ชิงดำเก้าอี้เลขาฯ “คุรุสภา” เริ่มโชว์ไอเดีย-รู้ผล พ.ค. นี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ ภายหลังจากที่คณะกรรมการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภา ได้ประกาศรับสมัครผู้สนใจเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาตั้งแต่ 1-12 เมษายน 2562 นั้น ล่าสุดได้เรียกผู้สมัครทั้ง 12 คนที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว เข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา

สำหรับผู้มีสิทธิ์เข้ารับการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ คือ 1) นายเฉลา พวงมาลัย 2) นางสาวเพ็ญจันทร์ ภูมิเทศ 3) นายธนารัชต์ สมคเณ 4) นายอำนาจ สุทรธรรม 5) นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรักษาการตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภา) 6) นายธีรพงษ์ สารเสน 7) นายวัลลี ผิวหอม 8) นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ 9) นายสุรพงษ์ จำจด 10) นายศิริพันธ์ ขวัญอ่อน 11) ว่าที่ ร.ต.อานนท์ สุขภาคกิจ และ 12) นายกำพล วันทา

สำหรับผู้สมัครชิงตำแหน่งครั้งนี้มาจากบุคลากรทางด้านการศึกษา เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียนนานาชาติ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา หรือ สพม. รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่น ๆ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการและพบว่าบางคนลงชิงตำแหน่งเลขาธิการมาตั้งแต่ปี 2561 และครั้งนี้ได้กลับมาสมัครอีกครั้ง

กระบวนการสรรหาของคณะกรรมการนั้น ผู้สมัครทั้ง 13 คนต้องมารายงานตัวตามเวลาที่กำหนด หลังจากนั้นจึงเริ่มสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ รายละเอียดของการสรรหาได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิแต่ละรายแสดงวิสัยทัศน์ โดยการนำเสนอต่อคณะกรรมการไม่เกิน 10 นาที และรับการสัมภาษณ์ภายในเวลาไม่เกิน 20 นาที รวมเวลาที่ใช้ต่อผู้เข้าแสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์ไม่เกิน 30 นาที/คน ทั้งนี้ในการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์สามารถนำเสนอด้วยวาจา หรือจะนำอุปกรณ์อื่น ๆ เข้ามาเสริมได้

นอกเหนือจากการสรรหาในตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภาแล้ว ยังอยู่ในระหว่างสรรหาคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) พร้อมกันไปด้วย คาดว่าคณะกรรมการสรรหาฯจะนำรายชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมทั้งตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภาและ สกสค.ได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากนั้นจะต้องนำเสนอบอร์ดเพื่อพิจารณาต่อไป

รายงานเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับบทบาทหน้าที่ของคุรุสภาคือ การกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออกและเพิกถอนใบอนุญาต กำกับ ดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพ รวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาวิชาชีพ พร้อมทั้งประสานงานเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพ

ล่าสุด คุรุสภามีความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพของครู ภายใต้โครงการพัฒนาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพระหว่างสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย เพื่อร่วมกันพัฒนาครูในรูปแบบโครงข่ายขยายผลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการสอนของครูภายใต้โครงการนี้จะช่วยเสริมให้นักเรียนทำความเข้าใจกับวิชาที่เรียนได้ง่ายขึ้นอีกด้วย และคาดว่าจะขยายความร่วมมือไปในระดับภูมิภาคมากขึ้น

ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนครั้งนี้เรียกว่า “ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ” เป็นแนวคิดสำคัญที่คุรุสภาใช้ในการส่งเสริมสนับสนุน เพื่อพัฒนาให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาได้รวมพลังคนในวิชาชีพเดียวกัน ได้แบ่งปันความรู้ ความคิด ทักษะ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดการเรียนการสอนต่อไป