ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ชี้ธุรกิจการบินไปต่อได้ เร่งเตรียม นศ. รองรับงาน

"น.ต.ดร.วัฒนา มานนท์" คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU

คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน DPU คลายข้อข้องใจ ชี้ธุรกิจการบินเจ็บแค่ไหนก็ไปต่อได้ หลังทั่วโลกได้รับวัคซีนโควิด-19 อุตสาหกรรมการบินมีโอกาสฟื้นตัวเร็วขึ้น เร่งเตรียมความพร้อม นศ.รองรับการทำงาน

“น.ต.ดร.วัฒนา มานนท์” คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และแนวโน้มทิศทางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินในอนาคตว่า ในปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้โดยสารที่ใช้การเดินทางทางอากาศในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 160 ล้านคนต่อปี มีเที่ยวบินประมาณกว่า 1 ล้านเที่ยวบิน

แต่ภายหลังโควิด-19 ระบาด การขนส่งทางอากาศโดยเฉพาะการเดินทางระหว่างประเทศ ได้รับผลกระทบทางตรง เนื่องจากผู้โดยสารหายไปกว่าครึ่ง ส่งผลให้บุคลากรที่ทำงานในอุตสาหกรรมการบินเกือบ 3 ล้านคน ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น นักบิน แอร์โฮสเตส รวมถึงพนักงานที่ให้บริการในด้านต่าง ๆ

“องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization ICAO) หน่วยงานที่กำกับดูแลมาตรฐานการบินทุกประเภท และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association – IATA)มองว่า เมื่อประชากรทั่วโลกได้รับวัคซีนโควิด-19 จะทำให้ความเชื่อมั่นในการเดินทางระหว่างประเทศกลับมา ส่วนปัจจัยที่จะทำให้คนมั่นใจและกลับมาเดินทางด้วยสายการบินอีกครั้ง คือ มาตรฐานทางด้านสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งอาจดูได้จากจำนวนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลง”

นอกจากนี้ ทั้ง ICAO และ IATA ยังได้หาแนวทางสร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสาร ด้วยแนวคิดการทำพาสปอร์ตโควิด เพื่อใช้แสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองควบคู่กับพาสปอร์ตหลัก ซึ่งภายในพาสปอร์ตดังกล่าวจะมีบันทึกการตรวจสุขภาพของผู้โดยสาร และคาดว่าแนวคิดดังกล่าวอาจเกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2564 ที่สำคัญสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเอาจริงเอาจังจากทุกประเทศทั่วโลก

ด้านสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ออกมาตอกย้ำว่า หากไทยเริ่มมีการใช้วัคโควิด-19 ในปี 2564 จะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมการบิน และหากคนทั่วโลกได้รับวัคซีนอย่างแพร่หลายแล้ว จะทำให้ในปี 2565 การเดินทางด้วยสายการบินจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

“น.ต.ดร.วัฒนา” อธิบายว่า ไทยได้เปรียบในเรื่องของการรับมือการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยการจัดลำดับจากสถาบันโลวี (Lowy Institute) ประเทศออสเตรเลีย จัดให้ไทยเป็นอันดับที่ 4 จากทั้งหมด 98 ประเทศ ที่รับมือการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้ดี

“เชื่อว่าหลังจากประเทศต่าง ๆ อนุญาตให้มีการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องอยากมาเมืองไทย เพราะบ้านเรามีศักยภาพหลายเรื่อง อาทิ ความพร้อมของบุคลากรทางด้านการแพทย์ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ผู้คนเป็นมิตร มีวัฒนธรรมที่โดดเด่น เป็นต้น”

CADT ของ DPU ได้เตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษา โดยนำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการขนส่งทางอากาศในอนาคตมาปรับหลักสูตร รวมถึงสร้างองค์ความรู้ผ่านการอบรม ให้นักศึกษาสามารถปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

“สาขาการเรียนของ CADT มี 2 สาขาได้แก่ สาขาธุรกิจการบิน ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่ที่มาเรียนมีความฝันอยากจะเป็นเจ้าหน้าที่ให้บริการในท่าอากาศยาน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน รวมถึงพนักงานบริการภาคพื้น ซึ่งจะเน้นการให้บริการเป็นหลัก ส่วนสาขาการจัดการเทคโนโลยีการบิน เป็นสาขาที่นักศึกษาตั้งใจมาเรียน เพื่อทำอาชีพพนักงานอำนวยการบิน ซึ่งเป็นอาชีพที่มี license สามารถไปทำงานที่ต่างประเทศได้ หรือจะไปศึกษาต่อยอดประกอบอาชีพเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศหรือนักบินได้เช่นเดียวกัน”

ทั้งนี้ หลักสูตรของ CADT ยังสอดรับกับนโยบายของมหาวิทยาลัย ที่เน้นปลูกฝังทักษะความเป็นผู้ประกอบการให้นักศึกษาสามารถปรับตัวให้อยู่ได้ทุกการเปลี่ยนแปลง

“จากการติดตามนักศึกษาที่จบไปรุ่นแรกในปีการศึกษา 2563 พบว่าส่วนใหญ่ไปทำธุรกิจส่วนตัว และมีบางส่วนทำงานอยู่ในท่าอากาศยาน ซึ่งถือว่านักศึกษาปรับตัวได้ดีต่อสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ในส่วนของนักศึกษาหลายคนยังรอโอกาสในการทำงานในสายการบิน หลังสถานการณ์ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง”

นอกจากหลักสูตรปริญญาตรีแล้ว DPU ยังมีสถาบันการบิน (DPU Aviation Academy) หรือ DAA ซึ่งเป็นศูนย์อบรมทางด้านการบินแบบครบวงจรสำหรับนักศึกษา และบุคคลทั่วไป โดยในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้จัดหลักสูตรอบรมออนไลน์ให้กับบุคลากรการบินที่รองาน เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆเกี่ยวกับสายธุรกิจการบิน

“เรามีหลักสูตรนักบินส่วนบุคคล (PPL) มีเครื่องช่วยฝึกบินจำลอง (flight simulator) ที่ทันสมัยและเหมือนขับเครื่องบินจริง และ CADT เป็นหนึ่งในไม่กี่สถาบันที่ได้รับรองจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) Thailand Professional Qualification Institute (Public Organization) TPQI หรือ สคช. ให้จัดทดสอบนักศึกษา เพื่อรับประกาศนียบัตรรับรองว่าเป็นผู้มีความรู้วิชาชีพด้านสาขาการต้อนรับบนเครื่องบิน”

ที่สำคัญคือเราเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินที่ได้รับการรับรองจาก IATA โดยเริ่มจัดอบรมตั้งแต่ปี 2559 ใน 4 หลักสูตร คือ 1. หลักสูตรพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 2. หลักสูตรการปฏิบัติงานในท่าอากาศยาน 3. หลักสูตรด้านนิรภัยการบิน 4. หลักสูตรการสร้างความตระหนักในการรักษาความปลอดภัยด้านการบิน

“น.ต.ดร.วัฒนา” บอกว่า อยากให้ DPU เป็นศูนย์รวมทุกอย่างด้านธุรกิจการบิน (one stop service) เพราะเชื่อมั่นว่าสามารถเป็นอันดับ 1 ของประเทศได้ เพราะมีความพร้อมด้านการบินด้วยอุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัย ฝึกปฏิบัติจริง ด้วยเครื่องบินจริง เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรที่มาจากสายงานการบิน

“เวลานี้นักเรียนและผู้ปกครองอาจขาดความเชื่อมั่นในการตัดสินใจเรียนด้านการบิน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออาชีพทางด้านนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ ผมเชื่อว่าการเดินทางทางอากาศจะกลับมาเป็นที่นิยมเหมือนเดิม เนื่องจากในห่วงโซ่ธุรกิจต้องมีการติดต่อการค้าระหว่างประเทศ มีการท่องเที่ยวรวมถึงการทูตต่าง ๆ ที่สำคัญสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้ทั่วโลกเตรียมตัวตั้งรับได้ดีขึ้น ยิ่งเมื่อมีการฉีดวัคซีนป้องกันเกิดขึ้น โควิด-19 ก็จะกลายเป็นตำนานเหมือนโรคติดต่ออื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต”

เพื่อสร้างความมั่นใจในการประกอบอาชีพ ทางมหาวิทยาลัยได้เตรียมหลักสูตรอบรมเพื่อสอบใบประกอบวิชาชีพด้านการบิน ที่จำเป็นสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่เรียนจบจาก CADT ในโครงการ CADT ++ (CADT พลัส พลัส) เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาเป็นบุคลากรที่มีความพร้อมสู่สายงานด้านการบิน

และปีนี้ DPU มีโครงการให้ทุนสร้างฝันเด็กการบิน ช่วยส่งเสริมให้เด็กได้รับการศึกษาในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง โดยทุนมีมูลค่ารวมกว่า 65,000 บาท (รวม iPad + Apple Pencil) ที่นักศึกษาจะได้รับเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์การศึกษายุคใหม่ด้วย