เปิด 10 ประเทศที่มีชั่วโมงเรียนเฉลี่ยในห้องเรียนมากที่สุดในหนึ่งวัน โดย World Popular Review ไทยครองแชมป์ เรียนเฉลี่ย 9.5 ชั่วโมงต่อวัน
วันที่ 24 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การศึกษาไทย เป็นประเด็นร้อนปลายปี 2566 หลังจากที่ผลการสอบ Pisa2022 ประกาศออกมาว่าเด็กไทยมีคะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี ขณะที่ก่อนหน้านี้ EF Education First สถาบันการศึกษาภาษาอังกฤษชื่อดังที่สำรวจการใช้ภาษาอังกฤษ ปี 2023 ใน 113 ประเทศทั่วโลกก็พบว่าไทยอยู่ในอันดับ 101 ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเมียนมา และกัมพูชา
ทำให้เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ ถึงระบบการศึกษาไทยอย่างต่อเนื่อง ว่าถึงเวลาที่ควรจะปรับ หรือหาแนวทางยกระดับอย่างจริงจังมากขึ้น
ทั้งนี้ World Population Review องค์กรอิสระที่ทำการสำรวจสำมะโนประชากรและสถิติประชากรของโลก ได้เผย 10 ประเทศในปี 2023 ที่มีชั่วโมงเรียนเฉลี่ยมากที่สุดในหนึ่งวัน โดยพบว่าไทยครองแชมป์อันดับหนึ่งเรียนมากที่สุดถึง 9.5 ชั่วโมงต่อวัน
ข้อมูลดังกล่าวรวบรวมมาจากหลายแหล่ง ซึ่งชี้ให้เห็นถึงชั่วโมงที่เด็กต้องอยู่ในห้องเรียน แต่ไม่ได้อ้างอิงจากเวลาเปิด-ปิดโรงเรียนโดยเฉลี่ย และอาจจะรวมหรือไม่รวมเวลาที่ไม่ใช่การเรียนการสอน เช่น ช่วงพักกลางวันหรือช่วงพักเบรกสั้น ๆ ผลสำรวจมีดังนี้
-
- ไทย-เรียน 9.5 ชั่วโมงต่อวัน
- กัมพูชา-เรียน 8.75 ชั่วโมงต่อวัน
- บังกลาเทศ-เรียน 8.5 ชั่วโมงต่อวัน
- พม่า-เรียน 8.5 ชั่วโมงต่อวัน
- ไต้หวัน-เรียน 8.5 ชั่วโมงต่อวัน
- ชิลี-เรียน 8.33 ชั่วโมงต่อวัน
- เกาหลีใต้-เรียน 8 ชั่วโมงต่อวัน
- กานา-เรียน 8 ชั่วโมงต่อวัน
- เนปาล-เรียน 7.75 ชั่วโมงต่อวัน
- เคนยา-เรียน 7.5 ชั่วโมง
ส่วนถ้าสำรวจโดยอ้างอิงจากเวลาเปิด-ปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการของแต่ละประเทศ จะได้ลำดับดังนี้
-
- ไต้หวัน-เรียน 10 ชั่วโมงต่อวัน (07.30-17.30 น.)
- จีน-เรียน 9.5 ชั่วโมงต่อวัน (07.30-17.00 น.)
- ฝรั่งเศส-เรียน 8 ชั่วโมงต่อวัน (08.30-16.30 น.)
- ชิลี-เรียน 8 ชั่วโมงต่อวัน (08.00-16.00 น.)
- สหรัฐอเมริกา-เรียน 7.5 ชั่วโมงต่อวัน (07.30-15.00 น.)
- เคนยา-เรียน 7.5 ชั่วโมงต่อวัน (08.00-15.30 น.)
- สหราชอาณาจักร-เรียน 7 ชั่วโมงต่อวัน (08.00-15.00 น.)
- แคนาดา-เรียน 6.5 ชั่วโมงต่อวัน (08.30-15.00 น.)
- ออสเตรเลีย-เรียน 6 ชั่วโมงต่อวัน (08.45-15.00 น.)
- รัสเซีย-เรียน 6 ชั่วโมงต่อวัน (08.00-14.00 น.)
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าผลสำรวจชั่วโมงเรียนของเด็กไทยนั้นอยู่อันดับ 1 ที่เรียนมากที่สุดมาตลอดหลายปี ซึ่งตัวเลขนี้นับเฉพาะที่เรียนในโรงเรียนเท่านั้น ยังไม่นับรวมเวลาเรียนพิเศษอื่นๆ ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่า แม้จะเรียนหนักแต่ผลการศึกษายังไม่ดีขึ้น
นายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโสด้านการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า ความสามารถของเด็กไทยเริ่มห่างไกลความสามารถของเด็กทั้งโลกมากขึ้นทุกที ซึ่งจากผลสำรวจต่าง ๆ ที่ออกมา สะท้อนว่าระบบการศึกษาไทยกำลังอ่อนแอลงเนื่องจากเรามีเป้าหมายการเรียนรู้ หรือหลักสูตรที่ไม่ทันสมัย และมีข้อจำกัด เรื่องการใช้ทรัพยากร และใช้ทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ขณะที่ KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า หลักสูตรของไทยเน้นการให้เด็กเรียนเยอะแต่บังคับการศึกษาในกลุ่มวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์น้อย มีลักษณะเน้นสอนเนื้อหาให้ครบถ้วนเป็นหลัก เน้นการประเมินผลจากส่วนกลาง และขาดการสอนทักษะใหม่ ๆ เช่น ความรู้ทางการเงิน ทักษะความรู้ด้านดิจิทัล และการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเรียนรู้ เป็นต้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นยังส่งผลไปถึงการสอนที่ต้องการให้ครบตามเนื้อหาที่เยอะ ทำให้มีการเน้นการท่องจำไม่กระตุ้นให้เห็นความสำคัญและเกิดการคิดวิเคราะห์