โรงเรียนเอกชนเจ๊ง 300 แห่ง รายใหญ่รุกซื้อสาขาบุกออนไลน์

พิษโควิดทำโรงเรียนเอกชนล้มระนาว ยื่นหนังสือขอปิดกิจการ 300 แห่ง สช.ชี้สถาบันกวดวิชา-สอนภาษา-เนิร์สเซอรี่อีก 1,000 แห่งโคม่า คาดทยอยคืนใบอนุญาตอีกเป็นระลอก ที่เหลือพลิกเกมสู้สุดฤทธิ์ โรงเรียนกวดวิชา OnDemand ปั้น business model ไล่ซื้อสาขากวดวิชารายเล็ก ดึงตัวติวเตอร์ ขยายเครือข่ายรุกธุรกิจกวดวิชาออนไลน์เต็มรูปแบบ

เอกชนเข้าคิวแจ้งเลิกกิจการ

นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้โรงเรียนเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบกว่า 300 แห่ง ได้ยื่นหนังสือถึง สช.เพื่อขอ “เลิกกิจการ” และจากการตรวจสอบเบื้องต้นมีอีกราว 1,000 แห่ง ที่จะทยอยส่งหนังสือแจ้งขอเลิกกิจการเข้ามาต่อเนื่องอีก

ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนเอกชนนอกระบบ เช่น สถาบันกวดวิชา โรงเรียนสอนวิชาชีพ โรงเรียนสอนภาษา รวมทั้งเนิร์สเซอรี่ ฯลฯ โดยเฉพาะโรงเรียนที่เช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า เช่าอาคารสำนักงานเป็นสถานที่ทำการเรียนการสอน คาดการณ์ว่าจากปัจจุบันที่มีโรงเรียนเอกชนในระบบรวม 5,000 แห่ง จะมีจำนวนไม่เกิน 3,000 แห่งที่ยังดำเนินกิจการต่อไปได้ จะพากันทยอยเลิกกิจการ

เจอวิกฤตซ้ำซ้อน

ปัญหาใหญ่ของกลุ่มโรงเรียนเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่เศรษฐกิจชะลอตัว บวกกับจำนวนประชากรเกิดใหม่ของไทยลดน้อยลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับเผชิญวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ที่กลายเป็น “ตัวเร่ง” ให้ธุรกิจการศึกษาประสบปัญหารุนแรงจนต้องปิดกิจการ

ที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนนอกระบบพยายามหาทางแก้ไขปัญหา-ปรับตัวให้อยู่รอดในภาวะวิกฤตแล้ว แต่เนื่องจากสภาพปัญหามีหลายด้าน และแต่ละโรงเรียนมีปัญหาแตกต่างกัน การแก้ไขจึงทำได้ยาก เบื้องต้น สช.และกระทรวงศึกษาธิการได้หารือร่วมกันถึงแนวทางการช่วยเหลือธุรกิจการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาหลากหลายธุรกิจช่วงที่ผ่านมายังไม่ครอบคลุมถึงสถาบันการศึกษาเหล่านี้

“ในเชิงธุรกิจถือว่าโควิด-19 ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจรวมทั้งธุรกิจการศึกษาได้รับผลกระทบอย่างหนัก ถือเป็นบทเรียนสำคัญว่าเมื่อลงทุนจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมาแล้ว จะมุ่งหวังกำไรเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เมื่อเกิดวิกฤตก็ต้องปรับตัวหาวิธีการว่าเราจะอยู่ในภาวะแบบนี้ได้อย่างไร

ต้องเรียกว่าโควิด-19 เขามา reset ธุรกิจการศึกษาไทยก็ว่าได้ เราได้เห็นภาพสะท้อนของปัญหาใหม่ ๆ ที่ สช.ไม่เคยเจอ อย่างประเด็นที่เกี่ยวข้องทางกฎหมาย และเรื่องเงิน โดยเฉพาะโรงเรียนอีก 1,400 แห่งที่ทยอยเข้าคิวขอยกเลิกกิจการ” นายอรรถพลกล่าว

OnDemand กวาดสาขาคู่แข่ง

ด้านแหล่งข่าวในวงการธุรกิจโรงเรียนนอกระบบ เปิดเผยว่า แม้โรงเรียนเอกชนบางส่วนต้องเลิกกิจการหลังการระบาดของโควิด-19 ที่จะอยู่กับประชากรโลกไปอีกอย่างน้อย 3 ปี แต่มีจำนวนไม่น้อยที่พยายามปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ อย่างสถาบันกวดวิชาชั้นนำของประเทศหลายแห่งอยู่ระหว่างการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์โดยเฉพาะ แม้ก่อนหน้านี้หลายสถาบันจะมีจุดขาย “การสอนสด” ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของสถาบันกวดวิชาก็ตาม

อย่างเช่น สถาบันกวดวิชา OnDemand สถาบันกวดวิชาในระดับท็อปไฟฟ์ของไทย อยู่ระหว่างพัฒนารูปแบบการสอนผ่านออนไลน์ ภายใต้การบริหารโดย OnDemand ร่วมกับพันธมิตร โดยดึงสถาบันกวดวิชารายเล็กทั้งที่ปิดกิจการไปแล้ว และเตรียมที่จะปิดกิจการมาเป็นพันธมิตร ยื่นข้อเสนอขอซื้อสาขาต่อ หรือกรณีที่สนใจร่วมกันลงทุนก็สามารถร่วมทุนได้ จะเปิดการเรียนการสอนภายใต้แบรนด์ใหม่ โดย OnDemand จะชูจุดแข็งคือ จำนวนฐานลูกค้าที่มีจำนวนมาก

เปิดศึกแย่งติวเตอร์ดึงเด็กเรียน

นอกจากนี้ OnDemand ยังได้เจรจาดึงติวเตอร์จากหลายสถาบันให้เข้ามาร่วมทีมเพื่อดึงความสนใจของนักเรียนให้เข้ามาสมัครเรียนมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีติวเตอร์มากอยู่แล้ว และส่วนใหญ่เป็นติวเตอร์รุ่นใหม่ เช่น ด้านคณิตศาสตร์ ครูเคน (เคน อรรถเวชกุล) ครูพี่ป่าน (มคธ ทิพย์ชัยเชษฐา) ด้านฟิสิกส์ อย่างครูพี่โหน่ง สุธี อัสววิมล ในฐานะผู้คิดค้นระบบการเรียนแบบ OnDemand และครูพี่เต้ย ดร.ไพฑูรย์ คงเสรีภาพ เป็นต้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในมุมมองของผู้ที่อยู่ในแวดวงโรงเรียนกวดวิชา ถือเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้ง OnDemand มีข้อจำกัดเรื่องสาขาที่เคยมีอยู่เป็นจำนวนมาก ได้ยกเลิกสัญญาเช่าไป

ประกอบกับวิกฤตโควิด-19 เข้ามาเป็นปัจจัยที่ทำให้เห็นภาพปัญหาของธุรกิจการศึกษาไม่ต่างกับธุรกิจอื่น ๆ ที่สำคัญ OnDemand ปรับตัวตามความต้องการของผู้ปกครอง ที่ไม่ต้องการให้เด็กเข้าเรียน onsite จนกว่าสถานการณ์จะกลับมาปกติ แต่ต้องไม่ลือว่าการเรียนออนไลน์เป็นการเรียนแบบเสริม เป็นทางเลือก ไม่ใช่แนวทางหลัก จากนี้โรงเรียนต้องมีแนวทางสำรองด้วยว่าในกรณีที่เกิดวิกฤตจะทำอย่างไรให้อยู่รอดในธุรกิจนี้

4 ขั้นตอนยกเลิกโรงเรียนเอกชน

ขณะที่แหล่งข่าวจาก สช.เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ขั้นตอนในการยกเลิกกิจการโรงเรียนผู้ประกอบการต้องดำเนินการ 4 ขั้นตอน คือ 1) โรงเรียนยื่นคำร้องพร้อมเอกสารประกอบต่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน โดยชำระค่าธรรมเนียม 100 บาท 2) เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทั้งหมด รวมเอกสารที่โรงเรียนต้องส่งคืนตามพระราชบัญญัติเอกชน พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)

3) คณะกรรมการบริหารหรือกรรมการควบคุมโรงเรียนในระบบ แต่งตั้งผู้ชำระบัญชี เพื่อชำระบัญชีของโรงเรียนในระบบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการชำระบัญชี ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด ซึ่งนำมาบังคับใช้โดยอนุโลม ในระหว่างการชำระบัญชี เมื่อได้ชำระบัญชีแล้ว หากมีทรัพย์สินที่เหลืออยู่ให้คืนแก่ผู้รับใบอนุญาต 4) เจ้าหน้าที่นำเสนอเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน และออกเลขที่ใบอนุญาต

เดือนเดียวเลิกกิจการกว่า 300 แห่ง

มีรายงานข่าวจากการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ครั้งล่าสุด (เดือนสิงหาคม) ปรากฏในส่วนของข้อมูลจำนวนโรงเรียนเอกชนระบุว่า 1) โรงเรียนในระบบ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 3,986 โรง เลิกกิจการ 43 โรง, ประเภทสามัญศึกษา 3,759 โรง เลิกกิจการ 40 โรง, ประเภทนานาชาติ 227 โรง เลิกกิจการ 3 โรง กับ


2) โรงเรียนนอกระบบ มีจำนวน 7,789 โรง เลิกกิจการ 300 โรง, โรงเรียนศาสนา เลิกกิจการ 3 โรง, ประเภทศิลปะ-กีฬา 588 โรง เลิกกิจการ 29 โรง, ประเภทวิชาชีพ 2,135 โรง เลิกกิจการ 196 โรง, ประเภทกวดวิชา 1,966 โรง เลิกกิจการ 66 โรง, ประเภทสร้างเสริมทักษะชีวิต เลิกกิจการ 5 โรง และสถาบันศึกษาปอเนาะ เลิกกิจการ 1 โรง