คลายล็อกดาวน์ หนุนดัชนีเชื่อมั่น มิ.ย. 65 ฟื้นครั้งแรกรอบ 3 เดือน

เศรษฐกิจไทย

ดัชนีเชื่อมั่น มิ.ย. 65 ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน หลังคลายล็อกดาวน์ เสนอรัฐเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ทดแทนตลาดชะลอตัว เสริมแกร่งสินเชื่อดอกเบี้ย จับตาขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อสหรัฐ เหตุค่าบาทอ่อนกระทบต้นทุนนำเข้าสินค้าพุ่ง

วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2565 จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,335 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 86.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 84.3 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน

เนื่องจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 เพิ่มเติม การปรับลดระดับการเตือนภัยโควิดจากระดับ 3 เป็น 2 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศนอกจากนี้ ภาคการผลิตยังมีทิศทางที่ดีขึ้น สอดคล้องกับดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าและยอดขายในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ประกอบกับประเทศจีนผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เมืองสำคัญ ทำให้สั่งซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น

ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 90.3 สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 69.0 สถานการณ์การเมือง ร้อยละ 38.8 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 55.2 สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 52.3 อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐร้อยละ 34.0 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 31.0

สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 97.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนคาดการณ์อยู่ที่ระดับ 96.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการทยอยฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับบริษัทเอกชนที่นำพนักงานไปท่องเที่ยวในเมืองรองและเมืองหลัก เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งการยกเลิก Thailand Pass ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 คาดว่าจะช่วยหนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ตลอดจนความไม่แน่นอนของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนปัญหา Supply Shortage ที่ยังไม่คลี่คลาย ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอตัวลงมีความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอย (Recession) เนื่องจากหลายประเทศเผชิญปัญหาเงินเฟ้อส่งผลให้คำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้าชะลอตัว เฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) ส่งกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย

“ขณะนี้บาทอ่อนค่าลำดับต้น ๆ ของภูมิภาค ซึ่งหากเร็ว ๆ นี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 0.75-1% ตามที่ตลาดคาดการณ์ เพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลอื่น จะยิ่งกดดันให้เงินบาทอ่อนค่า ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าทุกประเภทแพงขึ้นไปอีก ขณะที่เศรษฐกิจโลกถดถอยครึ่งปีหลังอำนาจซื้อโลกจะลดลง ก็คงต้องดูว่าการส่งออกจะเป็นอย่างไร ซึ่งเศรษฐกิจไทยคงจะต้องมองเรื่องการท่องเที่ยว หากทำได้ดีก็จะพยุงการเติบโตของเศรษฐกิจได้ แม้ส่งออกครึ่งปีหลังจะแผ่วลง” นายเกรียงไกรกล่าว

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ส.อ.ท.มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐให้ภาครัฐเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ เพื่อทดแทนตลาดที่ชะลอตัวและได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการจ้างงานในระยะสั้นและระยะยาว ส่งเสริมและปรับปรุงกฎระเบียบให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคธุรกิจและภาคประชาชน และสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อการประหยัดพลังงาน