ใช้โมเดลสหรัฐ ยกระดับการผลิตครู นำร่อง 10 มหาวิทยาลัย

สอวช

สอวช. ร่วมกับคุรุสภา ศูนย์ SEAMEO STEM-ED และเชฟรอน ใช้งบฯ 12 ล้านบาท นำโมเดลจากสหรัฐลุยโครงการยกระดับการผลิตครูใหม่ นำร่องคณะศึกษาศาสตร์ คุรุศาสตร์ ในมหาวิทยาลัย 10 แห่ง 

วันที่ 31 ตุลาคม 2565 ที่สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่าบทบาทของ สอวช.ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ผ่านมาได้ร่วมสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายส่วนในด้านการอุดมศึกษา โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนากำลังคน

ล่าสุด สอวช.ได้ร่วมกับคุรุสภา, ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จัดทำโครงการครุศึกษายุคใหม่ หรือ Strengthening Teachers Education Program (STEP) ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการจะยกระดับการผลิตครูของประเทศไทย ด้วยการนำเอาองค์ความรู้และเทคนิคการสอนภาคปฏิบัติจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) สถาบันผลิตครูชั้นนำของสหรัฐอเมริกา มาถ่ายทอดให้กับคณาจารย์และนิสิตนักศึกษา คณะศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

ดร.กิติพงค์กล่าวต่อว่า จากผลการศึกษาวิจัยด้านการศึกษา ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเสนอให้มีการปฏิรูปการจัดการศึกษาในคณะคุรุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ของประเทศ ประกอบกับผลการสังเกตการสอนในห้องเรียน โดยผู้ประเมินโครงการ Chavron Enjoy science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก เชฟรอน ชี้ตรงกันถึงความสำคัญของการยกระดับคุณภาพโปรแกรมการผลิตครูและการพัฒนาครูประจำการ

ขณะที่การประเมินผลนักเรียนของไทยครั้งล่าสุดจากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล พบว่านักเรียนไทยช่วงอายุ 15 ปั จำนวนมากมีผลคะแนนวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน และความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ลดลง เช่นเดียวกับผลสอบ O-NET ของนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ที่ลดลง

ดังนั้นจึงเล็งเห็นว่าปัจจุบันบทบาทของครูควรต้องปรับเปลี่ยนไป จากที่เป็นแค่ผู้สอน จะต้องเพิ่มบทบาทในการเป็นเมนเทอร์ หรือเป็นโค้ช ให้กับนักเรียน ต้องมีความพร้อมที่จะดูแลนักเรียนตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อนักเรียนต้องการคำปรึกษา ครูต้องพร้อมที่จะให้คำปรึกษาได้เสมอ โดยอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

คุรุสภาวางมาตรฐานผลิตครูใหม่

ด้าน ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่าโครงการนี้จะนำไปประยุกต์ใช้ในการกำหนดแนวทางกำกับคุณภาพวิชาชีพครู อาทิ มาตรฐานหลักสูตรในการผลิตครู การออกใบประกอบวิชาชีพครู ฯลฯ ช่วยเติมเต็มประสิทธิภาพให้กับวงการครูได้แบบบูรณาการ ตั้งแต่ผู้ผลิตครูต้นน้ำ ได้แก่ มหาวิทยาลัย คณาจารย์ จนถึงปลายน้ำอย่างกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่จบออกไปเป็นครูวิชาชีพในอนาคต

“ตอนนี้คุรุสภาก็มีการดำเนินการเรื่องวางมาตรฐานการผลิตครูในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องของจรรยาบรรณ และจะมุ่งเน้นไปที่การเน้นผลิตครูให้ได้มาตรฐาน ไม่ใช่แค่ปริมาณ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในนโยบายของนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่อยากให้เรื่องการผลิตครูเน้นไปที่คุณภาพ และมีจรรณยาบรรณเป็นวาระสำคัญ และในเดือน พ.ย. จะมีการประชุมสภาคณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ กับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ”

นำร่อง 10 มหาวิทยาลัย

ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ ศูนย์ SEAMEO STEM-ED กล่าวว่าองค์ประกอบสำคัญของโครงการ ประกอบด้วย ภาควิชาการ ถ่ายทอดแนวปฏิบัติการสอน พื้นฐานจำเป็นที่ครูต้องเรียน อาทิ การฝึกเทคนิคและวิธีการสอนที่ช่วยในการตั้งคำถาม พร้อมให้คณาจารย์และนิสิตนักศึกษาช่วยกันหากระบวนการปรับปรุงการเรียนการสอน สร้างและแบ่งปันเนื้อหา/แพลตฟอร์ม กรณีศึกษาต่าง ๆ โดยเชิญ Consortium for Core Practices จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย มาให้คำแนะนำ

ต่อด้วยภาคปฏิบัติ จัดตั้งเป็นทีม โดยเน้นกระบวนการเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการที่มีคุณภาพ โดยแต่ละทีมต้องมีครูพี่เลี้ยง ที่มีประสบการณ์การสอนและผ่านการอบรมด้านการให้คำปรึกษา มาช่วยให้คำแนะนำ พร้อมเข้าเยี่ยมนิสิตนักศึกษาเพื่อให้คำปรึกษา 2 ครั้งต่อเดือน

ดร.พรพรรณกล่าวต่อว่า โครงการ STEP เป็นโครงการระยะยาว 3 ปี ตั้งแต่ตุลาคม 2565-กันยายน 2568 ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยตอบรับเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 10 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ, มหาวิทยาลัยทักษิณ, มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, มหาวิทยาลัยฟาฏอนี, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

“โครงการนี้จะเริ่มจากกลุ่มนักศึกษาที่มีความสนใจที่จะเป็นครูด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ก่อน ซึ่งมองว่าเป็นทักษาะสำคัญ ซึ่งจะเปิดรับเข้าร่วมโครงการอย่างน้อยมหาวิทยาลัยละ 50 คน ในระยะแรกคาดว่าใน 10 มหาวิทยาลัยจะสามารถผลิตครูจากโครงการนี้ได้ราว 500 คน และจะมีการวิจัยต่อเนื่องว่าผลของโครงการประสบความสำเร็จหรือไม่ ก่อนจะขยายไปสู่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ”

เชฟรอนให้ทุน 12 ล้าน

นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่าเชฟรอนได้สนับสนุนโครงการ ทั้งการจัดหาผู้เชี่ยวชาญ ทุนการดำเนินโครงการ การฝึกอบรม ทุนวิจัย ตลอดจนการจัดกิจกรรมการให้ความรู้เพื่อการขยายผลต่อไป ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 12 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม โครงการ STEP นับเป็นอีกหนึ่งการต่อยอดความสำเร็จของโครงการ Chevron Enjoy science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ในระดับนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ที่มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการศึกษาโดยเฉพาะครูในสาขาสะเต็ม ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่เป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศในระยะยาว นอกจากนี้ การสนับสนุนโครงการดังกล่าว ยังสอดรับตามเจตนารมณ์ของเชฟรอนที่มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนา พลังคน อันถือเป็นหนึ่งในแนวทางปฏิบัติมาตลอดระยะเวลา 60 ปี ที่เชฟรอนได้ดำเนินภารกิจจัดหาพลังงานให้กับประเทศด้วยความปลอดภัย ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน