รู้จัก “มอก.9999” มาตรฐานอุตฯสู่ยั่งยืน

รู้จัก มอก.9999

นับเป็นเวลา 9 ปีที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้เริ่มบังคับใช้ “มอก.9999” หรือมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งจนถึงขณะนี้มีผู้ได้รับการรองเพียง 27 ราย (ตามกราฟิก) ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มมิตรผล น้ำมันพืชกุ๊ก ซีพีแรม ต่างก็ได้รับการรับรองรับมาตรฐานนี้แล้ว

มอก.9999 ที่ประกาศออกมานั้น อาจจะมีความแตกต่างและไม่เป็นที่คุ้นชินกับผู้ประกอบการเหมือน มอก.ทั่ว ๆ ไป เพราะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการบูรณาการระบบการจัดการขององค์ให้สมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ความมั่นคง เติบโตอย่างยั่งยืน และมีความสุขในทุกภาคส่วนขององค์กร

โดยมอบให้สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.) ดำเนินการสนับสนุนให้สถานประกอบการนำมาตรฐานนี้ไปใช้ ให้การฝึกอบรมเกี่ยวกับมาตรฐาน และการบริการแนะนำกระบวนการนำมาตรฐานนี้ไปใช้ในสถานประกอบการ

ตาราง ‘มอก.999‘

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการ สมอ. เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา เรื่อง “มาตรฐานนำอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน” เพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับมาตรฐาน มอก.9999 และส่งเสริมให้มีการนำมาตรฐานดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ให้เกิดการพัฒนาที่สมดุล ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งความไม่แน่นอนในด้านต่าง ๆ ตลอดจนให้ความรู้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต มอก. หลังได้รับใบอนุญาตต้องทำอย่างไร เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถปฏิบัติได้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 407 ราย

บรรจง สุกรีฑา

ภายในงานนี้ สมอ.ได้มอบใบประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ TLC มอก. 9999 ที่ประสบความสำเร็จในการนำ มอก.9999 ไปประยุกต์ใช้ในสถานประกอบการ และผ่านการทวนสอบประสิทธิผลจาก สมอ.เรียบร้อยแล้ว 6 ราย ได้แก่ บริษัท ซีพีแรม จำกัด (ชลบรี) บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) บริษัท น้ำตาลท่ามะกา จำกัด บริษัท เอสเอฟซี เอกเซลเล้นซ์ จำกัด บริษัท สยามไวร์ อินดัสทรี จำกัด และบริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด

นายบรรจงเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน มอก.9999 ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ได้รับการรับรองจะเป็นรายที่ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจอยู่แล้ว อย่างรายใหญ่ ๆ ที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์องค์กร ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ผู้ที่ได้รับใบรับรองยังมีค่อนข้างน้อย แม้จะเริ่มมา 9 ปีแล้ว

“มอก.นี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2556 แต่คนขอค่อนข้างขอน้อย เพราะแต่ละองค์กรนโยบายแตกต่างกัน มันขึ้นอยู่กับผู้บริหาร แต่ที่เราพบว่าเป็นประเด็นมากคือเขาจะคิดถึงเรื่องของการดำเนินธุรกิจเป็นหลักก่อน โดยเฉพาะรายเล็ก ๆ เขามีเรื่องที่ต้องทำก่อน เพราะบริษัทเขาต้องกู้ ต้องทำรายได้ ต้องมีรายจ่าย ต้องหาเงินมาใช้หนี้ ทำให้เขามองเรื่องการขอ มอก.9999 ไกลตัว”

“แต่แน่นอนว่ายังมีรายเล็กที่หันมาให้ความสนใจเรื่องนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางและหลักการในการดำเนินธุรกิจในอนาคต เช่น เมื่อเขารู้ว่าการทำธุรกิจมีหนี้อาจไม่ยั่งยืน แนวทางที่ยังยืนก็คือแนวทางแบบเศรษฐกิจพอเพียง เขาจึงตั้งเป้าว่าถ้าทำได้ตามแนวทางถึง 80% เขาก็จะยื่นขอใบรับรอง ซึ่งในอนาคตเราจะเห็นรายเล็ก ๆ ได้ มอก.9999 เช่นกัน อย่างบริษัท วงษ์พาณิชย์ธุรกิจรับซื้อขยะรีไซเคิล เขากำลังศึกษาแนวทางนี้เพื่อขอใบรับรองและเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย”

สำหรับการผลักดันในประเทศ สมอ.ได้ลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์ครบทั้ง 4 ภาค ล่าสุด จ.ระยอง ได้รับผลตอบรับดีโดยเฉพาะนักศึกษา และพนักงานหลาย ๆ องค์กร ที่อยู่ภายใต้ความร่วมมือของไตรภาคี ได้นำเรื่องดังกล่าวไปเผยแพร่และปฏิบัติภายในโรงงานอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม สมอ.ไม่ได้เพียงผลักดันเรื่องดังกล่าวในประเทศเท่านั้น แต่ได้เสนอแนวทางนโยบาย และหลักการทั้งหมดในเวที องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งเบื้องต้นได้มีการรับหลักการแล้ว