เปิดตัวระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติ นำร่อง 4 มหาวิทยาลัย ปี 2566

กระทรวง อว.

กระทรวง อว. จับมือ SkillLane เปิดตัวโครงการนำร่องจัดทำคลังหน่วยกิตแห่งชาติ นำร่องใน 4 มหาวิทยาลัย

วันที่ 18 ตุลาคม 2565 ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่าเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา กระทรวง อว.ได้ประกาศระบบการเทียบโอนหน่วยกิต และระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญภายใต้นโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษา ของ รมว.อว.ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

โดยระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติมีเป้าหมายในการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนของประเทศผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนในทุกช่วงวัย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นนักศึกษาสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา ภายใต้ระบบคลังหน่วยกิต ซึ่งผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตผ่านในระบบคลังหน่วยกิตได้ผ่าน 3 รูปแบบ ได้แก่

1.หลักสูตรต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ทุกวิชาสามารถเปิดให้คนทุกช่วงวัยเข้ามาเรียนเพื่อสะสมหน่วยกิตได้

2.หลักสูตรจากสถาบันอบรมต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรองจาก อว.โดยต้องร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่งในการเปิดหลักสูตรร่วมกัน ไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาว 3.ประสบการณ์การทำงาน ทุกคนสามารถเอาประสบการณ์การทำงานมาเป็นเครดิตตนเองได้ แต่ทั้งนั้นก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละมหาวิทยาลัยว่าจะกำหนดแบบใดถึงจะมีการนำเอาประสบการณ์มาเทียบเป็นหน่วยกิตได้

โดยจะมีคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา สถานประกอบการไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง เมื่อเทียบโอนและสะสมไว้ที่คลังหน่วยกิตแห่งชาติแล้วสามารถนำขอรับปริญญาบัตรจากสถาบันอุดมศึกษาได้ หรือเพื่อเป็นรายงานผลลัพธ์การเรียนรู้สะสมของผู้เรียน ประเดิมนำร่อง กับ 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยในช่วงกลางปี พ.ศ. 2566 ได้แก่ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล

ศ.ดร.ศุภชัยกล่าวต่อว่าที่ผ่านมา อว.ได้ดำเนินโครงการ Thailand Cyber University ที่มีหลักสูตรออนไลน์ ผ่าน Thai MOOC ซึ่งช่วยในการส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้แก่ผู้เรียนนอกมหาวิทยาลัยมาก่อนแล้ว ในขณะที่ระบบคลังหน่วยกิตใหม่นี้จะเป็นการต่อยอด และขยายโอกาสการเรียนรู้ของผู้เรียนออกไปอีกมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ระบบคลังหน่วยกิตเกิดผลอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ อว.จึงได้ร่วมกับ SkillLane และอีก 4 มหาวิทยาลัย ในการนำร่องการทดลองระบบคลังหน่วยกิตทั้งในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการตามประกาศ และทางเทคนิคที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศข้อมูล และจะขยายรูปแบบตามโครงการนำร่องไปยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อให้ระบบคลังหน่วยกิตเกิดประโยชน์สูงสุด

นายฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์
นายฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์

ด้านนายฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกิลเลน เอดูเคชั่น จำกัด กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในโครงการนำร่องจัดทำคลังหน่วยกิตแห่งชาตินี้ได้จะใช้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของเราเข้ามาช่วยพัฒนาระบบสารสนเทศของคลังหน่วยกิตแห่งชาติโดยใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อคลังหน่วยกิตของแต่ละสถาบันเข้าไว้ด้วยกัน

“หน้าที่ของ คลังหน่วยกิตแห่งชาติ มี 4 อย่าง คือ 1.เก็บข้อมูลการสะสมหน่วยกิตของผู้เรียน 2.เชื่อมโยงคลังหน่วยกิตจากสถาบันการศึกษากับธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ 3.ผู้เรียนสามารถเรียกใช้ เรียกดูหน่วยกิตที่สะสมไว้ได้ และ 4.มีความปลอดภัย เพื่อทำให้ผู้เรียนได้เรียนตรงกับความต้องการของตัวเอง เลือกเรียนตามความชอบของตนเอง ส่งเสริมให้คนไทยได้เรียนรู้มากขึ้น และเรียนรู้ตลอดชีวิต”

รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า คลังหน่วยกิตแห่งชาติจะเชื่อมต่อกับ TUXSA ซึ่งเป็นหลักสูตรออนไลน์ของธรรมศาสตร์ได้อย่างลงตัวในอนาคตแล้ว ยังจะช่วยให้ธรรมศาสตร์กลับไปทำหน้าที่ตลาดวิชายุคดิจิทัลที่ส่งเสริมการ Upskill และ Reskill ให้กับคนในทุกเจเนอเรชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ม.ธรรมศาสตร์ได้ปรับตัวในเรื่องการเรียนการสอนหลายด้าน เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งประกาศกฎระเบียบใหม่ คือเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ไปประกวดหรือแข่งขันโครงการใด ๆ ก็ตามสามารถนำเอาผลสำเร็จตรงนั้นมาเทียบเป็นหน่วยกิตได้เป็น 6 หน่วยกิต หรือถ้าเป็นสตาร์ตอัพก็สามารถนำมาเทียบเป็นหน่วยกิตได้ถึง 16 หน่วยกิต เพราะการที่เป็นสตาร์ตอัพได้นั้น แปลว่ามีความรู้ความสามารถ มีบริษัทที่เข้ามาร่วมลงทุนด้วย ซึ่งการปรับตัวในลักษณะนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสแก่นักศึกษา ทำให้นักศึกษามีประสบการณ์ตั้งแต่เรียนในห้องเรียน เพราะตอนนี้การเรียน 4 ปีในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวอาจช้าไป นักศึกษาธรรมศาสตร์ต้องมีความรู้ มีประสบการณ์ตั้งแต่ในห้องเรียน”

รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่อว่าคลังหน่วยกิตแห่งชาติ (NCBS) เป็น Ecosystem สำคัญของกระทรวง ที่ขยายโอกาสให้กับนิสิตนักศึกษาในระบบ Formal Informal และ Non-Formal Education ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนความรู้ใหม่ ๆ ผ่านหลากหลายแหล่งเรียนรู้และประสบการณ์การทำงานจริง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนวิสัยทัศน์ของจุฬาฯ ในศตวรรษใหม่ที่พร้อมปรับตัวเข้ากับอนาคต ผ่านการมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนสังคมและประเทศ รวมถึงผลิตบัณฑิตสมรรถนะสูงที่ตอบสนองความเจริญก้าวหน้าของโลกยุคใหม่บนฐานของ Demand Driven

รศ.ดร.ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าตอนนี้ ม.เชียงใหม่ มีหลักสูตรมากกว่า 200 หลักสูตรที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยเข้ามาเรียนรู้ทั้งในรูปแบบออฟไลน์ ออนไลน์ ซึ่งเราทำมาสักระยะหนึ่ง และเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2564 และคาดว่าในอนาคตจะมีการเปิดหลักสูตรมากขึ้น เพื่อรองรับกับระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติ และทำให้การเรียนในรูปแบบสะสมหน่วยกิต เป็นที่รับรู้และเข้าใจไปยังวงกว้างมากขึ้น

รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ รองอธิการบดีด้านวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่าเรามียุทธศาสตร์ ONE RMUT ของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่ง เพื่อร่วมกันพลิกโฉมแนวทางการผลิตกำลังคนยุคใหม่ เพื่อผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงและนวัตกรเพื่อพัฒนาประเทศไทยในระยะยาว คาดว่าระบบคลังหน่วยกิตจะช่วยซัพพอร์ตการพัฒนากำลังคนของกลุ่ม ONE RMUT ตอนนี้เรามีการวางหลักสูตรในระบบราว 45 หลักสูตร สำหรับนักศึกษาปริญญาตรี และคนทั่วไป