อควาเรียมหอยสังข์ ก่อสร้าง 14 ปี งบฯ 1.4 พันล้าน ยังใช้ประโยชน์ไม่ได้

อความเรียมหอยสังข์

มหากาพย์ อควาเรียมหอยสังข์ วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จ.สงขลา ก่อสร้างมา 14 ปี ใช้งบประมาณ 1.4 พันล้านบาท จนถึงวันนี้ยังใช้ประโยชน์ไม่ได้ กระทรวงศึกษาธิการ ยันไม่เคยทิ้ง เสนอ 6 แนวทาง แต่อาจต้องเพิ่มงบฯอีก 1.2 พันล้าน 

วันที่ 17 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรืออะควาเรียมรูปหอยสังข์ ของวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา กลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง หลังจากที่ นายปรีชา สุขเกษม ตัวแทนเครือข่ายพลเมืองสงขลา ได้ออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ ออกมาชี้แจงให้ประชาชนรับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

เนื่องจากอควอเรียมหอยสังข์แห่งนี้ อยู่ในความดูแลของสำนักงานกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2551 เดิมมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2554 ในวงเงินประมาณ 800 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้การดำเนินการโครงการกลับยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งยังมีการใช้งบประมาณไปแล้วไม่น้อยกว่า 1,400 ล้านบาท จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง และไม่มีบุคคลใดทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงว่า เหตุใดโครงการนี้จึงถูกทิ้ง และยังไม่มีทีท่าว่าการก่อสร้างจะเสร็จเมื่อใด

ศธ.ยันไม่เคยทิ้ง

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้รายงานให้ตนรับทราบแล้วถึงการลงพื้นที่ประชุมชี้แจงปัญหาการก่อสร้างโครงการดังกล่าวที่ถูกทิ้งร้างมานาน 14 ปี และใช้งบประมาณไปแล้ว 1,400 ล้านบาท ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และเครือข่ายพลเมืองสงขลา เมื่อเร็ว ๆ นี้

“ซึ่งตนขอยืนยันว่า ศธ.ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ และพร้อมเดินหน้าก่อสร้างต่อให้เสร็จสิ้น แต่เราต้องมาศึกษาวิเคราะห์อย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการลงทุน เนื่องจากเป็นการใช้งบประมาณที่สูง ดังนั้นจะต้องคุ้มค่าต่อการลงทุนที่จะเดินหน้าต่อ อีกทั้งจะต้องทำให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยจะไม่ให้เกิดการทุจริตเหมือนในอดีตที่ผ่านมาอีก”

นางสาวตรีนุชกล่าวต่อว่า ตนได้มอบหมายให้ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ.ไปจัดทำรูปแบบการก่อสร้างต่อว่าจะเดินหน้าในรูปแบบใดแล้ว เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไปและอาคารอควาเรียมก็มีการก่อสร้างมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว ซึ่งสภาพอาคารก็ทรุดโทรมลงอย่างมาก

สำหรับแนวทางการเดินหน้าต่อเบื้องต้น เช่น การให้เป็นศูนย์อควาเรียมแบบผสมผสาน ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงหรือเอไอ การจัดทำศูนย์ฝึกอบรมให้เยาวชนเรียนรู้ เป็นต้น ซึ่งมีหลากหลายแนวทาง โดยจะนำแนวทางการก่อสร้างต่อให้พื้นที่เลือกว่าแนวทางใดจะตอบโจทย์ต่อการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งตนจะต้องนำเรื่องนี้รายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบด้วย อย่างไรก็ตาม ตนอาจลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารอควาเรียมในเร็ว ๆ นี้เช่นกัน

เสนอ 6 แนวทาง ก่อสร้างต่อ

ล่าสุดวันที่ 17 สิงหาคม มติชน รายงานว่า นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้หารือกับ ประชาคมชาวสงขลา และเสนอ 6 แนวทางให้พิจารณา คือ

1.ให้ดำเนินการสร้างอควาเรียมเหมือนเดิม

2.สร้างอควาเรียม แต่บูรณาการเทคโนโลยีเสมือนจริงเข้าไปด้วย

3.จัดทำเป็นศูนย์ศึกษาพันธุ์พืช และป่าชายเลน

4.จัดทำเป็นศูนย์อบรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

5.โอนให้จังหวัดมาดำเนินการ เพื่อจัดแสดงสินค้า แสดงศิลปวัฒนธรรมภาคใต้

6.จัดทำเป็นศูนย์แสดงสินค้า และการท่องเที่ยวทางน้ำโดยสร้างท่าเรือ

“ทั้ง 6 แนวทาง จะเลือกแนวทางใดขึ้นอยู่กับนายสุเทพ โดยจะต้องไปดูข้อดี ข้อเสีย ก่อนเสนอให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาอีกครั้ง ผมได้รายงานให้รัฐมมนตรีว่าการ ศธ. รับทราบถึงปัญหาในภาพรวมทั้งในส่วนโครงสร้างว่ามีปัญหาอะไรบ้าง หากเลือกดำเนินการในแต่ละแบบจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมประมาณเท่าไร และหากมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์อาคาร โดยเลือกดำเนินการตามแนวทางที่ 3-6 จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาตามมาในภายหลัง

ซึ่งเท่าที่ดูแนวโน้ม รัฐมนตรีว่าการ ศธ. อยากให้ดำเนินการตามแนวทางที่ 5 และ 6 คือ จัดทำเป็นศูนย์แสดงสินค้าท้องถิ่น ซึ่งคงต้องดูความเหมาะสมรอบด้าน หรือหากเลือกแนวทางที่ 6 คือ ให้จังหวัดดูแล จัดทำเป็นศูนย์แสดงสินค้า และการท่องเที่ยวทางเรือ ก็จะต้องดูผลกระทบต่อพื้นที่การศึกษาที่ต้องออกแบบให้ดี เพราะอาจมีคนเข้ามาท่องเที่ยว รวมถึงดูในเรื่องประโยชน์ที่จะเกิดกับการศึกษาด้วย อาทิ ให้นักศึกษาได้มีพื้นที่ในการฝึกวิชาชีพ ตามระบบทวิภาคีด้วย ไม่ใช่ให้จังหวัดดูแลขาดไปเลย”

อาจเพิ่มงบฯ 1.2 พันล้าน

นายสุภัทรกล่าวต่อว่า ขณะนี้นายสุเทพได้ขอตั้งคณะทำงานเพื่มเติม เพื่อเสนอทางเลือกที่ดีที่สุดให้คณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ที่มี นายรอยล จิตรดอน เป็นประธานพิจารณาก่อนเสนอ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป หากเลือกแนวทางที่ 3-6 ถือเป็นแนวทางที่ลงทุนน้อย แต่ผิดวัตถุประสงค์

ดังนั้น จึงต้องเสนอให้ ครม.พิจารณา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งเท่าที่ได้พูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และนายสุเทพ ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับแนวทางที่ 5 และ 6 หากเลือกกลับไปสร้างอควาเรียม ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอ ครม. สามารถเดินหน้าออกแบบเพิ่มเติมได้เลย แต่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มอีกจำนวนมาก

“เท่าที่ดูเบื้องต้นต้องใช้งบฯเพิ่มกว่า 800-1,200 ล้านบาท สำหรับการก่อนสร้างอาคาร โรงพยาบาลสัตว์น้ำ กลุ่มพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ยังไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องจัดจ้างเพิ่มเติมเข้ามาอีกจำนวนมาก”