มองการศึกษาแบบ ‘เพชร’ ม.กรุงเทพใช้ครีเอทีฟสู้ดิสรัปต์

เพชร โอสถานุเคราะห์

ประสบความสำเร็จกว่า 20 ปี จนต้องออกมาบอกว่า มี “ของดี” ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ยึดเป็นแนวทางการเรียนการสอนคือการใช้ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ผสมผสานเทคโนโลยี (technology) หรือที่เรียกว่า “C+T” ที่เริ่มแรกจำกัดวงอยู่กับคณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งล่าสุด “อาจารย์เพชร โอสถานุเคราะห์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ประกาศจุดยืนที่ชัดเจนที่จะเป็น “creative university”

ที่ผ่านมามีการนำไปผนวกรวมไว้ด้วยกันกับการเป็นผู้ประกอบการ หรือที่เรียกว่า “authorpreneur” อีกด้วย

“อาจารย์เพชร โอสถานุเคราะห์”ระบุว่า ภายใต้คอนเซ็ปต์ C+T เกิดจากความเชื่อมั่นที่ว่า นักศึกษาแต่ละคนมีความแตกต่างและเป็นตัวของตัวเอง อยากทำอะไรก็ทำได้ แต่อย่างน้อยจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ อันถือเป็นหัวใจสำคัญ และต้องเรียนแบบเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเรียนด้านใดก็ตาม โดยเฉพาะนักศึกษาที่เรียนคณะบริหารธุรกิจที่อยากให้นักศึกษาสามารถสร้างไอเดียในธุรกิจใหม่ หรือสร้างโปรดักต์ใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนด้วย เพราะเทคโนโลยีสามารถหาได้เสมอ ในขณะที่ความคิดสร้างสรรค์ที่เป็น DNA ของนักศึกษา ม.กรุงเทพอาจจะนำไปสู่การพัฒนาในเชิงธุรกิจได้

“นอกจากต้องมีความคิดสร้างสรรค์แล้ว นักศึกษาของ ม.กรุงเทพจะต้องมีความสามารถในการใช้ภาษาอื่น ๆ อีกด้วย เช่น ภาษาอังกฤษ และอื่น ๆ ตามความสนใจของนักศึกษา เป็น C+T+E ผมมองว่าทั้ง 3 เรื่องนี้ครอบคลุมเรื่องการเรียนการสอน และได้บัณฑิตที่มีคุณภาพโดยที่ไม่ต้องไปบวกอะไรเพิ่มอีก เพราะเด็กมีครีเอทีฟอยู่ในหัวอยู่แล้ว เพียงแต่จะต้องมีความตั้งใจที่จะพัฒนาตัวเองให้มากขึ้นอยู่ตลอดเวลาด้วย”

“ที่สำคัญคือ อาจารย์จะทำหน้าที่เพียงโค้ชเพื่อแนะแนวทางเท่านั้น ส่วนจะเรียนอะไรเป็นส่วนบวกเพิ่มเพื่อต่อยอดต่อไปนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนักศึกษาเองแนวทางนี้สามารถนำไปใช้กับการทำงานในอนาคตได้อีก แกนหลักของการเป็นครีเอทีฟยูนิเวอร์ซิตี้ คำนี้อยู่ได้อีกเป็น 100 ปี ถ้ามนุษย์ไม่มี creativity มนุษย์ก็จะสูญพันธุ์เหมือนในหนังไซไฟ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ จะเข้ามาเป็นนายแต่ถ้ามนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์ในจิตวิญญาณมีความรู้ความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ รวมถึงความสนใจของมนุษย์นั้นเปลี่ยนเร็ว ฉะนั้น ต้องใช้เทคโนโลยีให้ทันกับการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ม.กรุงเทพยังสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนเพิ่มขึ้น เพื่อให้ระบบ (ecosystem) ไม่หยุดนิ่ง และถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ ม.กรุงเทพจะขยายความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการอื่น ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น

เรื่องของเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในชั่วพริบตานั้น “อาจารย์เพชร” ระบุว่า ต้องยอมรับว่าเป็น “สิ่งใหม่” สำหรับประเทศไทย เพราะธรรมชาติของมนุษย์ชอบตัวใครตัวมัน ทุกคนมี comfort zone เป็นของตัวเอง ฉะนั้น การบริหารบุคลากรต้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย โดย ม.กรุงเทพได้เพิ่มสัดส่วนบุคลากรที่เป็นคนรุ่นใหม่ มีความคิดใหม่ ๆ เข้ามาผสมผสานกับบุคลากรที่มีความคิดแบบเก่าด้วย ที่สำคัญ แม้แต่ผู้นำองค์กรก็ต้องเปลี่ยนมุมมองความคิดใหม่ด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้น “อาจารย์เพชร” ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงการแยกนักศึกษาออกไป 2 สายคือ สายวิทย์ และสายศิลป์ ที่ยังมีอยู่ในปัจจุบันว่าเป็นความคิดแบบเก่าที่ “เชย” ไปแล้ว ต่อไปจะอยู่ในโลกอนาคตไม่ได้ อย่างที่บอกข้างต้นว่าโลกในอนาคตจะมี creativity ที่ผสมผสานกับสิ่งที่นักศึกษาให้ความสนใจ และผู้เรียนจะต้องไม่ “ปิดกั้น” ตัวเองจากสิ่งใหม่ ๆ ด้วย

“สำหรับการมุ่งเน้นไปที่ความคิดสร้างสรรค์ ทำให้การเรียนไม่ได้เน้นไปที่เครื่องมือมาก แต่ ม.กรุงเทพจะมุ่งเน้นไปที่ความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้ผู้เรียนออกไปเป็นผู้ประกอบการเล็ก ๆ ก่อน ทั้งยังมุ่งให้ผู้เรียนเป็น “ผู้คิดค้น” เทคโนโลยีมากกว่าการเป็นเพียง “ผู้ใช้” เทคโนโลยีเท่านั้น”

อธิการบดี ม.กรุงเทพ ระบุเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับนโยบายด้านการศึกษาของประเทศภายใต้รัฐบาลใหม่นั้น ทิศทางการศึกษาในทุกระดับชั้นจะต้องทำหน้าที่เชื่อมโยง และที่สำคัญภาครัฐจะต้องเปิดทางให้มหาวิทยาลัยนำเสนอไอเดีย ขณะที่ภาครัฐจะต้องทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนภาพรวมให้ธุรกิจการศึกษาเดินหน้าต่อไปได้

สำหรับในอนาคต 5 ปีข้างหน้า “อาจารย์เพชร” บอกว่า ม.กรุงเทพจะต้องแข็งแรงและสามารถอยู่ได้ในทุกสถานการณ์ของธุรกิจการศึกษา ตราบใดที่ยังใช้ open platform ที่ยืดหยุ่นและมีความคิดสร้างสรรค์ มี ecosystem ที่ต้องเปิดและเชื่อมโยงไปได้ไกล รับและไม่ยึดติด แต่ต้องคิดนอกกรอบตลอดเวลา

“และไม่ใช่แค่วันนี้หรือพรุ่งนี้เท่านั้น ในเมื่อหลายปัจจัยเปลี่ยนเราเองก็ต้องเปลี่ยนด้วย”

…………………

ต้องรู้ทัน-ใช้เทคโนโลยีเป็น

หลากหลายองค์กรรวมถึงสถาบันการศึกษาต้องปรับตัวหลังจากผลกระทบจากการพัฒนาเทคโนโลยี หรือ disruptionแต่สิ่งหนึ่งที่หากองค์กรมีแล้ว แม้แต่ดิสรัปต์ก็ทำอะไรไม่ได้ นั่นคือ “ความคิดสร้างสรรค์” เพราะนอกจากดิสรัปต์จะทำอะไรไม่ได้แล้ว ยังสร้างให้นักศึกษาจาก ม.กรุงเทพแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ด้วย

รศ.ดร.ณัฐภพ นิ่มปิติวัน

“รศ.ดร.ณัฐภพ นิ่มปิติวัน” รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ระบุว่า การนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้กับเทคโนโลยี ทำให้นักศึกษาได้เชื่อมโยงกับโลกภายนอก ซึ่งอาจจะทำให้มองเห็นโอกาสในวิกฤตดิสรัปต์ด้วยการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย อย่างเช่น ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (artificial intelligence) ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ก็ไม่สามารถก๊อบปี้ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ได้

“รวมไปถึงความยืดหยุ่น ความเข้าใจในโลกและวิสัยทัศน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องก้าวหน้าต่อไปในอนาคต แต่สิ่งที่ยังขาดในปัจจุบัน คือ การมีแค่ความรู้ด้าน AI อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมี know how หรือความเชี่ยวชาญเชิงปฏิบัติ เพราะการศึกษาไม่ได้จำกัดพื้นที่อยู่แค่เพียงห้องเรียนเท่านั้น ตรงนี้ทำให้การเรียนการสอนของเราเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะบทบาทของอาจารย์ที่จะมาเป็นโค้ชให้กับนักศึกษา แนะนำ ไกด์เด็ก มีส่วนร่วมในการแชร์ข้อมูลในโลกดิจิทัล เราไม่ได้ลืมหนังสือ หรือการสอนในชั้นเรียน แต่ในโลกปัจจุบันเปลี่ยนเร็วมากจริง ๆ”

“รศ.ดร.ณัฐภพ” กล่าวอีกว่า ยกตัวอย่างการใช้ Google map วันนี้ต้องยอมรับว่าไม่มีใครไม่เคยใช้แอปพลิเคชั่นนี้ เช่นเดียวกันกับการศึกษา เมื่อโลกเปลี่ยนก็ต้องตามให้ทัน และในฐานะสถาบันการศึกษาจะต้องเตรียมคนให้พร้อมรับอนาคตที่ดิสรัปต์รวดเร็ว อย่างเรื่องของ machine learning หรือสมองของ AI รวมถึงวิทยาการข้อมูล (data sciense) ไม่จำเป็นว่านักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์จะต้องเรียนรู้เท่านั้น อาจจะต้องมีความรู้เบื้องต้นในทุกสาขา ทั้งการท่องเที่ยว การโรงแรม นิเทศศาสตร์ ไปจนถึงบริหารธุรกิจก็ต้องเรียนรู้เพื่อนำไปต่อยอดในอนาคต