
สัมภาษณ์
ผ่านมา 27 ปีสำหรับธุรกิจผู้ให้บริการน้ำในภาคตะวันออก บริษัท East Water หรือ “EASTW” มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สามารถทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอ หลังจากการเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ถือหุ้น 100% แต่ปัจจุบันเหลือ 40.2% แต่มี “มะนิลา วอเตอร์” นักลงทุนจากฟิลิปปินส์เข้ามาถือหุ้นสัดส่วน 18.72% แทนเอ็กโก้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ถือหุ้น 4.57% และนักลงทุนอื่นๆ 36%
“นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ให้ภาพรวมของธุรกิจว่า เมื่อ 10 ปีก่อนบริษัทมีรายได้ 2,878 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 4,255 ล้านบาท เติบโตปีละ 4% ยอดขายครึ่งปีแรก มูลค่า 2,360.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.79% มีกำไร 609.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.97% สัดส่วนรายได้หลัก 60% มาจากการขายน้ำดิบ รองลงมา คือ ประปา 31% ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทลูก “Universal Utilities” หรือ UU และน้ำประเภทอื่น ๆ 9%
บริษัทมีพื้นที่ให้บริการหลักอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ด้วยโครงข่ายท่อส่งน้ำความยาว 491.8 กม. อาศัยแหล่งน้ำจากแม่น้ำบางปะกงสูบได้ช่วงฤดูฝน และอ่างเก็บน้ำคลองบางพระ หนองค้อ หนองปลาไหล ดอกกราย คลองใหญ่ และประแสร์ เป็นต้น โดยต้นทุนการจำหน่ายน้ำดิบ แบ่งเป็นค่าไฟฟ้า สัดส่วน 36% ค่าเสื่อม 30% ซ่อมแซม 4% ค่าน้ำ 17% เฉพาะน้ำจากอ่างเก็บน้ำจะต้องจ่ายให้กรมชลประทาน แต่แหล่งน้ำธรรมชาติไม่ต้องจ่ายค่าน้ำ
ขณะที่ต้นทุนการผลิตน้ำประปา แบ่งเป็นน้ำดิบ 19% ค่าเสื่อม 32% ค่าไฟ 16% และค่าเคมีภัณฑ์ 4% ทั้งนี้ UU มีกำลังผลิตน้ำประปาได้ 400,317 ลบ.ม./วัน ขายได้ 277,207 ลบ.ม.ต่อวัน ให้สัญญาสัมปทาน กปภ. 13 สัมปทาน ครอบคลุมการให้บริการ ผลิต ซ่อม และการขายน้ำประปา และยังมีสัญญากับหน่วยงานท้องถิ่น และโครงการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลที่เกาะล้านและเกาะสมุยรวม 3,000 ลบ.ม.ต่อวัน
รับอานิสงส์จากภัยแล้ง
ปัจจัยภัยแล้งตามข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา ที่คาดว่าปีนี้ปริมาณฝนลดลง 5-10% จากปกตินั้น จะส่งผลดีกับเรา เพราะสต๊อกน้ำสำรองในนิคมของลูกค้าจะน้อยลง จำเป็นต้องซื้อน้ำเพิ่มขึ้น แต่ด้วยปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ลดลง อาจมีต้นทุนการสูบส่งสูงขึ้นตามระยะทางมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่ามีปริมาณน้ำในพื้นที่เพียงพอตามที่คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC เฉลี่ย 820,000 ลบ.ม.ต่อวัน แบ่งเป็นระยอง 500,000 ลบ.ม.ต่อวัน ชลบุรี 200,000 ลบ.ม.ต่อวัน ปลวกแดง 70,000 ลบ.ม.ต่อวัน และฉะเชิงเทรา 50,000 ลบ.ม.ต่อวัน ส่วนครึ่งปีหลังความต้องการใช้น้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน
โดยบริษัทเตรียม 6 แนวทางป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้ง ประกอบด้วย 1) สูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์-คลองใหญ่ 2) สูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 3) ใช้น้ำจากแหล่งน้ำเอกชนเข้ามาเสริมในพื้นที่ชลบุรีและฉะเชิงเทรา 4) สำรองน้ำจากแม่น้ำบางปะกง เข้าอ่างเก็บน้ำบางพระ ช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 5) สูบผันน้ำจากคลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ ในช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม และ 6) ปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่ ส.ค. 2562-ต.ค. 2562 เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำใน 10 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนขุนด่านปราการชล อ่างเก็บน้ำบางพระปรง คลองสียัด บางพระ น้ำดอกกราย เป็นต้น
มุ่งสู่น้ำเพื่ออุตสาหกรรม
บริษัทมุ่งสู่การทำ “ธุรกิจน้ำครบวงจร” จากเดิมที่เน้นขายน้ำดิบและประปา แต่มองว่าอนาคตการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศจะมากขึ้นจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้ “น้ำเพื่ออุตสาหกรรม” จะเป็นส่วนสำคัญ เราได้วางเป้าหมายว่าจะเพิ่มให้ได้สัดส่วน 10-20% ในอีก 2 ปีข้างหน้า และในอีก 10 ปีข้างหน้าน้ำอุตสาหกรรมจะเป็นสัดส่วนรายได้หลัก แต่สเป็กของน้ำอุตสาหกรรมจะมีต่างกันไปหลายประเภท เราจึงมุ่งจะขยายสโคปเป็นน้ำเพื่ออุตสาหกรรม น้ำดื่ม น้ำประปา รวมถึงการบำบัดน้ำเสีย และน้ำรีไซเคิล
ขณะนี้เราได้เสนอขายโซลูชั่นบริการน้ำครบวงจร เน้นนิคมอุตสาหกรรมเกิดใหม่ โดยเราจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเก็บค่าบริหารจัดการ น้ำดีและน้ำเสีย ไม่เน้นเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมี 7 โครงการ แต่ยังมีนอกพื้นที่ EEC อีก 6 โครงการ ยกตัวอย่างเช่น ปีก่อนลงนามสัญญาร่วมผลิตน้ำให้นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ กำลังการผลิต 5.5 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี รับรู้รายได้ในปี 2563, สัญญาผลิตน้ำสำหรับโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ปลวกแดง กำลังการผลิต 22 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี จะรับรู้รายได้ในปี 2564
ล่าสุดทางกองทัพเรือพิจารณาคัดเลือกให้ผลิตน้ำครบวงจรสำหรับใช้น้ำในสนามบินอู่ตะเภา ทั้งน้ำประปา 20,000 ลบ.ม.ต่อวัน บำบัดน้ำเสีย 16,000 ลบ.ม.ต่อวัน และน้ำรีไซเคิล 4,000 ลบ.ม.ต่อวัน และยังมีการก่อสร้างวางระบบน้ำประปาและระบบบำบัดน้ำเสีย นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง รวม 25,200 ลบ.ม.ต่อวัน และโครงการบำบัดน้ำเสียแก่ราชบุรีกล๊าส อินดัสทรี 1,000 ลบ.ม.ต่อวัน และระบบน้ำครบวงจรในอยุธยากล๊าส อินดัสทรีอีก 3,000 ลบ.ม.ต่อวัน
ดีมานด์น้ำ EEC ปี 2037
การลงทุนรับความต้องการใช้น้ำอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นนั้น ทำให้เราลงทุนสร้างระบบท่อเพื่อเชื่อมโยงน้ำด้วยเงินลงทุน 2,200 ล้านบาท เชื่อมน้ำจากคลองหลวงส่งมาฮับกับเส้นท่อส่งหลัก คาดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นปี 2564 มีกำลังการผลิต 40 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งปริมาณน้ำที่ลงทุนเตรียมไว้นี้ คาดว่าจะมีเพียงพอใช้ เพราะเป็นการคาดการณ์ปริมาณน้ำสูงกว่าความต้องการใช้น้ำที่ประเมินไว้ (เผื่อใช้) อีก 20-25%
บริษัทได้จัดทำแผนน้ำ 20 ปีข้างหน้าที่คาดว่าความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มสูงขึ้นและวางแผนการลงทุนรองรับอย่างน้อย 4 โครงการนับจากปี 2020-2037 เช่น การผันน้ำจากแม่น้ำประแสร์ 50 ล้าน ลบ.ม., โครงการอ่างเก็บน้ำทับมา (Tubma Reservoir) 20 ล้าน ลบ.ม. ช่วงปี 2024-2027, โครงการผันน้ำจากอำเภอแกลงอีก 70 ล้าน ลบ.ม.ช่วงปี 2032-2037
ซึ่งทั้งหมดจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำเป็น 719 ล้าน ลบ.ม.ในปี 2037 จากปีนี้ซึ่งมีปริมาณ 300 ล้าน ลบ.ม. (ตาราง) จึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการโครงการอื่น ๆ เช่น การผันน้ำสตึงมนัม ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่า ต้องสูบส่งมาในระยะทางไกล มีต้นทุนสูงกว่า ประกอบกับปริมาณน้ำในภาคตะวันออกมีมากอยู่แล้ว หากผันน้ำจากสตึงมนัมมาอีกก็ไม่มีสถานที่เก็บน้ำเพียงพอ
รื้อโครงสร้างค่าน้ำ
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่การใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญเพิ่มขึ้นในอนาคต หากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า ทางอีสท์วอเตอร์จึงเตรียม “ปรับโครงสร้างค่าน้ำ” ให้สอดรับกับระบบสากล คำนวณตามอัตราจริงซึ่งทำให้แต่ละพื้นที่มีอัตราค่าน้ำแตกต่างกัน เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เช่น ต้นทุนการสูบส่งน้ำ จ.ระยองต่ำที่สุด ก็ไม่ต้องไปแบกภาระในการจ่ายค่าน้ำในอัตราเดียวกับจังหวัดอื่น ประกอบกับระบบใหม่ลูกค้าต้องทำสัญญาล่วงหน้าแจ้งปริมาณการใช้น้ำในปีนั้น ๆ เพื่อทางบริษัทจะการันตีหาน้ำให้เพียงพอโดยที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องสำรองน้ำใช้ เผื่อเก็บสต๊อก ซึ่งจะทำให้เกิดความสมดุลและมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้
ระบบนี้จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 แต่จะมีการประกาศอัตราล่วงหน้าในไตรมาส 4 พร้อมทั้งรณรงค์แคมเปญ URD ให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างถูกต้อง (usage) การใช้น้ำอย่างยั่งยืน (reserve) และการใช้น้ำให้พอดี (demand)