“มธ.” จับมือภาคเอกชน ปั้นนักศึกษาสถาปัตย์ วางแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในวันนี้ไม่ได้เป็นเพียงสถาบันการศึกษาชั้นนำที่ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต สร้างงานวิจัย และเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมงานวิชาการที่โดดเด่นเพียงเท่านั้น หากแต่ยังมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่เดินหน้าสร้างความยั่งยืน โดยล่าสุดประสานความร่วมมือมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ลุยสร้างองค์ความรู้สู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ พร้อมเซ็น MOU กับ 3 บริษัทเอกชนชั้นนำปั้นพื้นที่รังสิต-นวนคร เป็น smart city เต็มรูปแบบ พร้อมยื่นเรื่องต่อรัฐบาลเพื่อผนึกกำลังขับเคลื่อนโครงการนี้สู่ต้นแบบประเทศไทย

“รศ.เกศินี วิทูรชาติ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเป้าหมายการพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนและความยั่งยืน โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกับภาคเอกชนและเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ตลอดจนร่วมกันสร้างองค์ความรู้ที่บูรณาการสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน

“โดยเราทำพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับ 3 บริษัทเอกชนชั้นนำ ประกอบด้วย บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน), บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 ผ่านมา เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการพัฒนาพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียง ในการส่งเสริมให้เป็นเมืองอัจฉริยะเต็มรูปแบบ หรือ Thammasat-Nava Nakorn Smart City โดยคาดว่าต้นแบบจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2563”

ภายในงานเดียวกันนี้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังลงนามในหนังสือแสดงเจตนา (LOI) ร่วมกับ Graduate School of Design ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ และจัด option studio สำหรับนักศึกษานานาชาติระดับปริญญาโทจากสาขาสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และการออกแบบเมือง ซึ่งจะศึกษาและเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินกิจกรรมในโครงการนี้ด้วย

“เราตั้งใจที่จะสร้างเมืองอัจฉริยะให้เกิดขึ้นจริง เป็นต้นแบบของประเทศไทย ซึ่งความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคการเมืองด้วย ฉะนั้น หลังจากนี้ธรรมศาสตร์จะประสานความร่วมมือไปยังรัฐบาล ด้วยการเชิญรัฐมนตรีจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และเห็นความสำคัญโครงการนี้มาพูดคุยกัน เพื่อประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง”

“นิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นวนคร จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า นวนครและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปรียบเสมือนเพื่อนบ้านที่อยู่ร่วมกันมานาน ซึ่งโครงการ Thammasat-Nava Nakorn Smart City ถือเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ในการร่วมกันพัฒนาพื้นที่ในระดับชุมชนเมือง

“โครงการนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไข และแผนพัฒนาที่สอดคล้อง และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย (Thailand Smart City) ของภาครัฐ โดยนวนครและทั้งพันธมิตร ได้แก่ ราช กรุ๊ป และเอแอลที เทเลคอม ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนข้อมูล การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดจนทุนจำนวน 2.26 ล้านบาทในการศึกษาโครงการดังกล่าว”

“ในฐานะที่ผมเป็นสถาปนิกคนหนึ่งและมีความฝันในเรื่องนี้ ผมพูดได้ว่าเราไม่มีพื้นที่ใดที่มีองค์ประกอบเหมาะสมเท่านี้อีกแล้ว เรามีทั้งชุมชน สถาบันการศึกษา หน่วยงานนวัตกรรม ตลอดจนภาคการผลิต เราสามารถสร้างศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา และอื่น ๆ อีกมากมาย ฉะนั้น เราจะนำเทคโนโลยีและศักยภาพทั้งหมดที่มีมาใช้ในการพัฒนาเพื่อสร้างเมืองต้นแบบให้กับประเทศของเรา”

“ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์” คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การศึกษาโครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของวิชาหลัก จาก 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาสถาปัตยกรรม, ภูมิสถาปัตยกรรม, การผังเมือง, การออกแบบและพัฒนาชุมชนเมือง และการจัดการออกแบบธุรกิจ และเทคโนโลยี เพื่อให้ได้มุมมองการพัฒนาและตัวอย่างผลลัพธ์ในเชิงการออกแบบวางผัง และนวัตกรรมที่นำไปสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะในหลากหลายมิติ

“สำหรับการดำเนินการศึกษาดังกล่าวจะเป็นการทำงานร่วมกันของนักศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและผู้ช่วยวิจัย ผ่านการแนะนำโดยคณาจารย์ประจำ และเชี่ยวชาญต่างประเทศของคณะที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในหลากหลายด้าน”

โครงการดังกล่าวจะดำเนินการเสร็จสิ้นประมาณกลางปี”63 และจะเป็นอีกตัวอย่างในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญไม่เพียงสนับสนุนนโยบายภาครัฐ แต่ยังช่วยสร้างความตระหนักรู้กับสังคมในการให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชน และภูมิทัศน์เมืองอีกด้วย