คัดกรองเด็กยากจนผ่าน “แอป” ใช้ DMC สร้างโอกาสให้การศึกษายั่งยืน

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การศึกษาของไทยยังไม่สัมฤทธิผลดีเท่าที่ควรคือการไม่สามารถบริหารจัดการงบประมาณที่ภาครัฐจัดสรรให้ภาคการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งที่ในแต่ละปีมีงบประมาณเกี่ยวกับการศึกษาราว 600,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นสัดส่วนงบประมาณการศึกษาที่สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก

ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาของไทย จึงไม่ควรมุ่งเน้นเรื่องการเพิ่มงบประมาณ แต่ควรเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการผ่านการกระจายอำนาจจากรัฐส่วนกลางลงสู่ส่วนภูมิภาค แต่ในการที่จะดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีระบบสารสนเทศมารองรับการทำงานอย่างเหมาะสม

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ (สสค.) จึงจัดทำโครงการ “พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้” และล่าสุดทำการลงพื้นที่เปิดข้อมูลระบบสารสนเทศคัดกรองเด็กยากจนเพื่อการศึกษาของ จ.นครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อค้นหาเด็กด้อยโอกาสและยากจนในพื้นที่ พร้อมนำข้อมูลที่ได้มาช่วยเหลือติดตาม

“ดร.ไกรยส ภัทราวาท” ผู้ช่วยผู้จัดการด้านวิจัยและนโยบาย สสค. กล่าวว่าด้วยวิธีการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาสำหรับนักเรียนยากจนแบบเดิมที่ดูเพียงรายได้ของครัวเรือนปีละไม่เกิน40,000 บาท ผ่านวิธีการตอบแบบสอบถามโดยผู้ปกครอง ทำให้นักเรียนกว่า 3 ล้านคนได้รับเงินอุดหนุนไม่เต็มที่ เนื่องจากไม่สามารถแยกเด็กที่ยากจนจริงออกมาเป็นรายบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เด็กยากจนมีพัฒนาการเรียนรู้ที่ล่าช้า เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา จนนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

“จึงมีความจำเป็นต้องหาคำจำกัดความคำว่า จน ด้วยการทำการศึกษาสถานะของนักเรียนให้ครบด้าน และที่สำคัญต้องทำงานบูรณาการกับหลายภาคส่วน ดังนั้น จึงเกิดการออกแบบเครื่องมือคัดกรองเด็กยากจนผ่านระบบสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการคัดกรองเด็กยากจนเป็นรายบุคคล (Data Management Center หรือ DMC) โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สพฐ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ สสค. เพื่อช่วยให้นักเรียนที่ยากจนและด้อยโอกาสได้รับการจัดสรรงบประมาณการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำข้อมูลที่ได้รับกลับมาบูรณาการ ร่วมดูแลติดตามช่วยเหลือสนับสนุนเด็กด้อยโอกาส และต่อยอดจนนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษา”

จากผลสำรวจจำนวนนักเรียนยากจนที่อยู่ในฐานข้อมูลDMC ในปี 2559 ระบุว่านักเรียนทั้งหมดในระบบ สพฐ. ระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษาตอนต้นมี 4.9 ล้านคน มีนักเรียนยากจนในการศึกษาภาคบังคับภายใต้การดูแลของ สพฐ. จำนวน 2.86 ล้านคน หรือร้อยละ 57 ของนักเรียนทั้งหมด ในขณะที่ สพฐ. มีงบประมาณเพื่อช่วยเหลือนักเรียนยากจน 2,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเพียงพอแค่นักเรียนยากจน 1.7 ล้านคน หรือราวร้อยละ 35 ของนักเรียนทั้งหมด

ดังนั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาการบริหารงบประมาณใหม่ โดยโรงเรียนตรวจสอบข้อมูลนักเรียนยากจนจากระบบ DMC จากนั้นผู้บริหารโรงเรียน และครูทำการศึกษาคู่มือการดำเนินงานคัดกรองนักเรียนยากจน และมอบหมายให้ครูทำหน้าที่คัดกรองนักเรียน โดยใช้แอปพลิเคชั่นชื่อว่า “ปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน” ที่สามารถดาวน์โหลดใช้ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือแท็บเลตทั้งระบบไอโอเอส และแอนดรอยด์ เพื่อทำการสำรวจ บันทึกข้อมูล และรูปถ่ายการเยี่ยมบ้านนักเรียน และอัพโหลดพร้อมกับเก็บพิกัดจาก GPS

ขณะเดียวกัน ครูสามารถใช้กระดาษแบบคัดกรอง นร.01 และถ่ายภาพ จากนั้นนำข้อมูลทุกอย่างมาบันทึกเข้าสู่ระบบผ่านเว็บแอปพลิเคชั่นในคอมพิวเตอร์ และทำการปักหมุดตำแหน่งที่ตั้งบ้านนักเรียนใน Google Map ได้เช่นกัน

นอกจากการสร้างระบบ DMC เพื่อคัดกรองนักเรียนยากจนแล้ว เรายังปรับเกณฑ์ และแนวทางการคัดกรองใหม่ คือ หนึ่ง ภาระพึ่งพิงของครอบครัว ในครอบครัวมีคนพิการ หรือผู้สูงอายุเกิน 60 ปี หรือมีคนอายุ 15-65 ปีที่ว่างงาน สอง สภาพที่อยู่อาศัยเสื่อมโทรม อาหารการกินไม่เพียงพอต่อความต้องการ เสื้อผ้าไม่เพียงพอต่อความจำเป็น และสุขภาพอนามัยไม่ดี สาม ไม่มีรถยนต์ สี่ เป็นเกษตรที่มีที่ดินทำกินไม่เกิน 1 ไร่

จากนั้นมีการติดตามการใช้เงิน การมาเรียน และพัฒนาการทางการเรียนรู้ของเด็กเป็นรายบุคคลจนสำเร็จการศึกษา โดยปัจจุบัน สพฐ. ให้นักเรียนยากจนระดับประถมศึกษา 1,000 บาทต่อคนต่อปี และนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 3,000 บาทต่อคนต่อปี

“เราทดลองใช้ระบบนี้ใน 10 จังหวัดนำร่อง ครอบคลุมโรงเรียน 5,000 แห่ง ประกอบไปด้วยจังหวัดน่าน, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน, อุดรธานี, นครพนม, นครราชสีมา, จันทบุรี, กาญจนบุรี, ตรัง และภูเก็ต และจะขยายผลให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไปในปีการศึกษา 2560”

การดำเนินโครงการล่าสุด สสค. ลงพื้นที่ จ.นครพนม เพื่อทำการเปิดข้อมูลระบบสารสนเทศคัดกรองเด็กยากจนเพื่อการศึกษา เพราะเป็นจังหวัดที่มีความพร้อม และบันทึกข้อมูลนักเรียนครบถ้วนมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษาให้สอดรับกับการเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากระบบสารสนเทศของ จ.นครพนมนั้น ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการบูรณาการทำงานของทุกภาคส่วนในพื้นที่

“เพิ่มพูน พงษ์พวงเพชร”
ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครพนมเขต 1 ในฐานะรักษาการศึกษาธิการจังหวัดนครพนม กล่าวเสริมว่า จ.นครพนมได้ร่วมกับ สพฐ. และ สสค. ดำเนินงานจัดเก็บข้อมูลระบบสารสนเทศคัดกรองเด็กยากจนเพื่อการศึกษามาตั้งแต่ปีการศึกษา 2559

“ก่อนที่จะใช้ระบบสารสนเทศคัดกรองพบว่า มีนักเรียนที่อยู่ในระบบการศึกษาภาคบังคับชั้น ป.1-ม.3 ใน จ.นครพนม จำนวน 72,942 คน พบจำนวนเด็กยากจน 52,049 คน แต่เมื่อใช้ระบบสารสนเทศคัดกรอง DMC แบบใหม่ พบจำนวนเด็กยากจนลดลงกว่าครึ่งเป็น 24,188 คน ซึ่งในฐานะ กศจ.พบว่าข้อมูลเด็กยากจนนี้มีประโยชน์สำนักงานศึกษาธิการ จ.นครพนมจะนำข้อมูลไปใช้วางแผนในการช่วยเหลือนักเรียนที่ยากจนจริงได้เต็มที่มากขึ้น รวมถึงมีมาตรการส่งเสริมเด็กกลุ่มนี้ให้มีอาชีพสามารถเลี้ยงตนเองและศึกษาต่อได้”

ข้อมูลที่ได้รับจากระบบDMC ของจังหวัดนครพนม ทำให้เราทราบปัญหาเชิงลึกของนักเรียนยากจน เช่น กรณีของน้องเอ (นามสมมติ) นักเรียนระดับประถมศึกษาของโรงเรียนบ้านสร้างแห่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ซึ่งจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลทำให้ครูพบปัญหาที่ทับซ้อนอยู่ในชีวิตของลูกศิษย์คนนี้ในหลายมิติ ทั้งฐานะทางบ้านที่ยากจน สมาชิกหลายคนในครอบครัวมีภาวะปัญหาทางจิต ตัวนักเรียนเองก็มีความบกพร่องทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ ถูกตราหน้าว่าเป็นหัวขโมยประจำโรงเรียน

“ถึงตอนนี้เราประสานความร่วมมือผ่านทีมสหวิชาชีพ ดูแลรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข รวมไปถึงการส่งตัวไปศึกษาต่อยังสถานศึกษาที่มีความเหมาะสม การดูแลสนับสนุนทั้งด้านที่พักอาศัยและอาชีพของสมาชิกภายในครอบครัวจากผู้นำชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบในการทำงานเพื่อเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่”

และในกรณีของ “ด.ช.อัมรินทร์ พรหมวงค์” และ “ด.ช.ติณณภพ ไชยมาตร” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนดอนแดงเจริญทอง อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม ที่ข้อมูลที่รับได้จากระบบสารสนเทศ แสดงผลให้โรงเรียนทราบว่าเด็กมีแนวโน้มที่จะไม่ศึกษาต่อหลังจากจบมัธยมศึกษาตอนต้น เนื่องจากทางบ้านมีฐานะยากจน ทางโรงเรียน จึงได้เข้าไปช่วยสนับสนุนในเรื่องของการฝึกทักษะอาชีพให้แก่เด็ก โดยร่วมกับภาคเอกชน และผู้ประกอบการในชุมชนที่เปิดร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ ให้เด็กได้เข้าไปฝึกทักษะอาชีพ ซึ่งนอกจากจะได้ความรู้ติดตัวเพื่อเป็นอาชีพในอนาคตแล้ว ยังมีรายได้กลับไปช่วยเหลือครอบครัวอีกด้วย


นับว่าข้อมูลจากระบบ DMC ทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กมองเห็นเป้าหมายเดียวกันในการทำงาน และเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ อันจะช่วยสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กเยาวชนไทยได้อย่างยั่งยืน