เด็ก 1.4 ล้านคน ขาดแคลนอุปกรณ์เรียน ศธ.เร่งลดความเหลื่อมล้ำ

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

คุณหญิงกัลยา หารือสภาดิจิทัลฯ เตรียมเคลื่อนโครงการแบ่งปัน Smart Device หลังนายกฯไฟเขียวให้กระทรวงศึกษาฯ ดำเนินการร่วมกระทรวงดีอี เร่งลดเหลื่อมล้ำ พบสังกัด สพฐ. ขาดแคลน มากกว่า 1.4 ล้านคน เตรียมจัดตั้งกองทุนเพื่อความยั่งยืน

วันที่ 8 ธันวาคม 2564 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ที่เกี่ยวข้องประชุมหารือร่วมกับสภาดิจิทัลฯ เตรียมเคลื่อนโครงการจัดหา Smart Device พร้อมเดินหน้าขยายความร่วมมือทุกภาคส่วน เตรียมดึงสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม กสทช. เข้าร่วมเร่งลดความเหลื่อมล้ำ และเตรียมจัดตั้งกองทุนเพื่อความยั่งยืน

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า หลังจากเปิดตัวโครงการ Next Normal with Smart Devices ภายใต้แคมเปญนำร่อง “พี่ใหญ่ให้ยืม” ซึ่งถือเป็นการประกาศเจตนารมณ์ในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำและบรรเทาผลกระทบความเดือดร้อนจากการขาดแคลนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียนสำหรับใช้ในการเรียนออนไลน์ไปเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมานั้น

ปรากฏว่า ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคม ที่พร้อมจะให้การสนับสนุน โดยล่าสุดได้มีการหารือกับทางสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ซึ่งยินดีที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

ซึ่งทางโครงการฯ ก็จะขยายความร่วมมือไปในทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง อาทิ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นต้น

“ถ้าเราทำได้เร็ว เด็กก็มีโอกาสเร็วขึ้น อยากให้เริ่มต้นจากเครือข่ายที่เรามี ต้องขอขอบคุณสภาดิจิทัลฯ ที่ยินดีสนับสนุนโครงการนี้ ซึ่งเชื่อว่าทุกหน่วยงานพร้อมให้การสนับสนุนโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนอยู่แล้ว ซึ่งก็จะมีการขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงาน หรือองค์กรอื่น ๆ ต่อไป เช่น สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม กสทช. รวมถึงระชาชนทั่วไป เป็นต้น

รวมไปถึงขณะนี้ก็ให้ทางโรงเรียนแจ้งไปยังสมาคมศิษย์เก่า สมาคมผู้ปกครองให้รับทราบถึงโครงการฯ เพื่อที่จะมาช่วยกันให้ได้มากที่สุด เป้าหมายคือเด็กทุกคนที่ขาดแคลนต้องมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ใช้ในการเรียน”

อย่างไรก็ตาม ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า การจะทำให้โครงการฯ เกิดความยั่งยืนได้นั้นจะต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ซึ่งอนาคตก็อาจจะมีการจัดสรรเป็นงบประมาณช่วยเหลือและสนับสนุนในเรื่องอุปกรณ์การเรียนให้กับนักเรียนที่ขาดแคลน และในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งอาจจะอยู่ในกองทุนพัฒนา Coding ที่คณะกรรมการ Coding แห่งชาติจะจัดตั้งขึ้นในเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้ สำหรับโครงการดังกล่าว จะดำเนินการให้การช่วยเหลือเด็กที่ขาดแคลนในเรื่องอุปกรณ์การเรียน สามารถเรียน Learn From Home ได้อย่างมีประสิทธิภาพทุกคน ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลให้กับเด็กไทย ซึ่งจากตัวเลขนักเรียนในสังกัด สพฐ. ที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน พบว่ามีจำนวนประมาณ 1,454,388 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมดประมาณ 5,500,000 คน

โดยแบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ขาดแคลนอุปกรณ์ จำนวนประมาณ 14,587 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวนประมาณ 39,801 คน และระดับประถมศึกษาจำนวนประมาณ 1,400,000 คน โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญและสั่งการมายังกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ และให้กระทรวงดิจิทัลฯ เป็นผู้สนับสนุนโครงการร่วมด้วย