ทุนจีนยกทัพไล่ซื้อมหา’ลัย ธุรกิจการศึกษาวิกฤต”ขาดสภาพคล่อง”

มหา’ลัยเอกชนระส่ำจำนวนนักศึกษาลดฮวบต่อเนื่อง หลายแห่งเจอปัญหาขาดสภาพคล่องหนัก สบช่อง “กลุ่มทุนจีน” พาเหรดเข้ามาเจรจาไล่ “ซื้อกิจการ” เผยย่านสุวรรณภูมิฮอตฮิต เป้าหมายต่อยอดรับกลุ่มนักศึกษาจีนมาเรียนในไทย สมาคมสถาบันอุดมศึกษาฯแบะท่ายอมรับมหา”ลัยเอกชนอยู่ในภาวะ “วิกฤต” ชี้อนาคตหนีไม่พ้น “ยุบรวม-ปิดกิจการ” หวั่นสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่าหมื่นล้านบาท จี้ภาครัฐยื่นมือเข้าช่วยเหลือ

จากช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา ที่กลุ่มทุนจีนเข้ามาซื้อกิจการมหาวิทยาลัยเกริก จากนั้นแวดวงการศึกษาต่างจับตาว่าใครจะเป็นรายต่อไป เนื่องจากจำนวนนักศึกษาในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง และมหาวิทยาลัยหลายแห่งทำได้แค่เพียงพยุงสถานะทางการเงิน อย่างเช่น การหาความร่วมมือจากนักลงทุนทั้งในไทย และต่างประเทศ รวมถึงการให้บริการวิชาการ และงานวิจัยต่าง ๆ แต่ไม่สามารถทดแทนได้ เนื่องจากรายรับของมหา”ลัยกว่า 80% คือ ค่าเทอมจากนักศึกษา

จีนทาบซื้อมหา”ลัยไทย

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการมหาวิทยาลัยเอกชนเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของไทยได้รับความนิยมจากนักศึกษาจีนเป็นอย่างมาก เนื่องจากประชากรจีนที่มีจำนวนมาก แต่มหาวิทยาลัยในประเทศไม่พอรองรับ ทำให้นักศึกษาจีนเลือกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยไทยมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต สาเหตุจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐที่ระอุอยู่ในขณะนี้ ซึ่งรัฐบาลจีนได้ประกาศเตือนนักศึกษาจีนที่ต้องเดินทางไปยังสหรัฐให้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งโดยความหมายที่แท้จริง คือ “สั่งห้าม”

ขณะเดียวกัน พบว่าปัจจุบันมีนักลงทุนจีนหลายรายสนใจเข้ามาลงทุนในสถาบันการศึกษาไทย โดยได้เข้ามาเจรจาซื้อกิจการของมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่ง และบางรายก็ใช้วิธีร่วมมือกับนักลงทุนไทย จัดตั้ง “บริษัท” ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือเข้าซื้อกิจการมหาวิทยาลัยในไทย ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดข้อจำกัดเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งถือเป็นโอกาสและทางออกของมหาวิทยาลัยเอกชนไทยหลายแห่งที่กำลังเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ผลพวงจากจำนวนนักศึกษาที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ระดับ 10-50% ซึ่งบางมหาวิทยาลัยเหลือนักศึกษาไม่ถึงร้อยคน ทำให้มีการแข่งขันรุนแรงถึงขั้นทำโปรโมชั่นลดค่าเทอมเพื่อแย่งตัวนักศึกษา

ร่วมมือคนไทยตั้งบริษัท

“เท่าที่ได้รับข้อมูล ขณะนี้มีกลุ่มทุนจีนมากกว่า 5 รายที่เข้ามาเดินสายเจรจาซื้อมหาวิทยาลัยไทย โดยเฉพาะบริเวณเส้นทางไปสนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากพบว่ามีมหาวิทยาลัยเอกชนเกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต, มหาวิทยาลัยสุวรรณภูมิ, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ รวมทั้งบริเวณพื้นที่อื่น ๆ อย่างย่านลาดพร้าว เช่น มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต แม้บางแห่งจะไม่ได้รับผลกระทบจากการลดจำนวนของนักศึกษา แต่ก็ได้รับการทาบทามซื้อกิจการ เป้าหมายเพื่อรองรับความต้องการของนักศึกษาจีนในอนาคต ปัจจุบันก็มีบางรายสามารถตกลงให้เข้ามาร่วมทุนแล้ว แต่ยังไม่มีเปิดเผยข้อมูล”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้ามาเจรจาขอซื้อกิจการสามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะตัดสินใจอย่างไรที่ทำให้ธุรกิจลงตัวมากที่สุด ขณะที่การหลั่งไหลของนักศึกษาจีนไม่ได้จำกัดวงในพื้นที่กรุงเทพฯเท่านั้น ได้เริ่มกระจายไปยังทั่วทุกภาคของไทย

สมาคมยอมรับ ม.เอกชนวิกฤต

ดร.เสนีย์ สุวรรณดี เลขาธิการสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย และรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ยอมรับว่า ในส่วนของเกษมบัณฑิตก็มีกลุ่มทุนจีนเข้ามาเจรจาทาบทามยื่นข้อเสนอขอซื้อกิจการเช่นกัน แต่ทางมหาวิทยาลัยไม่มีความจำเป็นต้องขายเพราะยังมีนักศึกษาเข้ามาต่อเนื่อง

สถานการณ์ธุรกิจการศึกษาไทยขณะนี้อยู่ในภาวะ “วิกฤต” อย่างมาก และเริ่มขยายวงไปถึงมหาวิทยาลัยของรัฐด้วย เพราะอย่างปีนี้หลังการสอบ TCAS (ระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย) รอบที่ 4 ยังคงเหลือที่ว่างอีกกว่า 200,000 ที่นั่ง ถือเป็นจำนวนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้ว่าจะมีการปรับตัวนับตั้งแต่เริ่มเห็นสัญญาณในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ตาม เนื่องจากแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีปัญหาและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน

ดร.เสนีย์ขยายภาพปัญหาว่า จำนวนมหาวิทยาลัยในไทยมีมากกว่าความต้องการเกือบ 200 แห่ง (รวมมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสถาบันเทคโนโลยี) จึงส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูง โดยเฉพาะการแข่งขันที่ภาคเอกชนไม่มีแต้มต่อ เนื่องจากนักศึกษาส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่น และอยากเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐมากกว่า ขณะที่มหาวิทยาลัยเอกชนต่างปรับตัว ด้วยการชูหลักสูตรใหม่ ๆ เพื่อให้กลุ่มนักศึกษาต่างเข้ามาเรียน แต่ก็มีจำนวนไม่มาก ดังนั้น ภาครัฐควรจะให้ความช่วยเหลือมหาวิทยาลัยขนาดเล็กจำนวนมากที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพราะหากต้องปิดตัวลง จะทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเบื้องต้นอยู่ที่หลายหมื่นล้านบาท

“ปัจจุบันมหาวิทยาลัย over supply มาก ขณะที่มหาวิทยาลัยขนาดเล็ก ๆ ไม่มีศักยภาพในการปรับตัว เช่น การทำหลักสูตรสมัยใหม่เพื่อดึงดูดนักศึกษา รวมถึงปัจจุบันการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยต้องมีหลักสูตรที่ต้องเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งบางมหาวิทยาลัยที่มีฐานรากแข็งแรงสามารถปรับตัวได้ แต่รายเล็กต่างมีข้อจำกัดเชิงกายภาพที่ทำให้ปรับตัวยาก”

จับสัญญาณ “เปลี่ยนมือ”

ดร.เสนีย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยไทยในขณะนี้ หากมองในมุมเศรษฐศาสตร์ การศึกษาไทยต้องกลับสู่จุดที่เรียกว่า “ดุลยภาพ” ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร อาจจะได้เห็นภาพการ “ยุบรวม” หรือ “ปิด-ขายกิจการ” ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยรัฐ หรือเอกชน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีอายุไม่เกิน 10 ปี จะเจอปัญหาหนัก ต้องหาวิธีให้ธุรกิจอยู่รอด เช่น ร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งขณะนี้มีบางมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนไปเรียบร้อยแล้วในเชิงธุรกิจ ตามที่มีข่าวไปก่อนหน้านี้

“ในภาวะแบบนี้แต่ละมหาวิทยาลัยต้องหา solution ที่สอดรับกับสภาพปัจจุบันมากที่สุด การตัดสินใจของทีมบริหารถือว่าสำคัญมาก เพราะในที่สุดคิดว่าจะต้องมีสถาบันการศึกษาที่ต้องปิดตัวลงเพิ่มเติมด้วย แต่อาจจะค่อย ๆ ทยอย เนื่องจากไม่สามารถปิดทันทีเหมือนธุรกิจอื่น เพราะมีข้อผูกพันต้องเคลียร์นักศึกษาส่วนที่ยังค้างอยู่ในระบบให้จบก่อน”

ห่วงคุณภาพการศึกษา

ดร.กัญจน์นิตา สุเชาว์อินทร์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติจีน และรองผู้อำนวยการสถาบันจีน-ไทย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่าทาง ม.รังสิต มีการเจรจากับทุนจีนว่า ส่วนตัวไม่เคยได้รับการทาบทาม เพราะการทำงานของ ม.รังสิต เป็นลักษณะของความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยของจีน ขณะที่มองว่าปัญหาจากการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะส่งผลในเชิงมาตรฐานวิชาการ คุณภาพการเรียนการสอนในภาพรวมของระบบการศึกษา ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมรับมือในประเด็นนี้ และที่สำคัญคือกฎหมายที่ใช้เพื่อกำกับดูแลมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน สอดรับกับโลกการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงหรือไม่

ดร.กัญจน์นิตาตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนที่หลายมหาวิทยาลัยในไทยจะมีการพัฒนาหลักสูตรด้านภาษาจีน ควรต้องมีความพร้อมในแง่บุคลากรที่มีความสามารถทางด้านภาษาจีนก่อน เพราะเห็นแนวโน้มชัดเจนว่าหลายสถาบันต้องการเปิดหลักสูตรด้านภาษาจีนมากขึ้น ตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะเพื่อรองรับนักศึกษาจีน แต่ปัญหาคือหลายสถาบันยังไม่มีความพร้อมของบุคลากรการสอน แต่มองด้านการตลาดเป็นตัวนำ สำหรับมหาวิทยาลัยรังสิต ปีนี้มีแผนรับนักศึกษาจีนเข้ามาเรียนเพิ่มอีก 250 คน ซึ่งเป็นการกระจายอยู่ในคณะต่าง ๆ ทั้งนี้ ปัจจุบันยอดสะสมนักศึกษาจีนที่เข้ามาเรียนในประเทศไทยโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 30,000 คน และคาดว่าภายใน 2 ปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 คน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!