ม.กรุงเทพ สร้างแพลตฟอร์ม Be You LIFE ปั้นนักผลิตคอนเทนต์ยุคนิวนอร์มอล

ม.กรุงเทพ ตั้งเป้าพัฒนาแพลตฟอร์ม Be You LIFE เป็นแหล่งรวมคนเก่งด้านคอนเทนต์ ตอบโจทย์ตลาดงานยุคนิวนอร์มอล เรียนรู้ผ่านการทำงานจริง ได้รายได้จริง

วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (Bangkok University : BU) ได้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นพื้นที่พัฒนาทักษะด้านการผลิตคอนเทนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาชีพที่เป็นที่นิยมและสามารถสร้างรายได้ได้ในยุคดิจิทัล โดยแบ่งแพลตฟอร์มออกเป็น 2 ส่วนคือ เว็บไซต์ Be You LIFE และเฟซบุ๊กเฟจ Be You LIFE

ดร.พีรยา หาญพงศ์พันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในฐานะผู้ริเริ่มแพลตฟอร์มได้กล่าวถึงแนวคิดในการจัดทำแพลตฟอร์มนี้ว่า ในส่วนเว็บไซต์ประกอบไปด้วย 4 เซ็กชั่น คือ L.I.F.E.

  • L ย่อมาจาก live and learn เรียนรู้ชีวิตจากการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยผ่านการสร้างผลงาน โครงการ และกิจกรรมที่น่าสนใจต่าง ๆ
  • I ย่อมาจาก ignite เพราะทุกคนมีแสงในตัวเองที่จะจุดประกายแห่งความเชื่อและแนวคิดดี ๆ ให้สว่างไสวเป็นวงกว้าง
  • F ย่อมาจาก focus การค้นหาและรู้จักตัวเองย่อมมาจากความมุ่งมั่น ทุ่มเท และการมี passion ที่แน่วแน่ อันจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นต่อไป
  • E ย่อมาจาก expert บอกเล่าเรื่องราวที่ผ่านการฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ กระทั่งกลายเป็นแบบอย่างและพลังชีวิตให้แก่ผู้อื่น

ส่วนเฟซบุ๊กเพจ Be You LIFE ไว้สำหรับกระจายเนื้อหาจากเว็บไซต์ และคาดหวังให้เป็นคอมมิวนิตี้สร้างสรรค์สำหรับแชร์เรื่องราวดี ๆ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพไปสู่เพื่อนนักศึกษาและสาธารณชน

ดร.พีรยา หาญพงศ์พันธุ์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

“เป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้วที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้สร้างสรรค์เว็บไซต์และเฟซบุ๊กเฟจ Be You LIFE เพื่อเป็นพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ และความสามารถของนักศึกษา และเพื่อกระตุ้นผู้อ่านทั้งที่เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่สนใจ ให้มีความคิดสร้างสรรค์ ปลุกจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับการสร้างเสริมทักษะชีวิตที่จำเป็นต่อศตวรรษที่ 21 ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาในหลากหลายแง่มุม จนกลายเป็นคอนเทนต์แพลตฟอร์มที่ชวนติดตาม”

ดร.พีรยากล่าวด้วยว่า ตั้งเป้าพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ให้เป็น talent pool หรือศูนย์รวมนักศึกษาผู้มีศักยภาพและความสามารถ ที่จะผลิตผลงานตอบโจทย์อุตสาหกรรมและตลาดงานในยุคนิวนอร์มอล โดยนำรูปแบบการทำงานในอุตสาหกรรมจริงมาให้นักศึกษาได้ฝึกงานและมีรายได้เสริม

“สำหรับแพลตฟอร์มนี้นักศึกษาจะได้รับการโค้ชด้านการทำคอนเทนต์จากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมงานไปจนถึงขั้นตอนการผลิตจนออกมามีคุณภาพ ทั้งการเขียน และการทำโปรดักชั่น ซึ่งนับเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดระหว่างอาจารย์กับทีมงานนักศึกษาด้วย”

มหาวิทยาลัยกรุงเทพมีแนวทางสร้างสถาบันการศึกษาที่ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ให้ความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่เป็นสถานที่ที่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทักษะชีวิต ขัดเกลาให้กลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของสังคม ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมนักศึกษาก่อนลงสนามทำงานจริง