ไล่เรียงปัญหา “ราชภัฏ” เร่งปรับตัวชูจุดแข็งก่อนวิกฤต

วงการศึกษาปั่นป่วนตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐหรือเอกชน ลุกลามไปจนถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏ จากปัญหาเดียวกันคือ อัตราการเกิดของประชากรลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้จำนวนนักศึกษาลดลงตามไปด้วย ประกอบกับตามมาด้วยนโยบายการคัดเลือกนักศึกษาด้วยระบบ TCAS ที่ส่งผลให้นักศึกษามี “ทางเลือก” มากขึ้น และส่วนใหญ่จะเลือกเรียนมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง เพราะมีการขยายวิทยาเขตเพื่อรองรับนักศึกษาได้มากขึ้น จากนโยบายให้สถาบันการศึกษาออกนอกระบบ กลายเป็นว่าสถาบันการศึกษาต้องเจอปัญหาถึง “2 เด้ง” ในเวลาเดียวกัน คือ นักศึกษาน้อยลง และการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งในกรณีเลวร้ายก็อาจจะต้องยุบหรือควบรวมมหาวิทยาลัยราชภัฏ

ถ้าเทียบศักยภาพกับมหาวิทยาลัยดังทั้งที่เป็นของรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชนเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในแง่ความเข้นข้นของหลักสูตร ต้องเรียกว่า“กระดูกคนละเบอร์” เพราะต่างก็มีภารกิจหลักและมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ถูกวางให้เป็นสถาบันที่ผลิตครูคุณภาพให้กับท้องถิ่น (เพราะเดิมทีเป็นวิทยาลัยครูมาก่อน) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และให้ท้องถิ่นเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น ทำให้หลักสูตรด้านครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ได้รับความเชื่อถือ ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา หลักสูตรครุศาสตร์ที่รับนักศึกษาได้เพียง 1,000 คนในแต่ละปี แต่มีนักเรียนเข้ามาสมัครมากถึง 3,000 คน ทำให้สามารถสกรีนนักศึกษาที่พร้อมและมีความตั้งใจที่จะเรียนในระดับหนึ่งอีกด้วย และจุดแข็งของราชภัฏที่มองเห็นคือ ค่าเทอมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไม่สูงมาก ถือเป็นเหตุผลที่ทำให้ยังมีนักศึกษาในแต่ละท้องถิ่นสนใจเข้ามาสมัครเรียน

อีกทั้งในการตรวจเยี่ยม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ของนาย “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ให้นโยบายชัดเจนว่า ทุกสถาบันการศึกษาจะต้องมุ่งพัฒนาและต่อยอดการศึกษาจาก “จุดแข็ง” ที่มีอยู่ แทนการเปิดสาขาหรือหลักสูตรที่ไม่ถนัด ที่สำคัญ จะต้องผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของตลาดด้วย 

จากข้างต้นถือเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เมื่อมาพิจารณาปัญหาภายในองค์กรของมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่งที่กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างของแวดวงการศึกษาที่ถือว่าเป็นอุปสรรคในการพัฒนาของราชภัฏ ประกอบด้วย 1) คุณภาพของอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญและหลักสูตรที่เปิดได้มาตรฐานหรือไม่ 2) ทัศนคติของฝ่ายบริหารที่โครงสร้างคณะกรรมการบริหารส่วนใหญ่เป็น “คนรุ่นเก่า” ฉะนั้น การบริหารหรือการตัดสินใจอาจจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การแข่งขันสำหรับตลาดการศึกษาปัจจุบัน 3) มีบุคลากรจำนวนมากเกินกว่าความจำเป็นหรือไม่ และ 4) บางมหาวิทยาลัยราชภัฏมีการเปิดหลักสูตรภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาจีน เพื่อเปิดรับนักศึกษาเข้ามาเรียนนั้น ในแง่ของความพร้อมตอบโจทย์ความต้องการของนักศึกษาหรือไม่ ปัญหาเหล่านี้ยังส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ประกอบการที่จะเลือกรับบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเข้าทำงานองค์กรใหญ่หลายแห่งจัดไว้เป็นทางเลือกสุดท้าย หรือเลือก “ไม่รับ” ก็มี

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่สถาบันการศึกษาเริ่มเห็นสัญญาณจำนวนนักศึกษาที่ลดลง ส่วนหนึ่งได้ดำเนินการปรับตัวในหลากหลายวิธีเพื่อให้อยู่รอด เช่น การปิดหลักสูตรภาคค่ำ เพื่อลดต้นทุนรวมถึงการเปิดหลักสูตรใหม่ ๆ เพิ่มเติมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักศึกษาเข้ามาสมัครเรียนมากขึ้น แต่ก็มีทั้งที่รอดและไม่รอด…

นอกจากนี้ สิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าราชภัฏกำลังระส่ำอีก คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏรวม 20 แห่ง มีหนังสือถึง “นายสุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯระบุว่า ตามที่มีการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป ส่วนของค่าจ้างพนักงาน “ไม่เพียงพอ” และยังต้องการงบประมาณเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 406.69 ล้านบาท และเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนนี้ คาดว่าอาจต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ใช้งบประมาณกลางในการแก้ไขไปก่อนด้วย

จากปัญหาภายในและภายนอกที่เกิดขึ้นวงการศึกษาต่างจับตาถึง “ทิศทาง” การแก้ปัญหาให้กับราชภัฏของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นอย่างไร

แต่สิ่งที่นักวิชาการค่อนข้างกังวล คือการตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอกเพิ่มเติม เพราะคู่แข่งแข็งแรงกว่า ท้ายสุดก็ไม่สามารถแข่งขันในตลาดการศึกษาได้ และเมื่อถึงเวลานั้นการแก้ไขอาจจะต้องเลือกใช้วิธีการควบรวม และยุบราชภัฏบางแห่ง เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้ลุกลามไปจนถึงจุดที่เรียกว่า ตายหมู่...

คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่… วิกฤต “ราชภัฏ” นศ.ลดฮวบบีบควบรวม

คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่…หอพัก-ร้านค้ารอบมหา’ลัยทั่วไทยวูบ นักศึกษาลดกระทบกำลังซื้อ-บ้านเช่าร้างปิดกิจการ