการเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น การจัดกิจกรรมเยี่ยมบ้าน กิจกรรมเสริมทักษะเพิ่มเติม เป็นต้น
  • ด้านเครือข่ายและการสร้างความร่วมมือ สถานศึกษาประสานเครือข่ายและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมเสริมทักษะชีวิต บูรณาการความร่วมมือการรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กนักเรียน เป็นต้น

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2567 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา กล่าวว่า ห้วงเวลาก่อนการเปิดภาคเรียนใหม่นี้ ขอความร่วมมือจากทุกท่าน ซึ่งเป็นผู้ที่กำกับดูแลสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้ดูแลนักเรียนเป็นจำนวนมาก ได้ร่วมกันในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนประจำปีการศึกษา 2567

ทั้งด้านวิชาการ การจัดการเรียนการสอน กิจกรรมการเรียนรู้ รวมถึงด้านความปลอดภัย อาคารสถานที่ อุปกรณ์ ฯลฯ เพื่อให้การปฏิบัติงานต่าง ๆ บรรลุผลสำเร็จ นำไปสู่การสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษาครอบคลุมทุกด้าน เป็นประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนต่อไป

งบ 600 ล้าน จ้างนักการภารโรงทั่วประเทศ

จากปัญหาหลายโรงเรียนไม่มีนักการภารโรง และให้ครูรับภาระทำหน้าที่ซ่อมบำรุง ทำความสะอาดอาคารสถานที่ ดูแลความปลอดภัยในโรงเรียน นอกจากทำหน้าที่ในการสอนนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการจึงเสนอของบประมาณ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 618,795,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างเหมาบริการนักการภารโรง จำนวน 13,751 อัตรา อัตราละ 9,000 บาทต่อเดือนเป็นระยะเวลา 5 เดือน โดยปฏิบัติงานในเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2567

ส่วนในปี 2568 ครม.ได้อนุมัติงบประมาณปี 2568 จำนวน 25,370 อัตรา รวมเป็นเงินกว่า 2,739,960,000 บาท ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะจัดทำแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป

ADVERTISMENT

พล.ต.อ.เพิ่มพูน รมว.ศธ. กล่าวไว้ว่า การเปิดภาคเรียนปีนี้จะมีความแปลกใหม่เล็กน้อย ซึ่งทุกท่านคงทราบอยู่แล้ว เรื่องของการจ้างนักการภารโรง ขณะนี้อยู่ในกระบวนการสรรหาบุคคล ซึ่งตามแผนแล้วจะต้องเสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 เมษายน 2567 และจะเริ่มจ้างในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567

ความเท่าเทียมในการใช้ห้องน้ำ

การสร้างความเท่าเทียมในการใช้ห้องน้ำ โดยให้ครูกับนักเรียนเข้าห้องน้ำร่วมกันได้โดยไม่แบ่งแยกนั้นเป็นข้อแนะนำของรัฐมนตรี โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียนจะดำเนินการ ไม่ได้เป็นข้อสั่งการ หรือข้อบังคับให้ปฏิบัติทุกโรงเรียน

ADVERTISMENT

“จากประสบการณ์ของรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ประชาชน นักเรียน ข้าราชการ พ่อค้า หรือใครก็ตาม สามารถใช้ห้องน้ำร่วมกันได้ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกกัน การที่เน้นย้ำเรื่องห้องน้ำเพราะห่วงใยเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย”

หากสามารถมาใช้ห้องน้ำร่วมกันได้ ก็เป็นมิติหนึ่งที่ครูจะได้เห็นมุมมองเดียวกับเด็ก ๆ ซึ่งบางทีครูเข้าไปในห้องน้ำนักเรียนจะได้เห็นว่ามีอุปกรณ์ชำรุด ก็จะได้เร่งซ่อมแซม หรือแม้แต่หากเกิดมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ เช่น การกลั่นแกล้งบูลลี่กัน การแอบสูบบุหรี่หรือสารเสพติด ครูจะรับรู้และช่วยแก้ไขได้

ทั้งนี้ก็เป็นดุลพินิจของโรงเรียนว่าจะแยกห้องน้ำหรือไม่แยกก็ได้ แต่กำชับว่าห้องน้ำครูและห้องน้ำนักเรียนต้องมีความสะอาด ถูกสุขลักษณะ อุปกรณ์ที่ใช้ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน”

งบ 100 ล้านบาท สุขาดี มีความสุข

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดสรรงบประมาณปรับปรุงห้องน้ำโรงเรียนกว่า 100 ล้านบาท ในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 9,700 แห่ง ที่มีนักเรียน 80 คนลงมา โดยงบที่จัดสรรให้จะให้โรงเรียนทาสีห้องน้ำเปลี่ยนสุขภัณฑ์หรือระบบประปาใหม่ ภายใต้ชื่อโครงการ “สุขาดี มีความสุข” เพื่อให้นักเรียนได้ใช้ห้องน้ำที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้ผู้บริหารดำเนินการกำกับ ติดตาม และเร่งรัดให้ทุกโรงเรียนดำเนินการสำรวจข้อมูลสภาพห้องน้ำทุกโรงเรียน และวางแผนดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซมห้องน้ำโรงเรียน โดยต้องมีความ สะอาด สะดวก สบาย สุขลักษณะ สวยงาม และดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน

เพื่อไม่ให้กระทบต่อกิจกรรมการจัดการเรียนการสอน โดยปรับปรุงทาสี จัดหาอุปกรณ์ให้พร้อมใช้ สวยงาม เหมาะสม พร้อมทั้งบันทึกภาพทั้งก่อนและหลังการดำเนินการแล้วเสร็จ และรายงานผลการดำเนินงานก่อนเปิดภาคเรียน

นโยบายลดภาระครู-ภาระนักเรียน

จากข้อมูล สพม.สุรินทร์ ระบุว่า ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวย้ำถึงการทำความเข้าใจกับทุกโรงเรียนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามภารกิจและหน้าที่ที่จะเชื่อมโยงถึงพันธกิจของกระทรวงศึกษาธิการ

“สพฐ. กำลังพิจารณาการมอบอำนาจให้ ผอ.เขต และ ผอ.โรงเรียน พิจารณาได้ทันทีและทุกกรณีในเรื่องนโยบายลดภาระครู ซึ่งในส่วนที่ทาง สพฐ. ดำเนินการและทำไปแล้ว คือ การยกเลิกครูอยู่เวร การเพิ่มอัตรากำลังนักการภารโรง

ส่วนนโยบายลดภาระนักเรียน เช่น การจัดการระบบแนะแนวเพื่อให้นักเรียนรู้จักตัวตนและรู้จักอาชีพ การเพิ่มรายได้ระหว่างเรียน โครงการอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนขยายโอกาส จะดำเนินต่อเนื่องและยกระดับให้มากขึ้นต่อไป”

เพิ่มมื้อเช้าให้นักเรียน

สพฐ. เล็งขยายโรงเรียนคุณภาพระดับตำบล และเพิ่มมื้อเช้าอาหารสมอง ต่อยอดจากโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

ส่วนโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียน ที่สามารถช่วยลดภาระนักเรียนที่ต้องเดินทางไกลไปโรงเรียน นับจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะเตรียมขยายโรงเรียนไปสู่ตำบลด้วย เพื่อจะกระจายโอกาสและคุณภาพสู่ประชาชนให้มากที่สุด

รวมถึงในอนาคตจะมีการดำเนินการเพิ่มมื้ออาหารมื้อเช้าให้กับนักเรียนด้วย ซึ่งขณะนี้ สพฐ. กำลังดำเนินการสำรวจข้อมูลจำนวนนักเรียน จำนวนโรงเรียนเพื่อหารูปแบบดำเนินการต่อไป