ศธ. ตั้งเป้าฉีดไฟเซอร์นักเรียนครบ 2 เข็ม ช้าสุดไม่เกิน พ.ย.- ธ.ค. นี้

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration//File Photo/File Photo

กระทรวงศึกษาธิการตั้งเป้าฉีดวัคซีนไฟเซอร์นักเรียนครบ 2 เข็ม ช้าสุดไม่เกินพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 ด้านกรมอนามัยย้ำผลข้างเคียง พบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบน้อยมาก ส่วนการฉีดซิโนฟาร์มในเด็กเป็นเพียงการศึกษาวิจัยเท่านั้น  

วันที่ 21 กันยายน 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวในรายการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.) พบสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนให้นักเรียน อายุ 12  ปีขึ้นไปว่า จะเริ่มฉีดวัคซีนให้นักเรียนได้วันที่ 4 ตุลาคม ขณะที่ครูฉีดไปแล้วกว่า 70% และจะครบ 100% ในช่วงเวลาเดียวกัน 


ทั้งนี้ สพฐ.ได้เตรียมการเป็นระยะ ตอนนี้ได้สื่อสารให้โรงเรียนประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีน เพื่อประกอบการตัดสินใจในการยื่นความประสงค์ยินยอม หรือไม่ยินยอมให้บุตรหลานฉีดวัคซีนแล้ว 

ซึ่งโรงเรียนก็จะรวบรวมรายชื่อที่สมัครใจแจ้งความจำนงไปที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ก่อนแจ้งไปที่ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.)และส่งไปสาธารณสุขจังหวัด เพื่อนำจำนวนนักเรียน ขอโควตาวัคซีน เพื่อจัดสรรต่อไป โดยจะใช้โรงเรียนเป็นฐานในการฉีด ทั้งนี้ เมื่อฉีดเข็ม1 แล้วจะเว้น 3 สัปดาห์  จึงจะฉีดเข็ม 2 หากนักเรียนและครูได้รับการฉีดวัคซีนกว่า 80% ก็จะสามารถเปิดเรียนได้ ส่วนการเฝ้าระวังหลังการฉีดวัคซีน สพท. จะร่วมกับสธ. เผ้าระวังดูแลนักเรียนกรณีมีอาการไม่พึงประสงค์ หากมีอาการแพ้ ก็จะมีการส่งรักษา หรือดูเรื่องเยียวยาว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง

“เรามีความคาดหวังว่าอยากเห็นนักเรียนของเราทั้งหมดทั่วประเทศได้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ภายในเดือนตุลาคม หรืออย่างช้าภายในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม จากนั้นเราจึงจะเปิดเรียนแบบออนไซต์ ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งตนคิดว่าผู้บริหารทุกคนก็น่าจะมีความคาดหวังเช่นเดียวกัน คือ อยากเห็นโรงเรียนได้เปิดเรียนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ 

ทั้งนี้แม้จะเปิดเรียนไม่ได้หมายความว่าเด็กทุกคนต้องมาโรงเรียนถ้าผู้ปกครองยังไม่มั่นใจก็อนุโลมให้เรียนออนไลน์ที่บ้านได้ อีกทั้งการมาเรียนก็ไม่ได้มีรูปแบบเดียว ขึ้นอยู่กับทางโรงเรียนกำหนด เช่น สลับวันมาเรียน ตรงนี้เป็นการดำเนินการเพื่อให้โรงเรียนกลับมาเรียนออนไซต์โดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตามนโยบายรัฐมนตรีก็หวังจะมีการเปิดออนไซต์ให้ได้ 100% เพื่อให้นักเรียนได้เรียนอย่างมีความสุข ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี จะมีการออกแบบเปิดตามความเหมาะสม สลับการเปิด ดูเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก”

ทำไมต้องสำรวจรายชื่อนักเรียน?

นายอัมพร กล่าวต่อว่า สืบเนื่องจากวัคซีนที่จะให้กับนักเรียน มีอายุการเก็บได้ไม่นาน ดังนั้นจำเป็นต้องรู้ว่านักเรียนที่มีความประสงค์จะฉีดแต่ละโรงเรียน แต่ละวันจะฉีดได้เท่าไหร่ จึงจะสามารถจัดส่งวัคซีนได้อย่างเป็นระบบไม่มีผลกระทบการจัดเก็บ ที่สำคัญ ที่ให้สำรวจเป็นรายโรงเรียนก็เพื่อดูปริมาณการฉีดวัคซีนของแต่ละโรงเรียน เพื่อเตรียมแผนเปิดโรงเรียน จึงขอความร่วมมือครู ผู้ปกครอง ให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน

พบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบน้อยมาก 

ด้าน นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การนำวัคซีนเข้ามาใช้ในเด็กของประเทศไทย ขณะนี้ทั่วโลกอนุมัติให้ใช้วัคซีนชนิด mRNA และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยอนุมัติให้ฉีดได้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป จะเป็นวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งจะเข้ามาในประเทศไทยช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ และเริ่มฉีดต้นเดือนตุลาคม 

ที่ผ่านมาได้เริ่มฉีดไฟเซอร์แก่เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงหรือโรคประจำตัวไปแล้วเพราะเด็กกลุ่มนี้หากติดเชื้อโควิดจะมีความรุนแรงมากกว่าเด็กปกติ โดยพบว่ากลุ่มเด็ก อายุ 12-19 ปี มีอัตราการติดเชื้อร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ใหญ่ และเสียชีวิต ร้อยละ 0.03 แม้จะเป็นจำนวนน้อย แต่ส่วนใหญ่เด็กที่เสียชีวิต จะมีโรคประจำตัวด้วย จึงจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับเด็กที่มีโรคประจำตัวให้ได้มากที่สุด

ส่วนเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนคณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งอย. และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ เห็นพ้องต้องกันว่าวัคซีนค่อนข้างปลอดภัยและมีความจำเป็นต้องฉีดให้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีผู้ปกครองบางส่วนที่มีความกังวลใจอยู่บ้าง เพราะมีการรายงานว่า พบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบภายหลังฉีด ซึ่งขอเรียนว่าส่วนใหญ่พบในเด็กผู้ชาย และพบในโดส ที่ 2 มากกว่าโดสที่ 1 ถือว่าพบน้อยมาก จากข้อมูลที่ออกมาพบว่า อายุ 12-15 ปี พบเพียง 20.9 รายต่อการฉีด 1 ล้านโดส อายุ 16-17 ปี พบ 34 รายต่อ 1 ล้านโดส ซึ่งข้อมูลนี้ เป็นอาการไม่รุนแรง สามารถรักษาหายได้ ทั่วโลกยังเจอน้อยอยู่ สำหรับประเทศไทยพบเพียง 1 คน เท่านั้นและมีอาการไม่รุนแรงมาก สามารถรักษาหายได้ ดังนั้นเมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่เด็กจะได้รับจากการฉีดวัคซีน มีมากกว่าไม่รับวัคซีน ในอนาคตก็จะมีผลวิจัยเข้ามาเพิ่มเติม ก็จะนำมาพิจารณาในโอกาสต่อไป 

ฉีดซิโนฟาร์มในเด็กเป็นเพียงการศึกษาวิจัย 

นพ.สราวุฒิ กล่าวต่อว่า หลายคนถามว่ามีวัคซีนตัวอื่นหรือไม่ที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย ณ ขณะนี้ในต่างประเทศ เช่น จีน อาหรับอามิเรต มีการใช้วัคซีนเชื้อตาย ทั้งซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ซึ่งอนุมัติให้ใช้บางประเทศ ส่วนของประเทศไทยขณะนี้มีการฉีดซิโนฟาร์มให้กับเด็กนักเรียนบางส่วนโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นขั้นตอนการศึกษาวิจัย ขณะนี้ อย. ไทย ยังไม่อนุมัติใช้ซิโนฟาร์มในเด็ก เพราะยังไม่มีผลการทดลองระยะ3 ที่แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยในเด็ก จึงต้องรอข้อมูลส่วนนี้ก่อน ถึงจะนำมาใช้กับเด็กทั่วไปได้

ทั้งนี้มีผู้ปกครองบางส่วนถามว่าเด็กอายุ 18 ปี ที่รับวัคซีนเข็มที่ 1 จากหน่วยฉีดนอื่นๆ แล้วจะมารับวัคซีนเข็ม 2 ที่จะมีการฉีดในโรงเรียนได้หรือไม่นั้น ต้องบอกว่าฉีดเข็มที่ 1 ที่จุดใดก็จะได้รับหมายจากจุดฉีดนั้น ซึ่งการฉีดวัคซีนในโรงเรียน จะเป็นข้อมูลที่โรงเรียนรวบรวมและนัดหมายการฉีดเองเป็นคนละส่วนกัน ส่วนผู้ปกครองในพื้นที่สีแดงเข้มและสีแดง ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ขอให้ไปติดต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อขอรับวัคซีน