วิษณุ แนะโรงเรียนให้ความสำคัญวิชาประวัติศาสตร์

วิษณุ เครืองาม

“วิษณุ” รองนายกรัฐมนตรี แนะโรงเรียนให้ความสำคัญวิชาประวัติศาสตร์ ชี้ก่อนจะแลหน้าให้เหลียวหลังก่อน ที่ผ่านมาสอนไม่สำเร็จเพราะคนสอนกับคนเรียนไม่สนใจ

วันที่ 8 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมนภาลัย จังหวัดอุดรธานี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในการประชุมสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ครั้งที่ 40 “ประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรลืม” ว่า โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ได้เพิ่มการเรียนการสอนในวิชาสำคัญที่นอกเหนือไปจาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มีอยู่แล้ว อีก 2 วิชาคือ วิชาความฉลาดรู้เรื่องสื่อ กับวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม และในปีการศึกษา 2565 นี้ก็ได้เพิ่มการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ อีกวิชาหนึ่ง

ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) มีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งโรงเรียนในพื้นที่สามารถจัดการศึกษาได้หลากหลาย ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ตนขอฝากผู้เกี่ยวข้องว่าในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานั้นอาจนำวิชาความรอบรู้เกี่ยวกับสื่อ วิชาหน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และวิชาประวัติศาสตร์ใส่ไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาด้วย

“ประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากมาย เป็นองค์ความรู้เรื่องราวในอดีตที่มีหลักฐานชัดเจน หากไม่รู้เรื่องในอดีตอาจทำเรื่องในอนาคตได้ไม่ดี เพราะคนในอดีตอาจทำเรื่องนั้น ๆ ไว้แล้ว โดยเราสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้กับปัจจุบัน และอนาคตได้ในทุก ๆ สาขาอาชีพ หรือ อาจกล่าวได้ว่าก่อนจะแลหน้าให้เหลียวหลังก่อน จึงจะเรียกว่ารอบรู้ ประเทศชาติเปรียบเสมือนต้นไม้”

นายวิษณุกล่าวต่อว่า ความไม่ประสบผลสำเร็จของวิชาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาคือ ได้คนที่ไม่สนใจมาสอน วิธีการสอนไม่สนุก และคนที่สอนกับคนที่เรียนไม่พอใจในวิชาเท่าที่ควร เมื่อไม่พอใจ ก็ไม่มีความพากเพียรเอาใจใส่ ซึ่งการใช้อิทธิบาท 4 คือ “ฉันทะ” ความรักงาน-พอใจกับงานที่ทำอยู่ “วิริยะ” ขยันหมั่นเพียรกับงาน “จิตตะ” ความเอาใจใส่รับผิดชอบงาน และ “วิมังสา” การพินิจพิเคราะห์ หรือความเข้าใจ มาเป็นแนวทางการทำงาน จะทำให้การสอนประวัติศาสตร์สำเร็จได้ ต้องสอนให้รู้ว่าเรื่องราวนั้น ๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมถึงเกิดขึ้น และเกิดแล้วส่งผลอะไร ซึ่งไม่ใช่การสอนโดยให้ท่องจำ

สำหรับโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเป็นโรงเรียนที่นายกำพล วัชรพล เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้ก่อตั้งโครงการโรงเรียนไทยรัฐวิทยาขึ้น เพื่อชุมชนในชนบทที่ห่างไกล โดยปัจจุบันมีโรงเรียนไทยรัฐวิทยา จำนวน 111 โรงเรียน อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 100 โรงเรียน และสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) 1 โรงเรียน