ไมโครซอฟท์-กระทรวง อว. ส่งแอป “ไมโครซอฟท์ ทีมส์” ยกระดับเรียนออนไลน์ นำร่อง 150 มหา’ลัย

บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ตอกย้ำความร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในการยกระดับการศึกษานอกสถานที่ สนับสนุนระบบการเรียนการสอนทางไกล (Remote Learning) ด้วยการจัดการเรียนการสอนผ่าน Interactive Virtual Classroom บนแพลตฟอร์ม Microsoft Teams สำหรับมหาวิทยาลัย 150 แห่ง พร้อมทั้งคณะอาจารย์ 60,000 คนและ เข้าถึงนักศึกษาได้กว่า 2,000,000 คน ทั่วประเทศ

“ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัส COVID-19 ขยายวงกว้างขึ้นทั่วทั้งโลก กระทรวง อว. ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อบุคลากร นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษา จึงมีการวางมาตรการในการรองรับสถานการณ์ COVID-19 ในส่วนของการดูแลนิสิต นักศึกษาของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยให้มีการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ 100% เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในพื้นที่สาธารณะและสถานศึกษา และยังถือเป็นการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสในการยกระดับเรียนการสอนรูปแบบใหม่ เพื่อให้สอดรับกับการเรียนการสอนในยุคปัจจุบัน ล่าสุด กระทรวง อว. จึงเตรียมเซ็นเอ็มโอยูกับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) เพื่อเปิดให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งทั่วประเทศสามารถยกระดับการศึกษานอกสถานที่ให้เป็นไปในรูปแบบที่เกินกว่าแค่การประชุมทางไกลผ่านวิดีโอทั่วไป ด้วยเครื่องมือเฉพาะทางแบบครบวงจรอย่าง Microsoft Teams สำหรับทั้งนิสิต-นักศึกษา และอาจารย์ผู้สอนทั่วประเทศ ซึ่งสามารถเริ่มใช้งานได้ทันที โดยสามารถศึกษารายละเอียดโครงการและขั้นตอนการดำเนินงานจากกระทรวงและไมโครซอฟท์

ด้าน “นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า
ความร่วมมือกับกระทรวง อว. เรามุ่งเน้นสนับสนุนเครื่องมือการเรียนรู้ทางไกล ด้วย “ไมโครซอฟท์ ทีมส์ เพื่อการศึกษา” (Microsoft Teams for Education) เป็นการส่งมอบเครื่องมือที่เราทำมาเพื่อยกระดับการเรียนการสอนโดยเฉพาะ เพราะการเรียนการสอนนั้นมีทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ซึ่งเครื่องมือนี้ไมโครซอฟท์ได้พัฒนามาเป็นระยะเวลายาวนาน ให้คุณครูทั่วโลกได้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในแบบฉบับการสอนของตนเอง และได้รับฟีดแบคเพื่อการพัฒนามาโดยตลอด ด้วยเป้าหมายเดียวกันคือต้องการส่งผ่านความรู้ให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาให้ดีที่สุด เชื่อว่าเมื่อเทคโนโลยีการเรียนการสอนผนวกกับความสามารถของอาจารย์ไทย จะช่วยขับเคลื่อนภาคการศึกษาของประเทศไทยให้ฝ่าฟันสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมทั้งยังสามารถปูแนวทางให้กับรุ่นต่อๆ ไปให้ประสบความสำเร็จได้ดียิ่งกว่า

สำหรับโปรแกรมไมโครซอฟท์ ทีมส์ เพื่อการศึกษา (Microsoft Teams for Education) เป็นแอปพลิเคชันเพื่อการสื่อสารและทำงานเป็นทีมที่รองรับการใช้งานในภาคการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ รองรับผู้เรียนได้สูงสุดถึง 5,000 คนต่อ 1 ห้องเรียน โดยสามารถสร้างห้องเรียนย่อย เพื่อแบ่งกลุ่ม หรือแบ่งหัวข้อการเรียนได้กว่า 200 ห้องย่อย แชร์เอกสารขนาดใหญ่ที่สุด 15GB ต่อไฟล์ และแก้ไขพร้อมกันได้สูงสุด 100 คน บนพื้นที่เก็บขนาดใหญ่ที่มอบให้ฟรี บันทึกการสอนเป็นวิดีโอ เพื่อดูย้อนหลังได้ภายใน 10 นาทีหลังจบการสอน และสามารถกำหนดตารางเวลาการเรียน การสอนได้ โดยผู้เรียนสามารถเข้าใช้งานได้จากทุกแพลตฟอร์มทั้ง Windows, Mac OS, iOS, Android และบน Web Browser นอกจากนี้ไมโครซอฟท์ ทีมส์ ยังมีบริการ Office 365 A1 ที่เปิดให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศสามารถใช้งานได้ฟรี และจะเป็นแพลตฟอร์มหลักสำหรับการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย

OneNote Class Notebooks สมุดโน้ตดิจิทัลที่จัดระบบแบบแยกวิชามาแล้วเพื่อความสะดวกสบายของนิสิต นักศึกษา ทั้งยังเปิดให้อาจารย์ผู้สอนในแต่ละวิชาสามารถเปิดดูสมุดจดของผู้เรียนได้ เพื่อให้คำแนะนำตามความเหมาะสม

Microsoft Whiteboard for Education กระดานวาดเขียนแบบดิจิทัลที่ใช้งานได้พร้อมกันหลายคน รองรับการแปลงภาพถ่ายเป็นลายเส้นบนกระดาน พร้อมด้วยคุณสมบัติอื่นๆ

Student Analytics ระบบวิเคราะห์การเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้อาจารย์ผู้สอนได้วัดระดับความสนใจและการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนของนิสิต-นักศึกษาแบบเรียลไทม์ พร้อมวิเคราะห์หาตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ต่อไป

Flipgrid โปรแกรมการเรียนออนไลน์ผ่านวิดีโอระยะสั้น โดยผู้สอนสามารถเพิ่มเรื่องที่ต้องการจะสอนได้ง่าย และแชร์ลิ้งค์ให้นักศึกษา และนักศึกษาเพียงกดเข้าลิ้งค์เพื่อเรียนและบักทึกการสอนได้

Minecraft: Education Edition สามารถใช้งานได้ฟรีในไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ 365 สำหรับการศึกษา

Microsoft Educator Center ศูนย์รวมแหล่งข้อมูลเพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้กับอาจารย์

นอกจากนั้น ยังรองรับการเพิ่มแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์จากภายนอกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียน โดยไม่จำเป็นต้องสลับไปเปิดโปรแกรมอื่นเพิ่มเติม ทั้งรองรับระบบการบ้านและการให้คะแนนในทุกขั้นตอน และเปิดให้ผู้เรียนสามารถตรวจสอบคะแนนจากการสอบและชิ้นงานต่าง ๆ ที่ส่งไปได้เสมอเพื่อความสะดวกสบาย และสุดท้าย รองรับการเปิดห้องสนทนาประจำกลุ่ม สำหรับการแบ่งกลุ่มทำงานในวิชานั้น ๆ