“ฮาร์คเนส” แนวทางการเรียนรู้นอกกรอบ เปิดประตูสู่การคิดวิเคราะห์

Harkness แนวทางการเรียนรู้นอกกรอบที่เปิดประตูสู่การคิดวิเคราะห์ ที่มีครูมีหน้าที่เพียงกำกับดูแลและมีส่วนร่วมในการอภิปรายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เมื่อพูดถึงการเรียนการสอนในโรงเรียน ภาพที่คุ้นตาคือห้องเรียนที่มีนักเรียนพร้อมตำราเรียนตรงหน้า นั่งตาแป๋วฟังคุณครูสอนบทเรียนอยู่หน้าชั้น บางครั้งครูจะเปิดโอกาสให้ซักถาม แต่ปัจจัยทางวัฒนธรรมไทย ผู้น้อยมักจะเป็นผู้รับฟัง อาจมีการซักถามแต่ไม่โต้แย้ง ความรู้ที่ถ่ายทอดมาจึงเป็นแบบเบ็ดเสร็จ กระบวนการเรียนรู้จึงมักจะจบลงที่การถ่ายทอดของครู จึงกล่าวได้ว่าเป็นแนวทางการเรียนการสอนที่เน้นทักษะ ความรู้ และสามารถของผู้เป็นครูในการถ่ายทอดความรู้เป็นหลัก

แต่การเรียนที่ได้ประสิทธิผลต้องมาพร้อมกับทักษะการคิดวิเคราะห์ ต่อยอดออกไปจากสิ่งที่ได้รับฟัง และขยายขอบเขตของการเรียนรู้ออกไปให้กว้างไกลยิ่งขึ้น ซึ่งทักษะนี้มักไม่ค่อยได้รับการปลูกฝังและพัฒนาตั้งแต่เด็ก หากไปเริ่มพัฒนาตอนเริ่มต้นชีวิตการทำงาน อาจช้าไปเสียแล้ว

ปัจจุบันบางโรงเรียนมีการนำวิธีการเรียนรู้ที่เรียกว่า ฮาร์คเนส (Harkness) มาใช้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เน้นไปที่การสร้างเสริมทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวผู้เรียนเอง เป็นการเรียนรู้ที่มีนักเรียนเป็นหัวใจหลักที่กำหนดทิศทาง ฝึกทักษะการฟัง คิดวิเคราะห์ การโต้แย้งอย่างมีเหตุผล และการต่อยอดความคิดไปสู่สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งเป็นบรรยากาศและผลลัพธ์ที่มักหาไม่ได้จากห้องเรียนปกติ

ที่มาของ Harkness

Harkness เป็นแนวทางการเรียนรู้ที่มีมานานกว่าร้อยปี โดยการพัฒนาขึ้นของฟิลลิปส์ เอ็กซีเตอร์ อะคาเดมี (Phillips Exeter Academy) โรงเรียนมัธยมเอกชนชั้นนำที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ที่ได้แรงบันดาลใจจากวิธีการสอนที่เรียกว่า “การตั้งคำถามแบบโสกราตีส (Socratic questioning)” ซึ่งเป็นวิธีการสอนในห้องเรียนที่ครูจะถามคำถามปลายเปิดที่ต้องใช้ความคิดวิเคราะห์ และการใช้เหตุผลเชิงลึกเพื่อให้นักเรียนได้คิดและฝึกตอบคำถาม

ความแตกต่างของสองวิธีการนี้คือ วิธีตั้งคำถามแบบโสกราตีสมีครูผู้สอนควบคุมและกำหนดทิศทางตลอดการสนทนา ในขณะที่ Harkness ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางที่แท้จริง (student-led conversation)

Harkness ให้นักเรียนนั่งอยู่รอบโต๊ะวงรี และอภิปรายความรู้ต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วม การเปิดใจกว้าง โดยที่มีการแทรกแซงของครูเป็นครั้งคราวหรือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยจุดประสงค์ของ Harkness คือ การส่งเสริมให้นักเรียนได้รู้จักวิธีการตั้งคำถาม การให้คำตอบ และการประเมินความคิด

ทั้งนี้ การจะทำให้ Harkness บรรลุเป้าหมายได้ นักเรียนต้องได้ทำการศึกษาด้วยตนเองมาก่อน และครูจะเข้าแทรกแซงการอภิปรายแลกเปลี่ยนของเด็ก ๆ ให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ (หรือไม่แทรกแซงเลย) โดยครูทำหน้าที่เพียงดูแลกระบวนการในการอภิปรายของเด็กเพื่อให้เป็นไปโดยสร้างสรรค์เท่านั้น

เวลลิงตันฯ ใช้ Harkness เต็มรูปแบบ

คริสโตเฟอร์ นิโคลส์

“คริสโตเฟอร์ นิโคลส์” ครูใหญ่และผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่นำวิธี Harkness มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ เล่าว่า Harkness เป็นการนำวิธีการเชิงวิทยาศาสตร์มาใช้กับการคิดวิเคราะห์และหาเหตุผล โดยให้เด็กได้พิจารณาหลักฐานที่ปราศจากอคติใด ๆ ร่วมกัน และหาข้อสรุปที่มีเหตุผลจากหลักฐานที่มีอยู่ตรงหน้า ไม่ใช่การตัดสินจากความเห็นอื่น ๆ ที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว

จากนั้นจึงนำข้อสรุปที่ได้มาอภิปรายกัน การที่นักเรียนได้เรียนรู้จากการกำหนดทิศทางเอง ได้นำเสนอแนวความคิดและข้อสรุปที่มาจากตัวเด็กเอง เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมาก ๆ ในการทำความเข้าใจบทเรียนอย่างลึกซึ้ง

ห้องเรียนสำหรับคลาส Harkness จะมีโต๊ะรูปวงรีขนาดใหญ่อยู่กลางห้อง นักเรียนกลุ่มเล็กราว 8- 12 คนจะนั่งรอบโต๊ะโดยไม่มีใครนั่งอยู่ในตำแหน่งประธาน และไม่มีจัดลำดับของการสนทนา ทุกอย่างลื่นไหลอย่างเป็นธรรมชาติ ท่ามกลางบรรยากาศที่สร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นการแลกเปลี่ยนความคิด

“การเรียนแบบนี้ไม่ใช่นักเรียนที่เสียงดังที่สุด หรือเป็นนักพูดที่เก่งที่สุดได้คะแนนมากกว่า แต่เป็นนักเรียนที่เตรียมความพร้อมมาอย่างดี และสามารถสื่อสารถ่ายทอดความคิดออกมาได้อย่างมั่นใจและมีเหตุผล”

การเรียนรู้แบบ Harkness สามารถเริ่มได้ตั้งแต่เด็กยังอายุน้อย โดยที่เวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ เริ่มให้นักเรียนได้เข้าสู่กระบวนการเรียนนี้ตั้งแต่ year 5 เป็นต้นไป และเห็นได้ว่าเด็กพัฒนาและเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้ในชั้นสูงขึ้นต่อไปของเด็ก และเรามีการจัดทำห้องสำหรับคลาส Harkness ไว้เป็นพิเศษในแต่ละอาคารเรียน

Harkness สำคัญสำหรับผู้นำอย่างไร

Harkness ช่วยปลูกฝังประสบการณ์และทักษะในด้าน critical thinking หรือการคิดเชิงวิพากษ์ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญสำหรับความคิดและการตัดสินใจ ซึ่งผู้บริหารที่ดีนั้น สามารถมองสิ่งต่าง ๆ รอบด้านและเข้าใจถึงผลกระทบของการตัดสินใจต่อธุรกิจ และเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการตัดสินใจใด ๆ นั้นสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรตลอดถึงภาระรับผิดชอบต่อผลลัพธ์จากการตัดสินใจนั้น ๆ

ผู้ใหญ่วัยทำงานโดยเฉพาะในยุคที่ต้องใช้ทักษะแห่งอนาคตต่างเข้าใจดีว่า การประชุมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพนั้นต้องใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ และการอธิบายเหตุผลมากขนาดไหน ความสำเร็จและความล้มเหลวมีเพียงเส้นบาง ๆ ของความสามารถในการแสดงเหตุผลและจุดยืน

Harkness ไม่ใช่วิธีเรียนรู้ที่เน้นการโต้เถียง แต่คือการดึงเอาทักษะของการเตรียมข้อมูล ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอย่างทั่วถึงและรอบด้าน และพัฒนาวิธีการโต้งแย้งและแสดงเหตุผล นักเรียนที่ผ่านการเรียนรู้แบบ Harkness จึงเป็นเยาวชนที่ใฝ่รู้ มีทักษะการคิดวิเคราะห์และมีความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงสามารถถ่ายทอดความคิดออกมาได้เป็นอย่างดี