48 อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์ฯ มธ.จี้หยุดดึงเอกชนใช้พื้นที่ตึกตู้ปลา คณบดีแจงยิบ ยันโปร่งใสทุกขั้นตอน

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ตัวแทนอาจารย์คณะพาณิชย์ฯ ร่วมกันแถลงข้อร้องเรียนกรณีร่วมกับภาคเอกชน ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และ Too Fast Too Sleep เข้าใช้พื้นที่ชั้น 1 ของอาคารคณะ ซึ่งเดิมเป็นอาคารสำนักงาน และรื้อทำลายเพื่อสร้างพื้นที่ที่เรียกว่า iSpace และ iLab โดยธนาคารจะเข้ามาตั้ง SCB Business Center พร้อมทั้งร้านกาแฟ Too Fast Too Sleep ในพื้นที่

นายสมชาย ศุภธาดา อดีตรองคณบดีฝ่ายการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ.กล่าวว่า ที่ตั้งของคณะพาณิชย์ฯ เป็นพื้นที่บนที่ดินราชพัสดุ ที่เป็นอาคารของหน่วยงานรัฐ ดังนั้น การใช้ประโยชน์ต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส การจะให้หน่วยงานเอกชน หรือสถาบันการเงินมาใช้ประโยชน์ จำเป็นที่จะต้องคำนึงว่าสัญญาเป็นอย่างไร ทาง มธ.และคณะได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ในส่วนนี้ คณาจารย์ และประชาคมยังไม่เห็นรายละเอียดตัวร่างของสัญญาการใช้ประโยชน์ในพื้นที่แห่งนี้ ว่ากินระยะเวลาเท่าไร มีการจ่ายค่าเช่า หรือมีการตอบแทนผลประโยชน์อย่างไรบ้าง หากเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ซึ่งมีหน่วยงาน Too Fast Too Sleep เข้ามาใช้พื้นที่ เป็นหน่วยงานที่เขาจัดซื้อหรือจัดหา ไม่ใช่พื้นที่ราชพัสดุ

“ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า ที่ดินแห่งนี้มีลักษณะที่แตกต่างออกไป ทั้งในเชิงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ในเชิงเป็นที่หลวง เป็นที่ราชพัสดุ ดังนั้น คณาจารย์จึงเป็นห่วงกังวลว่าเราทำตามถูกต้องตามกระบวนการที่ควรจะเป็นหรือไม่ ก่อนที่จะมีความเสียหายมากเกินไปกว่านี้” นายสมชาย กล่าว

นายสมชายกล่าวอีกว่า การพัฒนาพื้นที่โครงการนี้ มธ.ยังไม่เคยเปิดเผยข้อมูล หรือสื่อสารกับประชาคม ซึ่งกรณีนี้การปรับปรุง และตกแต่งอาคารยังมีปัญหาข้อกฎหมายบางประการที่ผูกพันมาตั้งแต่ปี 2560 และอยู่ในการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างออกแบบอาคาร ชั้น 1-4 ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้เข้ามาปรับปรุงชั้น 1 และรื้อย้ายสำนักงานซึ่งยังอยู่ในสภาพดี มีอายุการใช้งานหลังตกแต่งครั้งใหญ่ไม่ถึง 10 ปี และที่ออกมาแถลงการณ์ครั้งนี้ เพื่อหยุดความเสียหายไม่ให้ลุกลามมากไปกว่านี้ เพราะอยู่ในวิสัยบริหารจัดการได้ และข้อมูลข้อเท็จจริงเรื่องนี้ คนในคณะ ประชาคม และนักศึกษา ยังสับสน ไม่รู้อันไหนครบถ้วน อันไหนแท้จริง จึงควรตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงให้ชัดเจน ไม่ให้เป็นที่กังขา อีกทั้ง อยากให้ 2 หน่วยงานปลุกจริยธรรมในการทำธุรกิจ ทั้งนี้ ย้ำว่า เราไม่ได้มีข้อขัดแย้งใดๆ กับผู้บริหาร

นายเอกจิตต์ จึงเจริญ อดีตผู้อำนวยการโครงการ MBA กล่าวว่า การปรับปรุงดังกล่าว มีรูปแบบที่ตกลงกันในที่ประชุมประชาคมถึง 9 รูปแบบ โดยลงทุนในงบประมาณที่ไม่สูงนัก ได้ประโยชน์คุ้มค่า และไม่มีเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ผู้บริหารของคณะ และมหาวิทยาลัย กลับเลือกรูปแบบที่ไม่มีการตกลงกัน หรือนำเสนอในที่ประชุม นำมาสู่การรื้อทำลายพื้นที่ส่วนสำนักงาน การกระทำดังกล่าวจึงผิดขั้นตอนทางกฎหมาย นับตั้งแต่ขั้นตอนการอนุมัติ และการพิจารณา ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.มธ.

นายเอกจิตต์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังอาจมีปัญหาในการเช่าที่ราชพัสดุอย่างไม่โปร่งใส เนื่องจากในครั้งแรก ผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์เข้ามาบริจาคเพื่อปรับปรุงพื้นที่ จึงไม่มีขั้นตอนการประมูลตามปกติ เมื่อเวลาผ่านไป กลับมาแจ้งว่าธนาคารไทยพาณิชย์เข้ามาเช่าพื้นที่ ไม่มีการแสดงสัญญาอย่างเปิดเผย แม้คณาจารย์จะร้องขอมานาน กระทั่งเข้ามารื้ออาคารเมื่อต้นเดือนมกราคม 2562 ประชาคมก็ยังไม่ทราบว่าเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานใด ในส่วนของบประมาณก็ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด โดยทราบเพียงงบเริ่มต้นที่ระบุว่า ได้มาจากเงินบริจาคของภาคเอกชน ประมาณ 80 ล้านบาท จ่ายค่าออกแบบเบื้องต้น 1.5 ล้านบาท แต่หากมีการทุบชั้นล่าง ก็จะต้องย้ายบุคลากรที่ทำงานในส่วนนี้หลายโครงการ ทั้งหมดต้องใช้งบในการดำเนินการ ซึ่งยังไม่ได้รับการเปิดเผยรายละเอียด ส่วนจะมีเรื่องการทุจริตการใช้งบเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่จะต้องตรวจสอบต่อไป

นางพันทิศา ถาวบุตร หัวหน้าภาควิชาการเงิน คณะพาณิชย์ฯ มธ.กล่าวว่า ทางคณะได้สอบถามถึงแผนการดำเนินการปรับปรุงพื้นที่มานาน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบ ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นสถาบันการเงินซึ่งมีกฎหมายดูแลอย่างเข้มงวดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในการทำธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก จะต้องถูกต้อง และตรวจสอบได้ ประชาคม มธ.เป็นห่วงว่าธนาคาร และ Too Fast To Sleep อาจได้รับผลกระทบต่อชื่อเสียง และได้รับความรู้สึกทางลบจากประชาคม มธ.เพราะเป็นที่ทราบว่า กรรมการประจำคณะพาณิชย์ 2 คน เป็นกรรมการของธนาคาร และอีก 1 คน เป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร นอกจากนี้ ยังมีกรรมการประจำคณะอีกคนหนึ่ง เป็นสามีของผู้บริหารระดับสูง ที่เข้าร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยู ระหว่าง มธ.กับธนาคาร จึงเกรงว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวจะกระทบกับความเชื่อมั่น

“การปรับปรุงอาคารนี้เป็นครั้งที่ 2 ครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงที่นางเกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ.เป็นคณบดี ครั้งนั้นมีการเปิดเผยแผนการดำเนินงานทุกขึ้นตอน ต่างจากครั้งนี้ แม้ดิฉันจะเป็นกรรมการดูแลเงินของคณะ ก็ยังไม่ทราบแผนการดำเนินงาน และการใช้งบ ซึ่งดิฉันเองแค่อยากขอให้มีการเปิดเผยข้อมูล” นางพันทิศา กล่าว

นางนนทวรรณ ยมจินดา ผู้แทนคณาจารย์ในสภาอาจารย์ มธ.กล่าวว่า คณาจารย์ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นนักวิชาชีพด้านบัญชี การเงินและการบริหาร เกิดของสงสัยในประโยชน์ที่จะได้รับของนักศึกษา และความคุ้มค่าของโครงการนี้ พบว่าต้นทุนในการปรับปรุงตึกหลังจากรื้อย้ายสำนักงานออกไปแล้ว ต้องสร้างใหม่ด้วยงบของคณะเองในพื้นที่ห้องเรียน อาจมีต้นทุนสูง อีกทั้ง ยังไม่ทราบว่าธนาคารไทยพาณิชย์ได้รับสิทธิประโยชน์จากโครงการนี้อย่างไร เพราะฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัย และคณะยังไม่ให้คำตอบ แม้จะร้องขอมานานกว่า 8 เดือน ทำให้คณาจารย์ของคณะส่วนใหญ่ 43 คน และอดีตคณาจารย์ที่ยังทำหน้าที่สินอีก 5 คน ทำหนังสือร้องเรียน

“คณาจารย์ และประชาคมชาว มธ. ขอคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้ธนาคารไทยพาณิชย์ยุติโครงการ ทบทวนความเหมาะสมให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างโปร่งใส และขอให้ มธ.ดำเนินการตรวจสอบการกระทำดังกล่าว และติดตามเรื่องการตรวจสอบของ สตง.และป.ป.ช.ที่ยังค้างอยู่กว่า 1 ปี เพื่อทำให้ความจริงกระจ่างโดยเร็ว” นางนนทวรรณ กล่าว

นายพิภพ อุดร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ.เปิดเผยว่า แนวทางในการปรับปรุงพื้นที่ชั้นล่างของตึกตู้ปลา ถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ของนักศึกษา ทั้งระดับปริญญาตรี และโท ซึ่งแต่เดิมพื้นที่ดังกล่าวเคยเปิดโล่งให้ใช้งานสะดวก แต่ในเวลาต่อมาได้กั้นพื้นที่เป็นสำนักงานทั้งหมด ดังนั้น ผู้บริหารคณะชุดปัจจุบัน เห็นว่าควรเพิ่มที่นั่งในการทำงาน จึงปรับปรุงพื้นที่ประมาณ 1,100 ตารางเมตร ให้เป็น Co-Working Space เพื่อประโยชน์ของนักศึกษาได้ใช้อ่านหนังสือ หรือทำงานกลุ่มอย่างเต็มที่ และใช้เวลาอยู่ได้ถึงช่วงค่ำๆ จากปัจจุบันนักศึกษาไม่ได้รับความสะดวก เพราะทำงานได้ถึงแค่ 4 ทุ่ม

นายพิภพกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ คณะพาณิชย์ฯ มีการปรับปรุงพื้นที่ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การเรียนการสอนยุคใหม่ ที่มุ่งเน้นการทำงานแบบทีมเวิร์ค ซึ่งต้องมีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ปรึกษาหารือ และระดมสมอง พร้อมเทคโนโลยีทันสมัย ทำให้ระบบการเรียนในห้องลดลง นี่คือส่วนหนึ่งของ Digital Disruption ที่ต้องปรับตัว และสร้างบรรยากาศส่งเสริมการเกิดกลุ่มสตาร์ทอัพ สำหรับความร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ นั้น ถือเป็นแนวทางของมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ไม่เฉพาะ มธ.เท่านั้น ที่ต้องสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาศัยกภาพให้แก่นักศึกษา ด้วยการเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุน หรือเป็นพันธมิตรในรูปแบบต่างๆ อยู่แล้ว

“การปรับปรุงตึกตู้ปลาครั้งนี้ ไม่ใช่การยกพื้นที่ให้เอกชน แต่เป็นความร่วมมือทางวิชาการภายใต้ MOU ที่มีร่วมกันตั้งแต่ปี 2561 โดยพื้นที่ส่วนบริการธนาคารจะมีแค่ประมาณ 30 ตารางเมตรเท่านั้น ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดเก็บค่าเช่า อัตราเดียวกับที่ให้ธนาคาร หรือผู้ประกอบการรายอื่นๆ เช่าพื้นที่ ส่วนที่เหลือจะให้นักศึกษาใช้ประโยชน์ ส่วนของร้าน Too fast to sleep จะมีพื้นที่การค้าแค่ 17 ตารางเมตร ที่เหลือเป็นพื้นที่นั่ง และทำกิจกรรมของนักศึกษาเช่นเดียวกัน ซึ่งการปรับปรุงตึกตู้ปลาครั้งนี้ ทางธนาคาร SCB และ Too Fast to sleep เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงพื้นที่ทั้งหมด” นายพิภพ กล่าว

นายพิภพกล่าวอีกว่า ยืนยันว่าการดำเนินงานที่ผ่านมามีความโปร่งใสโดย มธ.ได้ตั้งคณะกรรมการกำกับการปรับปรุงพื้นที่ชั้นล่างอาคารคณะพาณิชย์ฯ ขึ้นมากำกับดูแลขั้นตอนต่างๆ โดยคณะเป็นผู้ร่างแผนการใช้พื้นที่ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ และ Too fast to sleep การดำเนินงานทั้งหมดผ่านการรับฟังความเห็นของประชาคมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2561 และได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำคณะ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 มั่นใจว่าโครงการนี้เป็นไปด้วยความรอบคอบ และเป็นประโยชน์กับนักศึกษา และบุคลากรของ มธ.อย่างแท้จริง

 


ที่มา:มติชนออนไลน์