สกสว.+กสิกรไทย ถกการศึกษายุคเปลี่ยนผ่าน

SONY DSC

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย จัดประชุม “สร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษาเพื่อการพัฒนาคนสำหรับอนาคต” เพื่อนำข้อมูลและข้อค้นพบจากโครงการวิจัยด้านการศึกษาที่สำเร็จแล้ว 3 โครงการมาเป็นจุดตั้งต้น ค้นหาคำตอบเชิงนโยบายและการปฏิบัติการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษา โดยมีอธิการบดีและคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ผู้บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้อำนวยการสถานศึกษา ตลอดจนผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเข้ารับฟัง

“รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล” รองผู้อำนวยการด้านนโยบายและแผนเชิงยุทธศาสตร์ สกสว. กล่าวว่า การจัดงานประชุมวันนี้เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยด้านการศึกษา 3 โครงการวิจัย ประกอบด้วย โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา (พัฒนายุววิจัย) ที่ สกสว.ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย และมหาวิทยาลัย 8 แห่ง ใน 4 ภูมิภาค ออกแบบให้การวิจัยเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้ครูเปลี่ยนกระบวนการทางความคิด และทัศนคติของการสอน เป็นการถามเพื่อสอนสะท้อนความคิดต่อการเรียนและการเขียน

“เนื่องจากการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์ในการบูรณาการสาระวิชาต่าง ๆ คือ การคิดวิเคราะห์ ลงมือหาคำตอบจากการทดลองปฏิบัติ การเรียนรู้ปัญหาจริงจากชุมชน รวมถึงการผสมผสาน STEM กับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่คำนึงถึงมิติเศรษฐกิจท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม”

โครงการความร่วมมือระหว่าง สกสว. และมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยเครือข่ายครุศาสตร์ราชภัฏ 38 แห่ง ได้สร้างโมเดล CCR คือ จิตตปัญญา การเป็นอาจารย์และครูโค้ช การจัดการเรียนรู้ผ่านโครงงานฐานวิจัยเพื่อพัฒนานักศึกษาฝึกหัดครู และกำลังพัฒนาหลักสูตรผลิตครูฐานสมรรถนะ โครงการพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา โดย สกสว.สนับสนุนภาคีการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership : TEP) ใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการสร้างศักยภาพครูและผู้บริหารโรงเรียน พัฒนากลไกการบริหารการศึกษาในระดับจังหวัดและการวิจัยเพื่อปลดล็อกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโรงเรียน

“ตลอดจนสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อโอกาสใหม่ ๆ ทางการศึกษา โดยให้มหาวิทยาลัยทำงานร่วมกับโรงเรียน ชุมชน เอกชน และจังหวัด มีการพัฒนาและทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะที่สอดคล้องกับภูมิสังคม รวมทั้งปรับการวัดผลซึ่งคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานในพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา จ.สตูล สถาบันอาศรมศิลป์ ทำงานในพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา จ.ระยอง และร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และมูลนิธิสยามกัมมาจล ทำงานในพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา จ.ศรีสะเกษ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์ข้อจำกัดทางกฎระเบียบและประเมินผลลัพธ์ที่เกิดในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้งสามจังหวัด”

“รศ.ดร.ปัทมาวดี” กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการทำวิจัยทั้ง 3 ชุดโครงการ พบว่าความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงที่เด็กเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของครูและผู้บริหารโรงเรียนที่ต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยสามารถเข้าไปทำงานเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง (change agent) ได้ในหลายระดับ

“ทั้งการผลิตครูใหม่ให้ปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นโค้ช และมีโกรทไมนด์เซตเป็นพี่เลี้ยงให้โรงเรียนกระตุ้นหนุนเสริมให้ผู้อำนวยการโรงเรียนทำบทบาทเป็นโค้ชครู และพัฒนาครูให้เป็นโค้ชการเรียนรู้ของเด็ก โดยเฉพาะการเรียนรู้จากการปฏิบัติที่มีการคิดวิเคราะห์แบบมีเหตุมีผล”

“สร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ การจัดการเรียนการสอน อย่างโครงงานฐานวิจัยบนหลักการของ STEM และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ผู้เรียนได้ฝึกกระบวนการคิดที่เชื่อมกับโลกแห่งความเป็นจริง สามารถแก้ปัญหา มีความเห็นสร้างสรรค์ เป็นเหตุเป็นผล ทำงานเป็นทีมได้ ทั้งยังเป็นแกนวิชาการหนุนเสริมการพัฒนาการศึกษาของจังหวัด เช่น ที่ จ.ระยอง ในการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะที่อิงกับบริบทพื้นที่ และปรับปรุงการวัดประเมินผลการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะโดยทำงานร่วมกับโรงเรียน เอกชน ชุมชนพื้นที่”


ทั้งยังเป็นฝ่ายวิชาการร่วมพัฒนากลไกการศึกษาเชิงพื้นที่ และเป็นกลไกเชิงนโยบายในระดับประเทศ โดยวิเคราะห์ข้อจำกัดและโอกาสใหม่ ๆ ของระบบการศึกษาต่อไป