ทีเคเค เร่งบ่มเพาะบุคลากรด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

แฟ้มภาพ

ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น ผนึกกำลัง วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ มทร.ตะวันออก พัฒนาหลักสูตรและก่อตั้งอะคาเดมี่ บ่มเพาะบุคลากรด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตอบโจทย์ New S-Curve

จากการที่ภาครัฐได้เดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อนำประเทศไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีโครงการพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ อย่างโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนภารกิจให้บรรลุเป้าหมาย โดยกำหนด 10+2 อุตสาหกรรมเป้าหมายหรือ New S-Curve เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศมาร่วมลงทุนในภาคอุตสาหกรรม

การจะบรรลุตามยุทธศาสตร์จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและแรงงานวิชาชีพเฉพาะทาง ที่มีทักษะตรงตามความต้องการของแต่ละภาคอุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้ ทางภาคอุตสาหกรรม สถานประกอบการ และภาคการศึกษา จึงต้องร่วมมือกันปฏิวัติระบบการศึกษาไทย ให้มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการผลิตบุคลากรวิชาชีพคุณภาพมากขึ้น

กัลยาณี คงสมจิตร

“กัลยาณี คงสมจิตร” ประธานกรรมการ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ในฐานะที่บริษัทดำเนินธุรกิจตัวแทนจัดจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องจักรขนาดใหญ่ และให้คำปรึกษาด้านการดูแลและซ่อมบำรุง จึงมีความตั้งใจจะนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านอุตสาหกรรมด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ มาต่อยอดในการพัฒนาบุคลากรระดับอุดมศึกษา โดยมีความมั่นใจมาตลอดว่าภาคอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ

โปรเจกต์สถาบันบ่มเพาะบุคลากรด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จะครอบคลุมถึงการมาร่วมกันพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ และหุ่นยนต์เพื่อผลิตบุคลากรคุณภาพที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

หลักสูตรที่ทีเคเคและมทร.ตะวันออกได้ร่วมมือกันออกแบบและพัฒนาขึ้น จะประกอบด้วยหลักสูตรต่าง ๆ ได้แก่ หลักสูตร Programmable Logic Controller (PLC) หลักสูตร 3D Camera Vision System หลักสูตร Robot control หลักสูตร Autonomous Mobile Robots (AMR) หลักสูตร Automated Storage and Retrieval Systems (AS/RS) และหลักสูตร Big data and Artificial Intelligence

“ทัศพันธุ์ สุวรรณทัต” หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.ตะวันออก) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งสำคัญนี้ มทร.ตะวันออกตัดสินใจเปิดสาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมเปิดอยู่แวดล้อมมหาวิทยาลัยมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อภาคอุตสาหกรรมเติบโตในพื้นที่ภาคตะวันออก ผู้ปกครองของเด็กก็เห็นว่าอาชีพวิศวกรโรงงานมีโอกาสก้าวหน้า จึงต้องการส่งบุตรหลานมาเรียนด้านนี้กับสถาบันการศึกษาในพื้นที่

“นอกจากนี้เทรนด์การจ้างงานในโรงงานมีความเปลี่ยนแปลง จากในอดีตที่จ้างวิศวกรเครื่องกล 1 คน วิศวกรไฟฟ้า 1 คน วิศวกรระบบอุตสาหการอีก 1 คน แต่ในระยะหลังโรงงานอุตสาหกรรมแสดงความต้องการมายังภาคการศึกษาซึ่งทำหน้าที่ผลิตบุคลากร ให้ช่วยผลิตวิศวกรที่มีความสามารถครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ภายในบุคคลเดียว จึงเป็นเหตุให้ เราเปิดหลักสูตรวิศวเมคคาทรอนิกส์ฯ ซึ่งเป็นศาสตร์ของวิศวกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างตรงจุด”

สำหรับหลักสูตรที่ร่วมกันพัฒนากับทีเคเคเน้นการสอนทักษะหลัก 3 ด้าน คือ ด้านเครื่องกล ผู้เรียนจะต้องเขียนแบบเครื่องกลได้ สามารถออกแบบเครื่องจักรกลสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ และดีไซน์เครื่องจักรขนาดเล็กรวมถึงเครื่องจักรระบบอัตโนมัติได้ด้วยซอฟแวร์ที่ได้ ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้และทำงานได้จากซอฟท์แวร์ที่แตกต่าง เมื่อเรียนจบแล้วจะสามารถทำงานได้ทันทีในภาคอุตสาหกรรม


นับว่าเมื่อศาสตร์ด้านเมคคาทรอนิกส์มาประสานกับศาสตร์เทคโนโลยีแห่งยุคอย่าง หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จึงทำให้หลักสูตรดังกล่าวสามารถผลิตบุคลากรที่สถานประกอบการเกือบทุกประเภทมีความต้องการ