สพฐ.ชี้แจงยิบเด็กไทยไม่ได้ใช้เวลาเรียนมากสุดในโลก กางสถิติเฉลี่ยเวลาเรียนทุกระดับชั้นในโรงเรียนขนาดกลาง-ขนาดใหญ่ อยู่ที่ 7.8 ชั่วโมงต่อวัน เทียบกับญี่ปุ่น แทบไม่แตกต่างกัน
วันที่ 25 มกราคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แถลงข่าวชี้แจงแนวทางในการดูแลความปลอดภัยสถานศึกษา หลังจากมติ ครม. ยกเลิกการเข้าเวรครู และกรณีนักเรียนไทยมีชั่วโมงเรียนมากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นประเด็นที่สาธารณชนให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้
ยกเลิกครูอยู่เวร
สำหรับประเด็นแรก นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สืบเนื่องจากมติ ครม.ที่ยกเลิกการเข้าเวรครู และ สพฐ. ได้มีข้อสั่งการให้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ประสานงานกับโรงเรียนในสังกัดให้ดำเนินการดูแลสถานศึกษา โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยกับการเข้าเวร และมีการเปลี่ยนวิธีการใหม่หลายเรื่อง
ตั้งแต่เรื่องการประสานขอความร่วมมือฝ่ายปกครองในพื้นที่ อาทิ ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนทีมงานของกระทรวงมหาดไทย และผู้เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องความปลอดภัยให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และมีการประชุมสถานศึกษา หากสถานศึกษาแห่งใดมีศักยภาพในการจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือนักการภารโรงอยู่แล้ว ก็สามารถมอบหมายงานในด้านการรักษาความปลอดภัยได้โดยที่ครูไม่ต้องอยู่เวร
และทำหน้าที่เพียงกำกับผ่านระบบต่าง ๆ สำหรับโรงเรียนที่มีกล้อง CCTV ซึ่งครูก็สามารถใช้เครื่องมือนี้ในการรักษาทรัพย์สินทางราชการได้ รวมถึงกรณีที่เกิดเหตุอื่น ๆ เช่น ไฟไหม้ อุบัติภัย สาธารณภัย ก็ต้องขอความร่วมมือจากชุมชน องค์กรท้องถิ่น ซี่งถือว่าเป็นเจ้าของโรงเรียนร่วมกัน ช่วยกันดูแลอย่างทั่วถึงด้วย
“นอกจากนี้ ทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความร่วมมือในการจัดชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านเข้าไปดูแลสถานศึกษาแล้ว และในส่วนของ สพฐ. ก็มีข้อสั่งการขอความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจนขึ้น และขอขอบคุณอีกครั้งที่แต่ละหน่วยงานต่างดำเนินการในหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี เพื่อร่วมกันดูแลสถานศึกษา ให้นักเรียนและครูมาโรงเรียนอย่างอุ่นใจ ให้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เกิดขึ้นได้จริง” นายธีร์กล่าว
เด็กไทยไม่ได้เรียนมากสุดในโลก
ด้านนายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กล่าวถึงประเด็นที่ว่าเด็กไทยเรียนมากสุดในโลกว่า หลักสูตรของ สพฐ. จัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ปรับปรุง พ.ศ. 2562)
ซึ่งช่วงเวลาของการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 รวมวิชาพื้นฐาน วิชาเพิ่มเติม และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในปีการศึกษาหนึ่งรวมกันทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมง
ในขณะที่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเรียนไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมง และนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายชั้น ม.4-6 เรียนรวมกัน 3 ปีไม่น้อยกว่า 3,600 ชั่วโมง
ทั้งนี้ในหนึ่งปีการศึกษามี 40 สัปดาห์ หรือ 200 วัน ดังนั้น ในระดับประถมศึกษาจะใช้เวลาในการจัดการเรียนรู้โดยเฉลี่ยวันละไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง ในขณะที่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย โดยเฉลี่ยวันละไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง
ซึ่งหากดูจากกระแสข่าวในโซเชียล พบว่ามีบางกระแสข่าวสื่อสารว่าเด็กนักเรียนไทยเรียนมากที่สุดในโลก ซึ่งอาจจะมีความคลาดเคลื่อนต่อความเข้าใจของบุคคลทั่วไปเพราะไม่สามารถระบุแหล่งข้อมูลในการจัดเก็บ หรือบางครั้งการนับชั่วโมงก็นับตั้งแต่เวลาที่นักเรียนมาโรงเรียนไปจนถึงสิ้นสุดเวลาเรียนของวันนั้น
โดยที่นับรวมช่วงเวลาพักเที่ยงหรือเวลาเบรกด้วย เป็นเวลา 9.5 ชั่วโมง ซึ่งทางสำนักวิชาการฯ สพฐ.ก็ได้ลงไปเก็บข้อมูลโดยเอาตารางสอนของแต่ละโรงเรียนจำนวน 15 โรงเรียน มาดูรายละเอียดของการเข้าเรียน และพบว่าเวลาสูงสุดคือ 8 ชั่วโมง 50 นาที
โดยนับตั้งแต่เวลาที่เด็กมาโรงเรียนจนถึงเลิกเรียน แต่หากดูเวลาเรียนจริง ๆ พบว่าใช้เวลาสูงสุดที่ 7 ชั่วโมง 30 นาที และบางโรงเรียนถ้านับตั้งแต่เวลามาจนกลับ มีเวลาน้อยที่สุดก็คือ 6 ชั่วโมง 45 นาที แต่เวลาเรียนจริง ๆ คือ 5 ชั่วโมง 35 นาที
ดังนั้นในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาขนาดกลางหรือขนาดใหญ่จะมีค่าเฉลี่ยการมาโรงเรียนอยู่ที่ประมาณ 7.8 ชั่วโมง แต่เวลาเรียนจริงอยู่ที่ 6.9 ชั่วโมง ดังนั้นถ้าเทียบกับต่างประเทศแล้ว ของเราถือว่าไม่ได้สูงที่สุด ซึ่งหลายประเทศก็มีเวลาเรียนใกล้เคียงกับเรา อย่างเช่นประเทศญี่ปุ่นคือ 203 วัน ซึ่งแทบไม่แตกต่างกัน
นายวิษณุกล่าวต่อว่า สพฐ.เห็นความสำคัญของการลดภาระนักเรียน จึงได้สื่อสารไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในเรื่องของการลดการบ้านเพิ่มการเรียนรู้ ในประเด็นที่ 1 คือ การลดการบ้านหรือเพิ่มสิ่งที่จะให้เด็กเรียนรู้ด้วยงานที่คุณครูมอบให้ ถ้าหากภาระงานไหนทำเสร็จในห้องเรียนก็ไม่ต้องให้เด็กไปทำต่อที่บ้าน ให้ทำเสร็จในกิจกรรมที่คุณครูจัดในห้องเรียนได้เลย
และประเด็นที่ 2 ให้การบ้านคือทักษะที่เด็กต้องไปทำเพิ่ม ดังนั้นรายวิชาที่จะสามารถให้เป็นการบ้านได้ต้องเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน อย่างเช่น วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ โดยให้ในปริมาณที่เหมาะสมกับระดับชั้นของนักเรียน และสามารถบูรณาการข้ามกลุ่มสาระรายวิชาได้
โดยเป็นชิ้นงานหรือภาระงานตามความเหมาะสมของวิชา เน้นการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา สามารถเรียนรู้ได้ทั้งในและนอกห้องเรียน พร้อมทั้งเน้นให้เด็กเรียนรู้แบบเชิงรุก Active Learning โดยใช้สถานการณ์จริงในการปฏิบัติและเรียนรู้ด้วยตนเอง
ดังนั้น ในการจัดการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุขและลดภาระของนักเรียน ยังช่วยให้คุณครูจัดการสอนที่เหมาะกับบริบทของโรงเรียนและนักเรียน เป็นการลดภาระครูด้วย ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ รมว.ศธ. ที่ต้องการให้นักเรียนและครู มาโรงเรียนอย่างมีความสุข เรียนรู้อย่างสนุกไปด้วยกัน