เครื่องชงกาแฟแพงเฉียดล้าน บาทอ่อน-น้ำมันแพงดันราคานำเข้าพุ่ง

เครื่องชงกาแฟ

ตลาดอุปกรณ์กาแฟสะพัดงาน Thailand Coffee Fest 2022 “พีเบอร์รี่ ไทย” ขนเครื่องชงสุดหรู 9 แสนแพงสุด ประชัน Black Eagle Maverick 7.11 แสน เอกชนแห่จองซื้อเครื่องชงทุกราคา ก่อนบาทอ่อนดันราคานำเข้าพุ่ง ต้นทุนนำเข้ากระฉูดปรับไปแล้ว 5-30% รอว์แมตทีเรียล-ค่าขนส่งขาขึ้น ซัพพลายเชนช็อตต้องพรีออร์เดอร์รอนานกว่า 3 เดือน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในงาน Thailand Coffee Fest 2022 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เป็นอย่างคึกคัก โดยมีการนำนวัตกรรมด้านกาแฟ อุปกรณ์เครื่องคั่วกาแฟ เครื่องบด และเครื่องชงกาแฟสุดหรูมาอวดโฉมและจัดจำหน่ายในงาน

โดยจะเห็นว่าในส่วนเครื่องชงที่โดดเด่นมากที่สุดน่าจะเป็นของ บริษัท พีเบอร์รี่ ไทย จำกัด ที่นำเครื่องชงกาแฟ Slayer Espresso 2G + Mahlkonig E65s ราคาสูงถึง 977,000 บาท มาจัดโปรโมชั่นในงานลดลงเหลือ 906,000 บาท ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องชงที่ราคาแพงที่สุดในงาน รองลงมาคือ เครื่องชง Black Eagle Maverick 3Gr ที่บริษัท AromaThailand ราคา 889,000 บาท มาจำหน่ายในราคาโปรโมชั่นลดลงแล้ว เหลือ 711,000 บาท เรียกกระแสความฮือฮาได้ไม่น้อย

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้นำเข้าสินค้าเครื่องชงกาแฟรายหนึ่ง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันเทรนด์ตลาดร้านกาแฟได้รับความนิยมมากขึ้น เครื่องชงกาแฟเป็นแอ็กเซสเซอรี่ในร้าน คล้ายของสะสม ภายในงานนี้มีลูกค้าซึ่งเป็นผู้ประกอบการร้านคาเฟ่มาสั่งซื้อล่วงหน้ามากกว่าครั้งก่อน เพราะกังวลว่าราคาเครื่องชงจะขยับขึ้นไปอีก จากค่าเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งทำให้บริษัทได้ปรับราคาขายเฉลี่ยขึ้นประมาณ 20% แล้ว และการสั่งซื้อรอบนี้จะเป็นการจองล่วงหน้าเพื่อนำเข้าในอีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งลูกค้าต้องการมาจองในราคานี้ไว้ก่อนจะขยับสูงขึ้นไปอีก

นายธงธรรม เวชยชัย Deputy Managing Director, Commercial บริษัท พีเบอร์รี่ ไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ได้นำเครื่องชง Slayer Espresso 2G + Mahlkonig E65s มาจัดจำหน่าย ในราคาที่อาจจะเรียกได้ว่าสูงสุดในงาน เพราะตอนนี้กลุ่มลูกค้าให้ความนิยมกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) มากขึ้น ซึ่งตลาดกาแฟเป็นตลาดเฉพาะมีมูลค่าสูง โดยระดับราคาสูงไม่ใช่เพราะดีไซน์ของเครื่องเพียงอย่างเดียว แต่มาจากเทคโนโลยีนวัตกรรมการชงที่ทำให้ได้กาแฟที่มีคุณภาพดี ในงานมีผู้ซื้อเครื่องนี้ และมีส่งเครื่องให้ลูกค้าเร็ว ๆ นี้

“ตลาดอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการชงกาแฟทุกชนิดเติบโตได้ดี และปีนี้เห็นสัญญาณการเติบโตในส่วนของอุปกรณ์ที่ใช้ชงกาแฟภายในบ้านเติบโต (โฮมยูส)มากขึ้นจากโควิดที่ประชาชนทำงานอยู่บ้านเวิร์กฟรอมโฮมทำให้เกิดความนิยมในการจัดทำมุมกาแฟในบ้าน จากแคปซูล ก็มาดริป เมื่อตลาดกาแฟสเปเชียลตี้มา การใช้อุปกรณ์ก็ปรับจากตัวที่เป็นคอมเมอร์เชียลเบสมาเป็นแบบพิเศษมากขึ้น แต่ตลาดนี้วัดมูลค่าได้ยาก เพราะมีทั้งกลุ่มผู้เล่นที่ไม่ได้เข้ามาสู่ในระบบด้วย ตอนนี้ตลาดอุปกรณ์การชงอาจจะเรียกว่าเหมือนซื้อกระเป๋าชาแนล คือ ซื้อแล้วขายมือสองยังได้กำไร”

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่กระทบต่ออุปกรณ์การชงครึ่งปีหลังจะมาจากหลายด้าน โดยปัจจัยค่าเงินที่อ่อนค่าลงเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ก็ยังไม่รุนแรงเท่ากับเรื่องเงินเฟ้อที่ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบ (รอว์แมตทีเรียล) หลัก ทั้งทองแดง เหล็ก แพ็กเก็จจิ้งได้ไปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้ และค่าขนส่งปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งพันมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 พอหลังจากโควิดคลี่คลายลง ซัพพลายอ่อนดีมานด์แข็ง โดยเฉลี่ยแล้วปรับราคาขายสูงขึ้นประมาณ 10%

“เมื่อสถานการณ์ต้นทุนนำเข้าปรับสูงขึ้น เราก็ต้องแพลนนำเข้าและสต๊อกสินค้าล่วงหน้า และถึงแม้ว่าจะวางแผนล่วงหน้าแต่ไม่ใช่ว่าจะได้สินค้าในทันที เพราะโรงงานก็ผลิตไม่ทัน ตอนนี้เกิดปัญหาโลจิสติกส์ ซัพพลายเชนอุปกรณ์กาแฟแต่ละตัว ไม่สามารถกลับมาผลิตได้ทันกับความต้องการหลังโควิดคลี่คลาย และการขนส่งก็ยังติดปัญหา ทำให้ผู้ซื้อที่จองซื้อวันนี้ต้องรอสินค้านาน 6 หรือ 8 เดือน จากปกติที่ใช้เวลา 30-45-60 วัน ถ้าสั่งตอนนี้ต้องรอยาวไปถึงปีหน้า เช่น ชิปเมนต์จากอิตาลีมาปกติ 30-45 วัน ตอนนี้ขยับไป 60-75 วัน นานขึ้น โรงงานดีเลย์ ช็อกทั้งระบบ ของผลิตไม่ทัน ซัพพลายเชนก็เชนจ์”

ขณะที่ต้นทุนเมล็ดกาแฟทั่วโลกก็ปรับขึ้นประมาณ 30-40% จากการที่บราซิลประเทศผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ของโลกประสบปัญหาผลผลิตเสียหาย ต้นกาแฟตาย ทำให้ผลผลิตทั่วโลกลดลง รวมถึงผลผลิตของไทยก็ได้รับความเสียหายจากปริมาณฝนที่ตกมานาน ทำให้เมล็ดบวมน้ำเร็ว สุกเร็ว และโควิด-19 ทำให้ไม่มีกำลังคนที่มาเก็บเมล็ดกาแฟ

“ราคาตลาดกาแฟคั่วในประเทศไทยช่วงไตรมาส 1-2 มีการปรับราคาขึ้นไป เพราะยืนไม่ไหว แต่การปรับราคาก็ไม่สามารถจะปรับขึ้นไปได้สอดคล้องกับต้นทุนทั้งหมดเอกชนก็รู้ว่าถ้าปรับไปมากจะกระทบกับผู้บริโภคก็ได้ ดังนั้น หลายแบรนด์ยังยืนราคา ส่วนเรามีทั้งใช้กาแฟในประเทศและนำเข้าจากประเทศที่เป็นแหล่งปลูกหลายๆแหล่งแต่ก็ปรับแค่เพียง 5-10% เท่านั้น ตอนนี้ผู้ผลิตต้องกลืนมาร์จิ้น กัดฟันขาดทุนกำไรไปก่อน เรายังคาดหวังว่าตลาดกาแฟจะฟื้นตัวหลังจากนี้ ต้องมาดูว่าปีหน้าสถานการณ์การผลิตจะปรับตัวดีขึ้นหรือไม่”

พีเบอร์รี่ไทย

พีเบอร์รี่ไทย หลีดกาแฟสเปเชียลตี้

เป็นที่ทราบกันดีว่า “พีเบอร์รี่” ได้เข้าไปเป็นหนึ่งพันธมิตรของ OR หรือ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน ) เมื่อปีที่ผ่านมา ต่อยอดโอกาสสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจ

นายธงธรรม เวชยชัย Deputy Managing Director, Commercial บริษัท พีเบอร์รี่ ไทย จำกัด กล่าวว่า พีเบอร์รี่ ทราน์สฟอร์มเป็น พีเบอร์รี่ไทย เมื่อปี 2564 กำลังจะครบ 1 ปีโดยภาพรวมของธุรกิจพีเบอร์รี่จะแบ่งเป็น 3 ธุรกิจหลัก คือ เมล็ดกาแฟ พาคามาร่า (Pacamara) ร้านกาแฟ สเปเชียลตี้ พีเบอร์รี่ไทยที่ขายอุปกรณ์ขายเครื่อง ซึ่งบริษัทนำเข้าอุปกรณ์เครื่องบด เครื่องคั่ว เครื่องชงกาแฟ และอุปกรณ์คอฟฟี่ซัพพลายต่าง ๆ มีหลายแบรนด์ ทั้งโซลูชั่น ซึ่งนำเข้าจากทั้งอเมริกา ยุโรป อิตาลี ญี่ปุ่นมาจำหน่าย และบริการบำรุงรักษาเครื่อง โดยวันนี้หน่วยธุรกิจโฮลเซลยังมีสัดส่วนสูงสุด

“หลังจากที่โออาร์แอ็กไควร์เมื่อปีก่อน เราไม่ได้ขยายโดยเกาะไปกับโออาร์ทั้งหมด ไม่ได้ไปเปิดในปั๊ม เพราะด้วยแคแร็คเตอร์ของเราอาจจะเรียกได้ว่าเป็นคนละเซ็กเมนต์กัน เราเป็นตลาดกาแฟสเปเชียลตี้ซึ่งเป็นเวฟที่ 3 ของตลาดกาแฟ และถือว่าใหม่มากกับไทย เราไม่ได้ไปเปิดในปั๊มกับโออาร์แต่จะมีการไปซัพพลายเมล็ดกาแฟให้กับในบางสาขา ที่เป็นร้านคอนเซ็ปสโตร์เท่านั้น”

พาคามาร่าขยาย 10 สาขา

สำหรับแผนการขยายสาขาร้านกาแฟพาคามาร่าช่วงครึ่งปีหลัง 2565 จะมีเพิ่มอีก 4 สาขา จากที่ขยายไปเมื่อช่วงต้นปี 6-8 สาขา
นอกจากนี้ก็มีช่องทางอื่น เช่น ดีลิเวอรี่แต่ไม่ได้กระจายมากนัก เพราะข้อจำกัดการส่งไกลมากเกินไปจะส่งผลต่อคุณภาพของกาแฟ เช่น เมนูเดอร์ตี้ ไม่สามารถจะส่งไกลได้ ไม่ใช่เช่นนั้นส่วนผสมก็จะผสมรวมกันไปหมด

ดังนั้น การขยายช่องทางการตลาดอื่นๆ เราจึงได้มุ่งพัฒนาบริการออกแบบโซลูชั่นให้กับลูกค้า B2B เป็นหลัก ขณะเดียวกันก็มีอุปกรณ์ที่พร้อมตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่ม B2C ด้วย เช่น ตัวเครื่องบดโฮมยูส ส่วนบริการก็ให้บริการรองรับทั้งเชน

ตลาดกาแฟสเปเชียลตี้บูม

ในส่วนการขยายสาขา ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้มีนโยบายที่จะใช้ third party มาร่วมในการขยายสาขา เพราะด้วยการทำกาแฟสเปเชียลตี้จะมีเรื่องมาตรฐานค่อนข้างละเอียดมาก ๆ และต้องมี system training standard ที่จะทำให้ทุกคนที่สนใจกาแฟสเปเชียลตี้สามารถที่จะทำได้

“เรามองอนาคตพีเบอร์รี่แบรนด์พาคามาร่าว่าตลาดกาแฟสเปเชียลตี้จะไม่ใช่พรีเมี่ยมคาเฟ่ เพราะสเปเชียลตี้คือกาแฟที่ลูกค้าเดินเข้ามาแล้วบอกว่าต้องการดื่มกาแฟ คัพปิ้งสกอร์สูง ซึ่งจะไม่ใช่การเลือกแค่เมล็ดว่ามาจากไหน แต่จะเป็นการเลือกไปถึงวิธีการชงเลยว่าจะเป็นแบบไหน ใช้อุปกรณ์แบบไหน เป็นการสั่งเพื่อให้ตอบโจทย์เขา ณ ตอนนั้น ในอนาคตเค้าเลือกไปถึงสายพันธุ์ ลูกค้าไม่ใช่อยากกินกาแฟเพราะแค่อยากตื่น แต่เป็นการสร้างประสบการณ์ สตอรี่ ที่เค้าจะมานั่งฟังบาริสต้าเล่าเรื่องกาแฟตัวนี้ว่าเป็นตัวที่หายากทั้งโลกมีแค่ 200-300 กก. แคแร็กเตอร์กาแฟเป็นแบบไหน เช่น โลว์กาเฟอีน ไม่ขม

กาแฟที่ดีของเราคือ กาแฟที่เปรี้ยวและหวาน หมักด้วยวิธีอะไร เป็นต้น ซึ่งตลาดกาแฟสเปเชียลตี้ในประเทศไทยกำลังเริ่มโต” นายธงธรรมกล่าว