อีสท์ วอเตอร์ ได้รับรองจาก CAC ครั้งที่ 2 ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน ทำธุรกิจโปร่งใส

อัศวินี ไตลังคะ
อัศวินี ไตลังคะ

อีสท์ วอเตอร์  รับมอบประกาศนียบัตรเพื่อประกาศเกียรติคุณให้กับบริษัทที่ได้รับการรับรองจากแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือ CAC

วันที่  21 กรกฎาคม 2565 นางอัศวินี ไตลังคะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์  เปิดเผยว่า บริษัทได้รับมอบประกาศนียบัตร จากแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือ CAC ในงาน “CAC Certification Ceremony 2022 จากพลังสามัคคี สู่จุดเปลี่ยนคอร์รัปชัน” (Disrupt Corruption with Power of Business Unity)

“อีสท์ วอเตอร์ เป็น 1 ใน 28 บริษัทที่ผ่านการต่ออายุการรับรองครั้งที่ 2 เน้นการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ยอมรับการมีส่วนร่วม และตรวจสอบได้  อีสท์ วอเตอร์ เชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส และขอเป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป”

งาน CAC Certification Ceremony 2022 จัดขึ้นเพื่อประกาศเกียรติคุณให้กับบริษัทที่ผ่านกระบวนการรับรองในไตรมาสที่ 1-3 ปี 2564 ซึ่งอีสท์ วอเตอร์เป็นหนึ่งบริษัทที่ได้รับการรับรอง CAC

โดยในปีนี้มีบริษัทที่ผ่านการรับรอง 5 กลุ่ม แบ่งเป็นบริษัทที่ผ่านการต่ออายุการรับรองครั้งที่ 2 จำนวน 28 บริษัท บริษัทที่ผ่านการต่ออายุการรับรองครั้งที่ 1 จำนวน 47 บริษัท บริษัทที่ผ่านการรับรองครั้งแรก จำนวน 20 บริษัท บริษัท SME ที่ผ่านการต่ออายุการรับรองครั้งที่ 1 จำนวน 5 บริษัท และบริษัท SME ที่ผ่านรับรองครั้งแรก จำนวน 2 บริษัท รวม 102 บริษัท

ปัจจุบัน CAC มีบริษัทที่เจตนาเข้าร่วม 1,245 บริษัท และมีบริษัทที่ได้รับการรับรองว่ามีนโยบายและแนวปฎิบัติที่ชัดเจนเพื่อควบคุมความเสี่ยงคอร์รัปชันแล้วกว่า 491 บริษัท แสดงให้เห็นถึงการผนึกกำลังของภาคเอกชนเพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจที่โปร่งใส มีการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้ในการต่อต้านการคอร์รัปชันแก่บริษัทเอกชน และสนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ กำหนดนโยบายมาตรการควบคุมภายในเพื่อป้องกันคอร์รัปชัน เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้นในองค์กร ให้การดำเนินกิจการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และรับผิดชอบต่อสังคม

“30 ปีที่ผ่านมา อีสท์ วอเตอร์ดำเนินธุรกิจอยู่บนพื้นฐานความโปร่งใส บรรษัทภิบาล และความยั่งยืน รวมถึงการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อบรรลุเป้าหมายในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อทุกภาคส่วน ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน”